'เงินฝืดจีน' ลากยาวเข้าเดือนที่ 4 ท่ามกลาง 'สงครามราคา' ปะทุแรง

'เงินฝืดจีน' ลากยาวเข้าเดือนที่ 4 ท่ามกลาง 'สงครามราคา' ปะทุแรง

'เงินฝืดจีน' ลากยาวเข้าเดือนที่ 4 ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ลดลงเร็วสุดในรอบ 2 ปี และหดตัวเป็นเดือนที่ 32 ท่ามกลาง 'สงครามราคา' ที่ปะทุแรง ผู้ผลิตต้องหั่นราคาเพราะผู้บริโภคกังวลจนไม่ยอมใช้จ่าย

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เปิดเผยในวันนี้ (9 มิ.ย.68) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนเดือนพฤษภาคม ลดลง 0.1% จากปีก่อน หรือลดลงในอัตราเท่ากันเมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า โดยภาวะเงินฝืดจีนดำเนินมาต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่แล้ว ท่ามกลางสงครามราคาที่รุนแรงขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ 2 ครั้งในเดือนที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถชดเชยอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอได้

บลูมเบิร์ก ระบุว่า CPI เดือนล่าสุดยังดีกว่าเล็กน้อยจากผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์โดยบลูมเบิร์กที่ให้คาดการณ์เฉลี่ยที่หดตัว 0.2% วันหยุดในช่วงต้น และปลายเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่ภาวะเงินฝืดจีนผ่อนคลายลงชั่วคราว เนื่องจากความต้องการบริการต่างๆ สูงขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้คนนิยมเดินทาง และไปเยี่ยมครอบครัวกันในช่วงหยุดยาววันแรงงาน และวันเทศกาลเรือมังกร

อย่างไรก็ตาม ความน่ากังวลที่สุดอยู่ที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งลากยาว เข้าสู่ภาวะหดตัวเป็นเดือนที่ 32 หรือเกือบ 3 ปีแล้ว โดยดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพฤษภาคมหดตัว 3.3% เมื่อเทียบเดือนเมษายน และนับเป็นการลดลงที่เลวร้ายที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี

\'เงินฝืดจีน\' ลากยาวเข้าเดือนที่ 4 ท่ามกลาง \'สงครามราคา\' ปะทุแรง

ทั้งนี้ ภัยคุกคามจากภาวะเงินฝืดที่ฝังรากลึกในจีนน่าจะคงอยู่ต่อไปอีกหลายเดือน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มปรับลดการใช้จ่ายลงหลังจากที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำเป็นเวลานาน และบริษัทต่างๆ ก็เริ่มดำเนิน "สงครามราคา" แข่งกัน เช่น ล่าสุดในกรณีของบริษัทรถยนต์ BYD Co. ที่ลดราคารถยนต์หลายรุ่นลงมากถึง 34% ทำให้เกิดความกังวลว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะเปิดสงครามหั่นราคากันอีกครั้ง

ตง ลี่จวน หัวหน้านักสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน กล่าวถึงดัชนี PPI ที่ปรับตัวลดลงอย่างมากว่า มาจากฐานที่สูงในปีที่แล้ว และราคาผลิตภัณฑ์น้ำมัน และเคมีภัณฑ์ทั่วโลกที่ลดลง ขณะเดียวกันราคาถ่านหิน และวัตถุดิบอื่นๆ ในประเทศก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการมีสินค้าคงคลังมากเกินไป ทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงไปอีก

ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงจากความตึงเครียดด้านการค้ากับสหรัฐยังอาจขัดขวางการเติบโตของดัชนีเงินเฟ้อจีน การเสียตำแหน่งงาน และรายได้อันเนื่องมาจากภาษีศุลกากรสหรัฐ บั่นทอนความสามารถ และความตั้งใจจับจ่ายใช้สอยของชาวจีน ซึ่งคาดว่าทำให้ผู้ผลิต และผู้ให้บริการต้องแห่กันปรับลดราคาสินค้า และบริการลงมา

โรบิน ซิง นักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า คาดว่าภาวะเงินฝืดในจีน "จะรุนแรงขึ้น ไม่ใช่ดีขึ้น" โดยเตือนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอาจชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ "โดยการส่งออกที่จะชะลอตัวลง และความต้องการบริโภคที่ซบเซาลง"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์