'จีน' ส่งออกไปสหรัฐลดลง 34% ต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี สวนอาเซียนโต 15%

'จีน' ส่งออกเดือนพ.ค. ไปสหรัฐลดลง 34% ต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี หนักกว่าเดือนที่แล้ว สวนทางการส่งออกจีนไปอาเซียนที่โตต่อเนื่องเกือบ 15% ทั่วโลกจับตาเจรจาการค้ารอบสอง จีน-สหรัฐ วันนี้
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงาน ข้อมูลการค้าจีน ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคมว่า การส่งออกจีนไปสหรัฐ ร่วงลง 34.5% จากปีก่อน ซึ่งถือเป็นการลดลงรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิดในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ตามข้อมูลของ Wind Information
ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าจากสหรัฐลดลงกว่า 18% ส่งผลให้ดุลการค้าจีนกับสหรัฐ หดตัวลง 41.55% เมื่อเทียบรายปี เหลือ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5.87 แสนล้านบาท)
ในภาพรวมนั้น การส่งออกโดยรวมของจีนเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าที่รอยเตอร์สคาดการณ์ไว้ว่าจะพุ่งขึ้น 5% เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดใหญ่อย่างสหรัฐลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ผลกระทบจากข้อตกลงการค้าระหว่างปักกิ่งและวอชิงตันจะปรากฏชัดขึ้นในข้อมูลการค้าเดือนมิถุนายน
ตลาดที่จีนยังส่งออกได้ดี คือตลาด "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ที่ขยายตัวได้เกือบ 15% เมื่อเทียบปีก่อน เช่นเดียวกับการส่งออกไป สหภาพยุโรป ที่ขยายตัว 12% และ แอฟริกา 33%
ส่วนการนำเข้าโดยรวมของจีนลดลง 3.4% ซึ่งลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะลดลง 0.9% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจาก "ความต้องการภายในประเทศที่ซบเซา" ทำให้ภาพรวมการค้าจีนเดือนพฤษภาคมนั้น จีนเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบปีก่อน อยู่ที่ 1.032 แสนล้านบาท (ราว 3.3 ล้านล้านบาท)
ทั้งนี้ แม้ว่าในภาพรวมการค้าจีนยังคงเกินดุล แต่การส่งออกในเดือนพฤษภาคมก็นับว่าขยายตัวช้าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่เพิ่มขึ้น 8.1% เนื่องจากอานิสงส์การส่งออกไปอาเซียนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 21% ซึ่งช่วยชดเชยกับการส่งออกไปสหรัฐที่ลดลงในอัตราเดียวกัน หลังจากภาษีศุลกากรตอบโต้สหรัฐเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน
“ภาษีศุลกากรที่เข้มงวดเพิ่งถูกยกเลิกในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม แต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว” เทียนเฉิน ซู นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Economist Intelligence Unit กล่าว
ข้อมูลจากศุลกากรจีนยังระบุด้วยว่า การส่งออกแร่หายาก (แรร์เอิร์ธ) ของจีนลดลง 5.7% จากปีก่อน เหลือ 5,865.6 ตัน ขณะที่ปักกิ่งเข้มงวดการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุสำคัญเหล่านี้เพื่อสร้างอิทธิพลระหว่างการเจรจาการค้ากับรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ
การส่งออกรถยนต์และเรือขยายตัวขึ้น 22% และ 5% ตามลำดับเมื่อเทียบรายปี แต่การส่งออกสมาร์ตโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง 10% และ 6% ตามลำดับ ขณะเดียวกันยังพบว่า จีนนำเข้า "ถั่วเหลือง" เพิ่มขึ้นถึง 36.2% ในเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 13.92 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นักเศรษฐศาสตร์ EIU คาดการณ์ว่า การส่งออกไปยังสหรัฐจะทยอยฟื้นตัวขึ้นบ้างในเดือนมิถุนายน โดยเดือนนี้จะเป็นเดือนแรกที่ผู้ส่งออกของจีนได้ประโยชน์จากการลดภาษีนำเข้าของสหรัฐ หลังการตกลงกันที่สวิตเซอร์แลนด์ และเสริมว่าการส่งออกแรร์เอิร์ธและเครื่องจักรไฟฟ้าจะฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ปักกิ่งยอมผ่อนปรนการกำกับดูแลการส่งออกเหล่านี้
ทั้งนี้ สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศระบุว่า หลังจากที่มีการเจรจากันในสวิสฯ เมื่อเดือนที่แล้ว อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐเรียกเก็บกับจีนลดลงมาอยู่ที่ 51.1% จากเดิม 145% ในขณะที่ปักกิ่งเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐที่ 32.6%
จื่อชุน หวง นักเศรษฐศาสตร์จีนจากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ชี้ให้เห็นสัญญาณเริ่มต้นว่าความต้องการสินค้าจีนของสหรัฐ เริ่มกระเตื้องขึ้นหลังจากข้อตกลงสงบศึกที่เจนีวา แต่ก็ยังต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าผลจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวจะถูกส่งต่อไปยังปลายทางจริง และยังเตือนด้วยว่า ภาษีศุลกากรที่มีอยู่นั้นไม่น่าจะลดลงอีก หรืออาจจะไม่เพิ่มขึ้นอีก และจะทำให้การส่งออกเติบโตชะลอตัวลงภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ สหรัฐและจีนจะมีการเจรจาการค้ากับรอบที่สองในวันจันทร์นี้ (9 มิ.ย.) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ฝ่ายจีนนำโดย เหอ ลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ส่วนฝ่ายสหรัฐจะมีตั้งแต่หัวหน้าคณะอย่าง สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลัง, ฮาวเวิร์ด ลัตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์ และเจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR)
การประชุมรอบที่สองเกิดขึ้นหลังจากความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายปะทุขึ้นอีกครั้ง โดยมีการกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าละเมิดข้อตกลงการค้าเจนีวา
ที่มา: CNBC