'แอร์เอเชีย' เล็งนำหุ้นธุรกิจดิจิทัลจดทะเบียนตลาดสหรัฐปีนี้

'แอร์เอเชีย' เล็งนำหุ้นธุรกิจดิจิทัลจดทะเบียนตลาดสหรัฐปีนี้

'แอร์เอเชีย' เล็งนำหุ้นธุรกิจดิจิทัลจดทะเบียนตลาดสหรัฐปีนี้ โดยเป็นหุ้นบริษัทแอร์เอเชีย ดิจิทัล (AirAsia Digital) และหุ้นของบริษัทแอร์เอเชีย ซูเปอร์แอพ (AirAsia SuperApp)

นายโทนี เฟอร์นันเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ของบริษัทแอร์เอเชีย กรุ๊ป (AirAsia Group) เปิดเผยว่า แอร์เอเชียกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะนำหุ้นแอร์เอเชีย ดิจิทัล (AirAsia Digital) และแอร์เอเชีย ซูเปอร์แอพ (AirAsia SuperApp) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของแอร์เอเชีย กรุ๊ป เข้าจดทะเบียนซื้อขายในกระดานหุ้นเทคโนโลยีของตลาดหุ้นสหรัฐในปีนี้ โดยแอร์เอเชียมีแผนที่จะขยายธุรกิจด้านดิจิทัล

"เราได้รับความสนใจจากกลุ่ม SPAC" นายเฟอร์นันเดสกล่าว โดย SPAC (Special Purpose Acquisition Company) หมายถึงบริษัทที่ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการควบรวมกิจการโดยเฉพาะ นอกจากนี้ เขากล่าวว่า "เราได้จ้างนักบัญชีแล้วหลายราย และเรากำลังดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องการเปลี่ยนแปลงบัญชีของเรา เพื่อให้เข้าเกณฑ์ตามข้อกำหนดของสหรัฐ"

ทั้งนี้ SPAC เป็นวิธีการเข้าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐที่ได้รับความนิยมในรอบปีที่ผ่านมา เนื่องจากการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านวิธี SPAC จะใช้เวลาเพียง 2-4 เดือนเท่านั้น เทียบกับการทำไอพีโอที่อาจใช้เวลานานถึง 1-2 ปี

แผนการดังกล่าวของแอร์เอเชียเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทางบริษัทกำลังหันไปมุ่งเน้นกลยุทธ์ด้านดิจิทัล เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงสร้างความเสียหายต่อธุรกิจการเดินทางทางอากาศ โดยเมื่อวานนี้แอร์เอเชียได้ประกาศซื้อธุรกิจโกเจ็กในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ ผ่านการออกหุ้นแอร์เอเชีย ซูเปอร์แอพ

นายเฟอร์นันเดส ยังกล่าวด้วยว่า แอร์เอเชียเล็งเห็นโอกาสครั้งใหญ่ในเทเลพอร์ท (Teleport) ซึ่งเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ในเครือของแอร์เอเชียและมีแผนที่จะเพิ่มฝูงบินในการขนส่งสินค้าในเดือนก.ย.นี้ โดยเทเลพอร์ทจะใช้เครื่องบินเช่าของโบอิงรุ่น 737 ขณะที่แอร์เอเชียเชื่อมั่นว่ายอดสั่งซื้อทางออนไลน์จะขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

"ธุรกิจโลจิสติกส์พร้อมแล้วที่จะรับมือกับยุคดิจิทัล และเราเชื่อว่า เทเลพอร์ทคือเพชรเม็ดงามในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้" นายเฟอร์นันเดส กล่าว