'บีบีซี' ชี้เสรีภาพสื่อโลก 'น่าห่วง'

'บีบีซี' ชี้เสรีภาพสื่อโลก 'น่าห่วง'

ผู้บริหารบีบีซี ระบุ เสรีภาพสื่อทั่วโลกอยู่ในขั้น “น่ากังวล” ผู้นำหลายชาติยังอยากให้รายงานเฉพาะสิ่งที่ตัวเองปรารถนา

นางสาวฟรานเชสกา อันส์เวิร์ธ ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลก และรองผู้อำนวยการฝ่ายข่าวและสถานการณ์ปัจจุบัน กล่าวบรรยายสาธารณะ เรื่อง “เสรีภาพสื่อในโลกอำนาจนิยมเบ่งบาน” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันนี้ (29 มี.ค.) ว่า ขณะนี้ สถานการณ์เสรีภาพสื่อในส่วนต่างๆ ของโลกเป็นที่ “น่ากังวล” เห็นได้จากข้อมูลขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ที่ระบุว่า ในตุรกีมีการจับกุมนักข่าวนับร้อยภายหลังการรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อปีก่อน 

นอกจากนี้ ผู้นำตุรกียังสั่งปิดสื่อ ทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี และวิทยุที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเขานับร้อยแห่ง ขณะที่ในฮังการี มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเซ็นเซอร์การนำเสนอข่าวของสื่อ ส่วนในโปแลนด์มีการออกกฎหมายควบคุมสื่อ ในรัสเซีย ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ควบคุมสื่อกระแสหลักไว้ทั้งหมดแล้ว 

แม้กระทั่งในสหรัฐ สิ่งแรกที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทำ คือการกีดกันไม่ให้สื่อหลายสำนัก รวมถึงบีบีซี เข้าฟังการแถลงข่าว

“ในบางครั้ง ยิ่งเราพูดถึงเสรีภาพมากเท่าไร ก็ยิ่งฟังดูว่างเปล่าเท่านั้น” นางสาวอันส์เวิร์ธ กล่าว

ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลก กล่าวถึงสถานการณ์เสรีภาพสื่อในไทยว่า กรณีไทย มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งบีบีซีเอง ก็เกือบตกอยู่ในที่นั่งลำบาก จากการรายงานพระราชประวัติพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ซึ่งถูกเขียนและตีพิมพ์ที่ลอนดอน โดยพนักงานที่ไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

เธอยังกล่าวด้วยว่า แน่นอนว่าสื่อ ไม่ได้มีเสรีที่จะรายงานอะไรก็ได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบด้วย คำถามคือ เส้นแบ่งระหว่างสองอย่างนั้นควรจะอยู่ที่ตรงไหน 

ทั้งนี้ ในประเทศที่ประชาธิปไตยที่เติบโตแล้ว กฎและกติกาจะมีความชัดเจน แม้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่ทุกอย่างต้องมีวิวัฒนาการซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา และแม้เธอเข้ามารับตำแหน่งหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงไปนานแล้ว โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน แต่ก็ยังรู้สึกได้ถึงช่วงเวลานั้น เพราะผู้นำของหลาย ๆ ประเทศในโลกยังพยายามที่จะทำให้สื่อรายงานในสิ่งที่ตนปรารถนา

“นี่คือเหตุผลว่า ทำไมงานของนักข่าวทุกวันนี้จึงมีความสำคัญ อาจจะยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาเสียอีก” นางสาวอันส์เวิร์ธ ระบุ

เครดิตภาพ: บีบีซี