คาดไทยฉีดวัคซีนประชากร 60% ไตรมาส 3 ปี 65

คาดไทยฉีดวัคซีนประชากร 60% ไตรมาส 3 ปี 65

อีไอยูคาด ประเทศเอเชียส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรจำนวนมากในปี 2565 ไทยทำได้ไตรมาส 3 ปีเดียวกัน เทียบกับอัตราประชากรฉีดครบโดสปัจจุบันที่ 11.12% ส่วนมาเลเซียเตรียมปฏิบัติกับโควิดเป็นโรคประจำถิ่นสิ้น ต.ค.

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียรายงานอ้างข้อมูลเมื่อเร็วๆ นี้จากดิอีโคโนมิค อินเทลลิเจนซ์ยูนิต (อีไอยู) วางกรอบเวลาการฉีดวัคซีนของประเทศในเอเชีย ระบุหลายประเทศตอนนี้ฉีดวัคซีนได้เร็วกว่าที่คาด แต่ส่วนใหญ่ใช้วัคซีนประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ จึงจำเป็นต้องฉีดให้ครอบคลุมประชากรจำนวนมากขึ้นเพื่อได้ภูมิคุ้มกันหมู่และจำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์) 

อ่านข่าว-ด่วน! ยอด โควิด-19 วันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 14,176 ราย ตาย 228 ราย พบ ATK อีก 2,372 ราย
 

การคาดการณ์ของอีไอยูประกอบกับการที่เอเชียใช้นโยบายไม่ยอมให้มีโควิดเท่ากับว่า ประเทศส่วนใหญ่ยังคงบังคับใช้ข้อจำกัด เช่น การเว้นระยะ ล็อกดาวน์ และปิดพรมแดน ต่อไปตลอดปี 2564-2565
 

ส่วนกรอบเวลาที่ประชากร 60% ได้รับวัคซีนครบโดสเทียบกับอัตราการฉีดในปัจจุบัน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ส.ค.) อีไอยูคาดว่า ไทยจะทำได้ในไตรมาส 3 ของปี 2565 จากอัตราการฉีดปัจจุบันที่ 11.12% ของประชากร

ตามด้วยเวียดนามที่จะทำได้ในไตรมาส 4 ของปีเดียวกัน จากอัตราการฉีดในปัจจุบันที่ 2.67% อินโดนีเซียทำได้ในไตรมาส 2 ปี 2565 ปัจจุบันฉีดประชากรครบโดสไปแล้ว 12.97%

ฟิลิปปินส์ทำได้ในไตรมาส 4 ของปี 2565 ปัจจุบันฉีดได้ 12.57% ของประชากร ลาวทำได้ในไตรมาส 4 ของปี 2567 ปัจจุบันอยู่ที่ 22.29% ที่ช้าที่สุดคือเมียนมา น่าจะฉีดวัคซีนให้ประชากร 60% ได้ครบโดสในปี 2568 หรือหลังจากนั้น

สำหรับไตรมาสปัจจุบันประเทศที่ฉีดวัคซีนได้สูงสุดในเอเชียคือ สิงคโปร์ 75.15% ของประชากร ตามด้วยมองโกเลีย 62.90% จีน 61.59% ภูฏาน 60.96% และมัลดีฟส์ 55.53%

ในกลุ่มอาเซียน ประเทศที่จะทำถึงเกณฑ์ดังกล่าวได้ถัดจากสิงคโปร์ต้องรอถึงไตรมาส 2 ของปี 2565 ได้แก่ กัมพูชา ปัจจุบันฉีดได้ 50.31% ของประชากร มาเลเซีย ปัจจุบัน 45.86% และบรูไน ปัจจุบันฉีดได้ที่ 20.17%

วานนี้ (7 ก.ย.) นายโมฮัมเหม็ด อัซมิน อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย กล่าวกับซีเอ็นบีซีว่าราวสิ้นเดือน ต.ค.นี้มาเลเซียจะเริ่มปฏิบัติกับโควิด-19 เหมือนเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งหมายถึงโรคที่เกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่หนึ่งๆ เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก มาลาเรีย

ขณะนี้มาเลเซียพยายามสกัดการติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่พุ่งสูงมาก รัฐบาลต้องล็อกดาวน์หลายรอบ เดือนก่อนธนาคารกลางมาเลเซียปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ จากขยายตัว 6%-7.5% มาอยู่ที่ 3%-4% 

แต่นายอัซมินระบุว่า เศรษฐกิจมาเลเซียยังคงฟื้นตัวได้ อานิสงส์จากความต้องการภายนอกดีขึ้น และโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังดำเนินอยู่

“วัคซีนในราคาเข้าถึงได้และฉีดได้เป็นวงกว้างถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างหลักประกันว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีย้ำ พร้อมคาดว่า ภายในสิ้นเดือน ต.ค. ประชากรวัยผู้ใหญ่กว่า 75% จะฉีดวัคซีนครบโดส จากปัจจุบันผู้ใหญ่ 88% หรือราว 63% ของประชากรทั้งหมด ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส

สัปดาห์ก่อนนายแครี จามาลุดดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า รัฐบาลจะปรับมาตรการรักษาระยะห่างบางมาตรการภายในไม่กี่สัปดาห์นี้ เพื่อเตรียมการให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด

ในวันเดียวกันที่สิงคโปร์ นางลีโอ ยี ซิน กรรมการบริหารศูนย์โรคติดเชื้อแห่งชาติ (เอ็นซีไอดี) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับเว็บไซต์สเตรทส์ไทม์สว่า การฉีดวัคซีนอย่างเดียวไม่เพียงพอรับมือโควิดสายพันธุ์เดลตา นั่นหมายความว่าสิงคโปร์จะรามือกับการต่อสู้โควิดไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประชาชนต้องสวมหน้ากาก ทำความสะอาดมือ และป้องกันตนเองต่อไปแม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ สายพันธุ์เดลตาที่ติดต่อกันได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้ามีคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ คนที่ติดเชื้อสามารถแพร่ไวรัสได้ในปริมาณมากกว่า การศึกษานานาชาติชี้ว่า สายพันธุ์เดลตาเกาะติดระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ดีกว่าจึงง่ายในการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น อีกทั้งระยะฟักตัวยังลดลง 3-5 วัน เท่ากับว่าสามารถแพร่เชื้อได้เร็วยิ่งขึ้น

หากควบคุมไม่เหมาะสมสิงคโปร์ก็อาจเกิดการติดเชื้อพุ่งขึ้นแบบทวีคูณ ซึ่งเดือนที่ผ่านมามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากในหลายๆ คลัสเตอร์ ทั้งที่จุดต่อรถประจำทาง บ้านพักแรงงานข้ามชาติ และห้างสรรพสินค้า

เมื่อวันจันทร์ (6 ก.ย.) นายลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศมาตรการใหม่เพื่อชะลอการติดเชื้อและซื้อเวลาให้คนออกไปฉีดวัคซีนกันมากขึ้น เนื่องจากวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ แต่ป้องกันการติดเชื้อได้น้อยลงโดยเฉพาะกับสายพันธุ์เดลตา เช่นเดียวกับนนายออง เย คุง รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขที่กล่าวว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ราว 40% และเมื่อผ่านไปหลายเดือนก็ปกป้องได้น้อยลง