นักบรรพชีวินเม็กซิโกพบไดโนเสาร์สายพันธุ์‘ช่างจ้อ’

นักบรรพชีวินเม็กซิโกพบไดโนเสาร์สายพันธุ์‘ช่างจ้อ’

นักบรรพชีวินวิทยาเม็กซิโกกำหนดให้ไดโนเสาร์ที่พบซากทางตอนเหนือของเม็กซิโก อายุราว 73 ล้านปีก่อนเป็นสายพันธุ์ใหม่

สถาบันมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ (ไอเอ็นเอเอช) ของเม็กซิโก แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (13 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า จากสภาพที่พบอธิบายได้ว่า ไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ตัวนี้มีอายุราว 72-73 ล้านปีก่อน ตายในที่ที่ต้องเป็นแหล่งน้ำเต็มไปด้วยตะกอน ดังนั้นร่างของมันถูกพื้นดินปกคลุมอย่างรวดเร็วจึงรักษาสภาพได้แม้เวลาผ่านมานานหลายปี

ไดโนเสาร์ที่ชื่อว่า ทลาโทโลฟัส กาโลรัม ถูกพบส่วนหางก่อนที่เขตเจเนอรัล เซเปดา ในรัฐโกอาวีลา ทางภาคเหนือของเม็กซิโก เมื่อปี 2556 เมื่อขุดต่อไปนักวิทยาศาสตร์ค่อยๆ พบซาก80% ทั้งกะโหลก หงอนและกระดูก เช่น โคนขาและไหล่ ทำให้นักวิจัยได้ข้อสรุปในปีนี้ว่า เป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่

“เรารู้ว่า พวกมันมีหูที่สามารถรับฟังเสียงความถี่ต่ำได้ ดังนั้นมันต้องเป็นไดโนเสาร์รักสงบแต่ช่างจ้อ” แถลงการณ์ระบุ ซึ่งนักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่า ไดโนเสาร์พันธุ์นี้ปล่อยเสียงดังเพื่อไล่ผู้ล่าและเพื่อการผสมพันธุ์ด้วย

การค้นพบนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์Cretaceous Research แล้ว ไอเอ็นเอเอช กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นความพิเศษในวงการบรรพชีวินวิทยาเม็กซิโก“เมื่อหลายล้านปีก่อนเกิดสภาพที่เหมาะสม ตอนที่โกอาวีลายังเป็นเขตร้อน ที่ช่วยรักษาซากในสภาพที่พบได้”

ทั้งนี้ ชื่อทลาโทโลฟัส นำมาจากภาษาชนพื้นเมืองเผ่าNahuatl คำว่า ทลาห์โทลลี หมายถึง ถ้อยคำ หรือ แถลงการณ์ ส่วน คำว่า โลฟัส เป็นภาษากรีก แปลว่า หงอน

หงอนของไดโนเสาร์พันธุ์นี้ดูเหมือนสิ่งที่ไอเอ็นเอเอช เรียกว่า เป็นสัญลักษณ์ที่ชาวเมโสอเมริกันใช้ในเอกสารโบราณ แสดงถึงการสื่อสารและความรู้