บทบาทไทยกับ 'คลื่นผู้อพยพ'

บทบาทไทยกับ 'คลื่นผู้อพยพ'

ในอนาคตบางประเทศในภูมิภาคอาเซียนอาจเกิดภาวะรัฐล้มเหลว มีความไม่มีเสถียรภาพของรัฐ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม สงครามกลางเมือง เกิดคลื่นอพยพของผู้ลี้ภัย ไทยจะมีบทบาทอย่างไร?

สถานการณ์ในเมียนมาได้เข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลวแล้ว และเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอย่างแน่นอน ประเทศไทยควรเตรียมรับมือคลื่นผู้อพยพจำนวนมากตามแนวชายแดน ฝ่ายความมั่นคงไม่ควรผลักดันผู้อพยพหนีภัยสงครามกลับไปยังภูมิลำเนาที่มีความเสี่ยงภัยต่อชีวิตและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การกระทำดังกล่าวจะทำให้ความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ “ประเทศ” เสียหายในเวทีประชาคมระหว่างประเทศ และยังแสดงถึงความไม่มีมนุษยธรรม 

กองทัพไทยและผู้นำรัฐบาลไทยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้นำคณะรัฐประหารในเมียนมา ควรใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีนั้นในทางสร้างสรรค์เพื่อสร้างสันติภาพผ่านการเจรจาหารือฟื้นฟูประชาธิปไตย หยุดยั้งการเข่นฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย การมีบทบาทเชิงรุกและการบริหารความสัมพันธ์ในทางที่ถูกต้อง ย่อมส่งผลดีต่อประเทศไทย ภูมิภาคอาเซียน เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าตามแนวชายแดน รวมทั้งสามารถหยุดยั้งการพังทลายของเศรษฐกิจเมียนมาที่จะส่งกระทบต่อกลุ่มทุนไทยจำนวนไม่น้อย

ไทยและเมียนมามีมูลค่าการค้าต่อกันประมาณ 6.6-7.2 พันล้านดอลลาร์ และมีมูลค่าโครงการลงทุนในเมียนมาเป็นอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และจีน ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุน ได้แก่ ซีพีกรุ๊ป เครือปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี กลุ่ม ปตท. โดยเฉพาะ ปตท.สผ. กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ กลุ่มค้าปลีกและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะกลุ่มโอสถสภามีสัดส่วนรายได้จากตลาดเมียนมาประมาณ 10% กลุ่มสถาบันการเงินการเงิน กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาประมาณ 8% กลุ่มธุรกิจก่อสร้างและนิคมอุตสาหกรรม 

ภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงรุนแรงพร้อมกับการขาดแคลนสินค้าจำเป็นบางประเภท อาจทำให้มีความต้องการสินค้าจากฝั่งไทยมากขึ้น แต่การค้าและการส่งมอบสินค้าจะกระทำด้วยความยากลำบาก หน่วยงานทางด้านความมั่นคงจึงต้องอำนวยความสะดวกเพื่อให้การค้าและการส่งมอบสินค้าจำเป็นสามารถดำเนินต่อไปได้ใกล้เคียงภาวะปกติ

เศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัวติดลบรุนแรงในปีนี้ ระบบและกลไกทางเศรษฐกิจไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ หากไม่รีบแก้ไขและเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้ดีขึ้น เมียนมาจะอยู่ในภาวะรัฐล้มเหลวและสงครามกลางเมืองไปอีกอย่างน้อย 5-10 ปี จะมีการถอนการลงทุนออกจากเมียนมาครั้งใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มทุนตะวันตก สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าและสินค้าส่งออกของไทยไปเมียนมา ส่วนโครงการลงทุนของกลุ่มทุนไทยคงจะชะลอตัวหรือหยุดลง และบางส่วนอาจถอนการลงทุนออก

ในอนาคต บางประเทศในภูมิภาคอาเซียนอาจเกิดภาวะรัฐล้มเหลว มีความไม่มีเสถียรภาพของรัฐ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม สงครามกลางเมือง เกิดคลื่นอพยพของผู้ลี้ภัย เกิดการปกครองของรัฐที่ไร้ความเป็นธรรมและความไม่มีนิติรัฐนิติธรรม ฯลฯ อาเซียนและองค์กรสหประชาชาติควรร่วมมือกันในการสร้างเครือข่ายในภูมิภาคทั้งในระดับองค์กรของรัฐ ระดับองค์กรธุรกิจ ระดับองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคม และระดับประชาชน เพื่อก่อให้เกิดการส่งเสริม พัฒนาและปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรมและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดสันติภาพถาวรในภูมิภาคด้วยพลังของเครือข่ายภาคประชาสังคมในภูมิภาค

(คัดย่อจากเอกสารเผยแพร่เรื่อง “ไทยอาจไม่พร้อมทางเศรษฐกิจในการดูแลคลื่นผู้ลี้ภัยจากเมียนมา แนะปรับบทบาทกองทัพไทยต้องปรับบทบาทและขอความช่วยเหลือจากยูเอ็นเอชซีอาร์” เขียนเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2564 ระหว่างกิจกรรมฉายภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” อำนวยการสร้างโดยท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เป็นภาพยนตร์เพื่อสันติภาพและขันติธรรม)