หนังเล่าโลก The Square: พลังแห่งฤดูใบไม้ผลิ

หนังเล่าโลก The Square: พลังแห่งฤดูใบไม้ผลิ

หนังเล่าโลก The Square: พลังแห่งฤดูใบไม้ผลิเป็นภาพยนตร์สารคดีปี 2556 บอกเล่าเรื่องราวของการรวมตัวของประชาชนชาวอียิปต์ทุกสารทิศที่จัตุรัสทาห์รีร์ พื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางกรุงไคโร เรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออก

เดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.2516 และ 6 ต.ค.2519 จนหลายคนสับสนเรียกว่า วันที่ 16 ตุลาฯ ราวกับผู้มาก่อนกาล เพราะปีนี้ได้เกิดเหตุการณ์ 16 ตุลาฯ ตำรวจใช้รถฉีดน้ำผสมสารเคมีสีน้ำเงินสลายการชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนที่สี่แยกปทุมวัน เป็นเหตุให้ผู้คนออกมาประท้วงกันมากขึ้นในวันต่อๆ มา ที่ว่างหน้าห้างสรรพสินค้ากลายเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Square ที่เคยออกอากาศทางเน็ตฟลิกซ์

The Square ภาพยนตร์สารคดีผลงาน Jehane Noujaim ออกฉายเมื่อปี 2556 บอกเล่าเรื่องราวของการรวมตัวของประชาชนชาวอียิปต์ทุกสารทิศที่จัตุรัสทาห์รีร์ พื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางกรุงไคโร เรียกร้องให้ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ซึ่งครองอำนาจมายาวนานกว่า 30 ปี ลาออกจากตำแหน่ง ที่ต้องนึกถึงภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ผู้เขียนได้รับหนังสือเรื่อง “ฤดูใบไม้ผลิ: คลื่นการเมืองจากอาหรับสู่ฮ่องกง” (The Spring!: Political Wave from Arab to Hong Kong) เขียนโดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เล่าเหตุการณ์อาหรับสปริง ที่เริ่มจากตูนิเซียในช่วงปลายปี 2553 ต่อเนื่องมาถึงอียิปต์ในต้นปี 2554 สุรชาติสรุปว่า สาเหตุของอาหรับสปริงมาจากการที่ประเทศต้องอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการมายาวนาน ทำให้ประชาชนประสบกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เช่น ราคาอาหารสูงขึ้น “ผู้คนในสังคมมีความคิดว่า ถึงเวลาที่ต้องล้มรัฐบาลเผด็จการแล้ว เพราะรัฐบาลเช่นนี้ไม่ตอบสนองต่อความต้องการทางเศรษฐกิจ” พูดง่ายๆ คือ “รัฐบาลเผด็จการทำให้คนยากจน”

อาหรับสปริงประสบความสำเร็จในตูนิเซียและอียิปต์ช่วงแรกที่สามารถโค่นล้มประธานาธิบดีมูบารักได้ แต่ในประเทศอื่นๆ อย่างซีเรีย ลิเบีย และเยเมน การลุกฮือของผู้คนกลับจบลงด้วยโศกนาฏกรรมแห่งสงครามกลางเมือง กระนั้นประชาชนยังไม่ท้อถอย

จากโลกอาหรับหนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงฮ่องกงสปริงที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2557 ปีที่ไทยมีรัฐประหาร ฤดูใบไม้ผลิได้เบ่งบานที่ฮ่องกงในเดือน ก.ย. คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ผู้เชื่อมั่นในเสรีภาพลุกขึ้นต่อสู้กับการขยายอิทธิพลของจีน ขบวนการประชาธิปไตยฮ่องกงเข้มข้นสูงสุดอีกครั้งในปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลปักกิ่งออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่มาบังคับใช้

สำหรับคนที่ติดตามข่าวต่างประเทศ การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยฮ่องกงได้รับการกล่าวขานในสื่อต่างประเทศถึงการใช้กลวิธีใหม่ๆ มาต่อสู้กับรัฐบาลปักกิ่ง ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าพวกเขาจะเอาชนะได้ แต่วันหนึี่งแทกติกแบบเดียวกันทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายรัฐกลับมีให้เห็นต่อหน้าต่อตาที่กรุงเทพมหานคร หลังตำรวจฉีดน้ำสีใส่การชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนเมื่อวันที่ 16 ต.ค. การชุมนุมสไตล์ฮ่องกงมีให้เห็นเป็นประจำทุกวัน

ผู้ชุมนุมใส่ชุดดำ สะพายเป้ เตรียมหน้ากาก แว่นตากันก๊าซ สวมหมวกนิรภัย สื่อสารกันด้วยสัญญาณมือ นัดหมายกันผ่านโซเชียลมีเดียด้วยศัพท์เทคนิคใหม่ๆ เข้าใจกันในหมู่วัยรุ่น ขณะที่ฝ่ายรัฐใช้วิธีฉีดน้ำสีแยกตัวผู้ร่วมชุมนุม สั่งปิดระบบขนส่งสาธารณะตัดกำลังไม่ให้ประชาชนเดินทางไปรวมตัวกัน แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นเด็กๆ ให้จัดชุมนุมได้ จนสืื่อต่างประเทศบางรายเรียกว่า ผู้ชุมนุมชาวไทยกำลังเล่นเกมแมวกับหนูกับทางการ

การดูหนังเคล้าไปกับการอ่านหนังสือรอบนี้ ทำให้ฉุกคิดว่า แม้โลกอาหรับ ฮ่องกง และไทย จะอยู่ห่างไกลกันคนละทวีป แต่กระแสลมแห่งฤดูใบไม้ผลิได้พัดวนไปทั่วโลก เป็นกระแสลมแห่งฤดูกาลที่ไม่ขึ้นกับกาลเวลา และยังพัดไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุดแม้อ่อนแรงไปในบางช่วง เมื่อต้านทานไม่ได้การปล่อยตัวเองสัมผัสกระแสลมก็น่าจะเป็นทางออกที่ทำได้แบบไม่เหลือบ่ากว่าแรง