สหรัฐ - จีน เจรจาการค้าวันนี้ เน้นประเด็นร้อนการส่งออกแร่หายาก

สหรัฐ - จีน เจรจาการค้าวันนี้ เน้นประเด็นร้อนการส่งออกแร่หายาก

ผู้แทนเจรจาการค้าระดับสูงจากสหรัฐ และจีนเตรียมจัดการเจรจารอบใหม่ที่ลอนดอนในวันจันทร์นี้ เปิดโอกาสคลี่คลายความตึงเครียดจากการที่จีนควบคุมการส่งออกแร่หายาก

บลูมเบิรก์ รายงานว่า ผู้เจรจาการค้าระดับสูงจากสหรัฐ และจีนเตรียมจัดการเจรจารอบใหม่ในกรุงลอนดอนในวันจันทร์นี้ (9 มิ.ย.68) ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสที่สองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกจะคลี่คลายความตึงเครียดทางการค้า จากการที่สหรัฐตั้งกำแพงภาษีสูงกีดกันสินค้า และจีนตอบโต้ด้วยควบคุมการส่งออกแร่หายากที่จีนเป็นเจ้าตลาด

ทั้งสองฝ่ายกล่าวหาอีกฝ่ายว่าผิดข้อตกลงที่ทำกันไว้ที่เจนีวาในเดือนพฤษภาคม ทั้งสองฝ่ายพยายามจะลดระดับความรุนแรงของสงครามการค้าลง ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศย่ำแย่ลงตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้าทำเนียบขาว ส่งผลให้บริษัทต่างๆ และนักลงทุนเกิดความไม่แน่นอน

จีนกล่าวเมื่อวันเสาร์ว่าได้อนุมัติคำขอส่งออกแร่หายากบางส่วน โดยไม่ได้ระบุว่าประเทศหรืออุตสาหกรรมใดมีส่วนเกี่ยวข้อง หลังจากที่ทรัมป์กล่าว เมื่อวันศุกร์ว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ตกลงที่จะเริ่มกระบวนการส่งออกแร่ธาตุ และแม่เหล็กอีกครั้ง

“เราต้องการให้แร่ธาตุหายาก แม่เหล็กซึ่งมีความสำคัญต่อการผลิตโทรศัพท์มือถือ และทุกสิ่งทุกอย่างไหลเวียนไปเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นก่อนต้นเดือนเมษายน และเราไม่อยากให้ข้อขัดข้องทางเทคนิคใดๆ มาทำให้เรื่องนี้ล่าช้าลง” เควิน แฮสเซตต์ ประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่ทำเนียบขาว กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ในรายการ Face the Nation ของทีวีซีบีเอส “และนั่นก็ชัดเจนสำหรับพวกเขา”

ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนทวีความรุนแรงขึ้นในปีนี้ เนื่องจากการขึ้นภาษีสินค้าของกัน และกันส่งผลให้ภาษีศุลกากรพุ่งสูงเกิน 100% ก่อนที่จะถูกระงับไว้ชั่วคราว แม้ว่าข้อตกลงเจนีวาจะมุ่งหมายที่จะปูทางไปสู่การลดความตึงเครียดในวงกว้างขึ้น แต่การเจรจาที่ตามมาก็หยุดชะงักลงอย่างรวดเร็วท่ามกลางการโต้แย้งซึ่งกันและกัน

สหรัฐ บ่นเกี่ยวกับการลดลงของการจัดส่งแม่เหล็กหายากซึ่งจำเป็นต่อยานยนต์ไฟฟ้า และระบบป้องกันประเทศของสหรัฐ ในขณะที่จีนไม่พอใจกับข้อจำกัดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นของสหรัฐ เกี่ยวกับชิปปัญญาประดิษฐ์จากบริษัท Huawei Technologies  การเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ และการกีดกันนักศึกษาต่างชาติในสหรัฐ

เวลาผ่อนผันภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐ จะสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม เว้นแต่ทรัมป์จะตัดสินใจขยายเวลาออกไป หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ 

ทำเนียบขาวกล่าวว่า ทรัมป์มีแผนที่จะปรับอัตราภาษีให้เท่ากับระดับที่เขาประกาศไว้เมื่อเดือนเมษายน หรือลดจำนวนลงให้เกินกว่าระดับพื้นฐาน 10% ในปัจจุบัน

ที่กรุงลอนดอน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ฮาวเวิร์ด ลัทนิค และผู้แทนการค้าสหรัฐ จามีสัน กรีเออร์ จะเข้าพบกับคณะผู้แทนจีนที่นำโดยรองนายกรัฐมนตรี เหอ หลี่เฟิง

ทรัมป์มีมุมมองเชิงบวกต่อความสัมพันธ์ที่ผันผวนตั้งแต่เขาดำรงตำแหน่งในเดือนมกราคม โดยโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย ระบุว่า การเจรจาน่าจะดำเนินไปได้ด้วยดี

แม้ว่าการโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์ และสี จิ้นผิงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจะทำให้วอลล์สตรีท มีความหวังในการลดภาษีระหว่างคู่ค้าทางการค้า แต่นักลงทุนก็ไม่คาดหวังมากนัก 

แม้ทรัมป์จะสัญญาว่าจะปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการค้าของสหรัฐ แต่ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ได้บรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่เพียงฉบับเดียว คือ กับสหราชอาณาจักร

การประชุมที่เจนีวาเน้นย้ำถึงความท้าทายในการทำข้อตกลงระหว่างจีน และสหรัฐ

“ทั้งสองฝ่ายเกิดความสับสน เข้าใจผิด หรือตีความผิดโดยเจตนา ขึ้นอยู่กับว่าคุณมองตกลงอย่างไร” จอช ลิปสกี้ ประธานเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของสภาแอตแลนติก กล่าว “ทั้งสองฝ่ายปล่อยให้มีการตีความมากจนเกินไป และทุกฝ่ายต้องจ่ายราคาสำหรับเรื่องนี้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ระหว่างนั้น”

หลังจากผู้นำทั้งสองได้พูดคุยกันแล้ว กระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวว่า ทรัมป์บอกกับสี จิ้นผิงว่านักศึกษาจีนสามารถมาเรียนที่สหรัฐได้ ต่อมาทรัมป์กล่าวว่าจะเป็น “เกียรติ” ของเขาที่จะต้อนรับพวกเขา

ถึงขณะนี้ สี จิ้นผิงดูเหมือนจะเดิมพันว่าการรีเซ็ตความสัมพันธ์จะนำไปสู่ชัยชนะที่จับต้องได้ในสัปดาห์ และเดือนข้างหน้า รวมถึงการลดภาษีศุลกากร การผ่อนปรนการควบคุมการส่งออก และท่าทีที่ไม่ตึงเครียด

สหรัฐ และจีน “ต้องการกลับไปจุดที่พวกเขาเคยตกลงกันที่สวิตเซอร์แลนด์  เพื่อทำข้อตกลงกันว่าอะไรจะต้องมีใบอนุญาต อะไรได้รับอนุญาต อะไรไม่ได้รับใบอนุญาต” ลิปสกี้ กล่าว

  • จีนครองการผลิตแร่หายากของโลก

จีนผลิตแร่หายากเกือบ 70% ของโลกซึ่งมีความสำคัญต่อการผลิตเครื่องบินรบ แท่งควบคุมเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และเทคโนโลยีสำคัญอื่นๆ

คอรี คอมบ์ รองผู้อำนวยการบริษัทที่ปรึกษา Trivium China ซึ่งเชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทาน กล่าวว่า วอชิงตันยังคงต้องใช้เวลาอีก 10 ปีกว่าจะได้แร่ธาตุหายากมาครอบครองโดยอิสระจากปักกิ่ง พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทจีนได้พัฒนาทางเลือกอื่นที่มีประสิทธิภาพแทนชิปของสหรัฐ ส่วนใหญ่แล้ว

"อำนาจการต่อรองของจีนนั้นมีสูงกว่าของสหรัฐ มากในตอนนี้" เขากล่าวเสริม "ผมไม่แน่ใจว่าวิธีนี้จะได้ผลดีสำหรับสหรัฐ หรือไม่

ผู้ส่งออกแร่ธาตุหายากต้องยื่นขอใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่โปร่งใส และตรวจสอบได้ยาก ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเปิด และปิดกระบวนการส่งออกได้อีกครั้งโดยที่โลกภายนอกไม่สามารถล่วงรู้เหตุผลที่แท้จริงได้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์