จี20เตรียมเก็บภาษีบริษัทดิจิทัล

จี20เตรียมเก็บภาษีบริษัทดิจิทัล

กลุ่มประเทศจี 20 เล็งออกนโยบายภาษีใหม่ เก็บจากบริษัทดิจิทัลรายใหญ่อย่างกูเกิล ตามประเทศที่ทำธุรกิจไม่ใช่ที่ตั้งสำนักงานใหญ่

หนังสือพิมพ์ธุรกิจ “นิกเคอิ” ของญี่ปุ่น รายงานวานนี้ (30 พ.ค.) อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวระบุ ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกลุ่มประเทศ จี20 เตรียมลงนามนโยบายร่วม ในการประชุมรัฐมนตรีจี 20 ที่เมืองฟุกุโอกะของญี่ปุ่นในเดือนหน้า ก่อนการประชุมผู้นำจี 20 ที่จะมีขึ้นในนครโอซาการะหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย.

นโยบายดังกล่าว ซึ่งพุ่งเป้าไปที่บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่างกูเกิล แอ๊ปเปิ้ล เฟซบุ๊ค และอเมซอน จะจัดสรรรายได้ให้กับประเทศที่มีฐานผู้ใช้ของบริษัทเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก

ประเทศจี 20 พยายามบรรลุข้อตกลงสุดท้ายกันในปี 2563 แต่จะนำนโยบายไปใช้อย่างไรนั้นต้องหาข้อสรุปอีกที โดยวิธีหนึ่งที่เป็นไปได้คือกระจายรายได้จากภาษีที่เก็บมาได้ไปให้ประเทศต่างๆ ตามจำนวนผู้ใช้ที่บริษัทใหญ่มีในประเทศนั้้นๆ

นั่นหมายความว่าเฟซบุ๊ค ที่รวมศูนย์กำไรและการจ่ายภาษีไว้ที่ไอร์แลนด์ เพื่อความได้เปรียบในการจ่ายภาษีอัตราต่ำ ต้องกระจายภาษีไปยังที่ที่ผู้ใช้อาศัยอยู่ให้มากขึ้น แต่รายละเอียดเรื่องวิธีเก็บและกระจายภาษี และบริษัทใดจะได้รับผลกระทบบ้างยังต้องหาข้อสรุปอีกครั้ง คาดว่าจะให้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ช่วยกำหนดกติกา

ประเด็นวิธีเก็บภาษีจากบริษัทดิจิทัลชั้นนำขณะนี้มีปัญหามากขึ้นทุกที ยุโรปหลายประเทศดำเนินการเพียงลำพัง สร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐ

ขณะที่โออีซีดี  ซึ่งมีฐานปฏิบัติการในกรุงปารีส พยายามเร่งทำข้อตกลงระดับโลกฉบับใหม่ ป้องกันไม่ให้บริษัทประกาศรายได้ในประเทศที่เสียภาษีต่ำได้ง่ายๆ กีดกันไม่ให้ประเทศอื่นมีรายได้จากภาษีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

เมื่อเดือน เม.ย. ส.ส.ฝรั่งเศสผ่านกฎหมายร่างแรก เตรียมเก็บภาษีจากโฆษณาดิจิทัล การขายข้อมูลส่วนตัว และรายได้อื่นจากบริษัทเทคโนโลยีที่มีรายได้ทั่วโลกปีละกว่า 750 ล้านยูโร

ออสเตรียก็เสนอกฎหมายภายในแบบเดียวกันแต่ความพยายามเห็นชอบกฎหมายระดับสหภาพยุโรป ถูกประเทศที่เก็บภาษีต่ำอย่างไอร์แลนด์สกัดไว้ เพราะอยากดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เข้าประเทศ

ขณะที่ในประเทศไทยนั้น  มีความเคลื่อนไหวเก็บภาษียักษ์โซเชียล โดยเฉพาะการเก็บภาษีธุรกิจอีบิสสิเนส ซึ่งบริษัทที่เข้าข่าย เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ค ไลน์ ฯลฯ โดยไทยมีแนวคิดผลักดันกฎหมายอีบิซิเนสที่กรมสรรพากรเป็นเจ้าภาพ เพื่อเก็บภาษีจากผู้ประกอบการออนไลน์ต่างประเทศที่มีธุรกิจในไทย ซึ่งขณะนี้กฎหมายผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และอยู่ระหว่างนำเสนอกฎหมายไปยังรัฐบาลชุดใหม่ ล่าสุดได้ปรับแก้กฎหมาย โดยใช้วิธีหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยอ้างอิงจากข้อมูลหลายประเทศทั่วโลก ที่เริ่มเก็บภาษีผู้ประกอบการออนไลน์ ซึ่งไทยนำต้นแบบมาจาก ออสเตรเลีย เกาหลี และอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เคยมีการประเมินมูลค่าโฆษณาออนไลน์ในประเทศไทยที่มีราว 2 หมื่นล้านบาท โดยกว่าครึ่งของเม็ดเงินจำนวนนี้ คือ เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ที่ใช้ผ่านช่องทางยักษ์โซเชียลระดับโลกเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของผู้ประกอบการดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการผู้ให้บริการ โอทีที (Over the top) หรือผู้ให้บริการคอนเทนท์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน แนวคิดนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยแหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ตในไทย ชี้ว่าแนวคิดการเก็บรายได้จากบริการโอทีที ถือเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่คงต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจ และหาจุดลงตัวร่วมกัน ควรเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการโอทีทีได้หารือร่วม เพื่อหาแนวทางจัดเก็บที่เหมาะสม โดยต้องไม่กระทบกับผู้ใช้งาน (End User)

“คือต้องดูว่า เกณฑ์ที่จะจัดเก็บ จะใช้เกณฑ์อะไรมาวัด ก็ต้องดูให้เหมาะสม ไม่งั้นเขาอาจย้ายการลงทุน หรือการให้บริการใหม่ๆ ไปประเทศอื่นที่ไม่ต้องโดนจัดเก็บรายได้ก็เป็นได้”