ญี่ปุ่นห่วงอัตราการเกิดต่ำ หนุนสตรี'แช่แข็งไข่'ขยายเวลามีลูก

ญี่ปุ่นห่วงอัตราการเกิดต่ำ หนุนสตรี'แช่แข็งไข่'ขยายเวลามีลูก

เมืองอูรายาสุของญี่ปุ่นทุ่มงบประมาณ 90 ล้านเยนหรือ 30.17 ล้านบาท ทำโครงการนำร่องแช่แข็งไข่สตรี แก้ปัญหาอัตราการเกิดลดต่ำลง

โครงการแช่แข็งไข่สตรีซึ่งดำเนินการโดยโรงพยาบาลอูรายาสุและมหาวิทยาลัยจุนเทนโด เปิดทางให้ผู้หญิงอายุระหว่าง 25-34 ปี แช่แข็งไข่ของตนไว้ได้ โดยขณะนี้มีผู้หญิงเข้าร่วมโครงการแล้ว 12 คน ด้านคณะนักวิทยาศาสตร์ผู้รับผิดชอบโครงการต่างตั้งความหวังว่า การจะแช่แข็งไข่สตรีเอาไว้ก็เพื่อกระตุ้นให้พวกเธอมีลูกเมื่อรู้สึกพร้อม

หากไม่มีงบประมาณจากภาครัฐสนับสนุน ผู้หญิงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแช่แข็งไข่เต็มราคาประมาณ 500,000-600,000 เยน แต่สำหรับโครงการนี้สาว ๆ เสียเงินเพียง 20% เท่านั้น

ข้อมูลสำมะโนประชากรล่าสุดพบว่า ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาประชากรญี่ปุ่นลดลง 1 ล้านคน ซึ่งปัญหาสังคมผู้สูงอายุถือเป็นปัญหาที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญอยู่อย่างยาวนาน ในเรื่องนี้นายกเทศมนตรีเมืองอูรายาสุ “นายฮิเดอากิ มัตซุซากิ” แถลงว่า โดยทั่วไปการตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรถือเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ญี่ปุ่นเจอปัญหาอัตราการเกิดต่ำมานานแล้ว เขาจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสังคม และอยากใช้งบประมาณของรัฐทำในสิ่งที่ต้องทำ

อย่างไรก็ตาม แม้การแช่แข็งไข่จะช่วยยืดเวลามีลูกของผู้หญิง แต่อัตราความสำเร็จของวิธีนี้ยังไม่สูงนัก ผลการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่แช่แข็งไข่ไว้เมื่ออายุ 25 ปี มีโอกาสมีลูก 30% ส่วนผู้ที่แช่แข็งไข่ไว้เมื่ออายุ 34 ปี โอกาสที่จะมีลูกในภายหลังลดลงเหลือ 20%