เปิดทางเลือกไทยภายใต้ความขัดแย้งจีน-สหรัฐ ‘ต้องมีประตูสำรองเสมอ’

ท่ามกลางความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะระหว่างสองมหาอำนาจจีน-สหรัฐ เกิดความวิตกกังวลอย่างหนักว่าไทยจะทำอย่างไร จำเป็นต้องเลือกข้างหรือไม่ และหากต้องเลือกควรจะเลือกใคร ประเด็นนี้สำคัญยิ่งในปีที่ไทย-จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันมา 50 ปี
การเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 150 ปี การสถาปนากระทรวงการต่างประเทศ หัวข้อ “สู่การเป็นประชาชนที่มีอนาคตร่วมกัน: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของความสัมพันธ์ไทย - จีน” ศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองที่น่าสนใจ เริ่มต้นจากการย้อนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน 50 ปี ที่แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน
1. ช่วงปรับตัว-ทำความรู้จักกัน ตั้งแต่ 1975-ต้นทศวรรษ 1980 แม้สองประเทศเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้วก็จริงแต่ยังหวาดระแวงกันเพราะสังคมมีอุดมการณ์แตกต่างกัน ไทยมีปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ปฏิบัติการอยู่ในชนบท ไทยพยายามสื่อสารกับจีน ซึ่งจีนก็พยายามบอกว่า การสนับสนุน พคท.จะเหลือเพียง moral support เท่านั้น
ช่วงนั้นจีนก็พยายามอย่างหนัก งานสำคัญงานหนึ่งเมื่อเติ้ง เสี่ยวผิงมาเยือนไทยในเดือน พ.ย.1978 คือมาร่วมพระราชพิธีผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของจีนทำให้คนไทยมีมุมมองแบบใหม่ว่า แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ได้สนับสนุนศาสนาใด แต่ก็ไม่ได้รังเกียจ สามารถอยู่ร่วมกับความเชื่อหรือระบบสังคมที่แตกต่างได้
ส่วนความหวาดระแวงที่ไทยมีต่อจีนหมดไปเมื่อ พคท.ล่มสลาย ความสัมพันธ์เข้าสู่ช่วงที่ 2
2. ทศวรรษ 1980-ค.ศ.1991 ไทยกับจีนร่วมมือด้านความมั่นคงกันอย่างใกล้ชิดแก้ไขปัญหากัมพูชา ช่วงทศวรรษ 1980 เริ่มมีการเยือนในระดับพระบรมวงศานุวงศ์ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี 1981 ขณะที่ฝ่ายจีนประธานาธิบดีหลี่ เซียนเนี่ยน เป็นประมุขแห่งรัฐจีนคนแรกที่มาเยือนไทยในปี 1985
3. ตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา เมื่อหมดปัญหากัมพูชา เป็นช่วงของการล่องใต้ของเติ้ง เสี่ยวผิง และเศรษฐกิจจีนทะยานขึ้น โดยก่อนปี 1992 ความสัมพันธ์ไทย-จีน จะโฟกัสอยู่ที่ traditional security (การเมือง ความมั่นคง) แต่หลัง 1992 ความสัมพันธ์เข้าสู่ประเด็นเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอื่นๆ
สิทธิพลตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน คนส่วนใหญ่มักบอกว่า ไทยกับจีนเป็นมิตรกันมายาวนาน
"จริงๆ แล้วพูดแบบนี้ก็ไม่ค่อยถูกนัก เราต้องยอมรับว่าพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนก่อนปี 1975 เราก็มีปัญหาอะไรกันอยู่มากพอสมควรทีเดียว" กล่าวคือ ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่เป็น “มิตรภาพโดยธรรมชาติ” แต่เป็นมิตรภาพที่เกิดขึ้นจากความพยายามของคนหลายรุ่นที่จะประคับประคองพัฒนาความสัมพันธ์ให้งอกงามขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
- ความตึงเครียดยุคทรัมป์ 2.0
สิทธิพลกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐไม่ว่าผู้นำสหรัฐจะเป็นใคร แนวโน้มตึงเครียดมากขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากจีนก็มีเป้าหมายของจีน กล่าวคือ ในปี 2049 ครบรอบ 100 ปี สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้นำจีนตั้งเป้าฟื้นฟูประชาชาติจีน (national rejuvenation) จีนเป็นชาติที่มีสำนึกทางประวัติศาสตร์สูงมาก มองว่า ช่วงปี 1842-1949 (สนธิสัญญานานกิง-การปฏิวัติของเหมาเจ๋อตง) เป็นช่วงที่จีนถูกกระทำย่ำยีจากโลกภายนอก ดังนั้นตั้งแต่ 1949 เป็นต้นมาคือ The road to national rejuvenation ที่ผู้นำจีนบอกว่าต้องทำให้สำเร็จภายใน 100 ปีแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน
National rejuvenation ประกอบด้วย การพัฒนาภายใน ด้านคุณภาพชีวิตของประชากร และสามารถแก้ไขปมปัญหาด้านอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนให้หมดสิ้นไปได้ โดยเฉพาะประเด็นไต้หวัน ทะเลจีนใต้ จึงมีการคาดการณ์กันในทางวิชาการว่า ผู้นำจีนต้องบรรลุเป้าหมายให้ได้ และน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สี จิ้นผิง เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มากกว่าสองวาระ
ในเมื่ออยู่นานเป็นพิเศษย่อมหมายความว่าสี จิ้นผิง ต้องสร้างเป้าหมายอันทะลุทะลวงให้เป็นที่ประจักษ์ (breakthrough) ซึ่งจีนได้ประกาศชัยชนะต่อความยากจนไปแล้ว breakthrough ต่อไปนี้ต้องเป็นเรื่องของดินแดนซึ่งเกี่ยวกับไต้หวันและทะเลจีนใต้
ประเด็นเหล่านี้สหรัฐมองว่า ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงจีนสามารถควบคุมไต้หวันและทะเลจีนใต้ได้จะกระทบต่อผลประโยชน์และยุทธศาตร์ของสหรัฐในอินโดแปซิฟิก
- สัมพันธ์จีน-สหรัฐ น่ากังวล?
ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐน่ากังวลในแง่ที่ว่า ณ ตอนนี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการกำหนดกติกาในการแข่งขันที่ชัดเจน ย้อนกลับไปในช่วงสงครามเย็นช่วงแรกมีความสุ่มเสี่ยงที่สหรัฐกับสหภาพโซเวียตจะปะทะกันทางทหาร แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสัมพันธ์สองประเทศมีวุฒิภาวะมากขึ้น อย่างน้อยในทศวรรษ 1970 ยังมี Strategic Arms Limitation Talks (SALT) มีเฮลซิงกิแอคคอร์ด ทั้งสองฝ่ายยอมรับเขตอิทธิพลซึ่งกันและกัน
“แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐในปัจจุบันยังไม่ได้พัฒนาไปถึงจุดนั้น ต่างฝ่ายต่างบอกว่าอีกฝ่ายล้ำเส้นกันและกันอยู่บ่อยๆ จึงมีโอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันทางการทหาร" สิทธิพลประเมิน
- ไทยจะวางตัวอย่างไร
สิทธิพลเสนอทางเลือกของไทยหากเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างจีนกับสหรัฐ
1. Band wagon ใครเป็นใหญ่ก็ร่วมขบวนไปกับเขา เหมือนร่วมขบวนแห่นาคแล้วทิ้งอีกประเทศหนึ่ง แต่วิธีนี้มีต้นทุนที่ไทยต้องจ่าย กล่าวคือต้องสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และจะไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทยที่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาหลายๆ ประเทศ ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง
2. ถ้าย้อนพิจารณาภูมิปัญญาทางการทูตไทย แค่ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา “เรามักมีประตูสำรองทางการทูตเอาไว้เสมอ เราไม่เคยหันหลังให้ใคร 100%” เช่น ระหว่างปี 1955-1958 หลังการประชุมบันดุง เราติดต่ออย่างไม่เป็นทางการกับรัฐบาลปักกิ่งแม้ว่าตอนนั้นไทยเข้าข้างโลกเสรีอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ถึงขั้นจะไม่สนทนาปสาทะกับปักกิ่งเลย
หรือครึ่งหลังของทศวรรษ 1960 ที่ไทยมีข้อตกลงกับสหรัฐอย่างเต็มที่ มีแถลงการณ์ร่วมถนัด-รัสก์ เป็นหมุดหมายสำคัญในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ขณะเดียวกันไทยก็มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งอาเซียนซึ่งจุดประสงค์เริ่มแรกคือต่อต้านคอมมิวนิสต์
“ แปลว่าเราไม่เคยผูกปิ่นโตไว้กับประเทศใดประเทศหนึ่งโดยไม่มีช่องทางสำรอง ดังนั้นภูมิปัญญาการทูตไทยจึงเป็นสิ่งที่ควรรักษาเอาไว้ เราต้องมีประตูสำรองเสมอเผื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง”
สิทธิพลเสนอว่า ทางเลือกที่เหมาะสมของไทยภาษาการทูตเรียกว่า hedging strategy หรือการกระจายความเสี่ยง กระชับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจและประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายอย่างกว้างขวางทั่วถึง จะทำให้ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งกล้าบีบไทยมากเกินไป
3. ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน ควรเป็นกำลังสำคัญในการประสานงานกับประเทศหลักของอาเซียนอื่นๆ เรียกร้องให้ตัวแสดงน้อยใหญ่ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมาใช้เวทีอาเซียนเป็นเวทีเจรจาโดยสันติเพื่อแก้ปัญหา เช่น เวที East Asia Summit, ASEAN Regional Forum นี่น่าจะเป็นทางออกของไทยภายใต้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ไปจนถึงจุดที่เราต้องโดนบีบให้เลือกข้าง
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการรายนี้ไม่คิดว่า จีนจะมีเจตนาบีบไทยให้ห่างเหินกับสหรัฐ เพราะจะเป็นความเสี่ยง ไทยเป็นประเทศที่จีนให้ความสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์มาตลอดหลายสิบปี
“เราอาจไม่ต้องกลัว scenario แบบนั้นก็ได้ถ้าเรารู้จักบาลานซ์ความสัมพันธ์กับตัวแสดงต่างๆ เอาไว้” สิทธิพลสรุป