ทำไม 'ทองขึ้น' จะขึ้นอีกนานไหม แล้วใครอยู่เบื้องหลัง ?

ทำไม 'ทองขึ้น' จะขึ้นอีกนานไหม แล้วใครอยู่เบื้องหลัง ?

"ราคาทองคำ" ปรับตัวขึ้นในภาพรวม แม้ในระยะสั้นจะปรับตัวลง นักลงทุนแห่เข้าซื้อ ผู้เชี่ยวชาญเตือนราคาอาจผันผวนรุนแรงหากเป็นภาวะฟองสบู่เช่นเดียวกับปี 1980

"สิ่งเดียวที่คุณมีอยู่ในตอนนี้คือ ทองคำ มูลค่า 250,000 ปอนด์ (ประมาณ 11 ล้านบาท)" เอ็มม่า ซีเบนบอร์น กล่าวขณะโชว์ถังพลาสติกสีซีดที่เต็มไปด้วยเครื่องประดับเก่าและทรุดโทรม ไม่ว่าจะเป็นแหวน กำไลข้อมือพร้อมจี้ สร้อยคอ และต่างหู

ปัจจุบันเอ็มมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ จากแฮตตัน การ์เดน เมทัลส์ ร้านทองของธุรกิจครอบครัว ในย่านแฮตตัน การ์เดน ณ กรุงลอนดอน และถังใส่ของจุกจิกที่ไม่น่าดึงดูดนี้ก็เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการรับซื้อสิ่งของตามหน้าร้านในแต่ละวัน ซึ่งก็คือ เศษทอง ที่จะถูกหลอมและนำไปรีไซเคิลใหม่ในที่สุด

บนโต๊ะเองก็เช่นกัน มากกว่าความหรูหราของถาดบุด้วยหนังกลับคือเหรียญและทองคำแท่งหลากหลายแบบที่วางเอาไว้ สำหรับทองแท่งที่ใหญ่ที่สุดนั้นมันมีขนาดและความหนาเทียบเท่ากับสมาร์ตโฟนหนึ่งเครื่องเลยทีเดียว โดยมีน้ำหนักราว 1 กก. และมีมูลค่ากว่า 80,000 ปอนด์ (ราว 3.5 ล้านบาท)
      

ในส่วนของเหรียญนั้น ยังรวมไปถึงเหรียญบริแทเนีย (Britannias) ที่มีขนาดเท่าบิสกิต บรรจุทองคำบริสุทธิ์กว่า 24 กะรัต น้ำหนัก 1 ออนซ์ นอกจากนี้ยังมีเหรียญซอเวเรน (Sovereigns) ที่มีขนาดเล็กกว่า โดยเหรียญทั้งหมดนี้สามารถทำการซื้อขายได้ และการที่ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น ก็ได้เป็นการกระตุ้นความต้องการซื้อตามไปด้วย

โซอี้ ไลออนส์ พี่สาวของเอ็มมาและกรรมการผู้จัดการกล่าวว่า ไม่เคยเห็นเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ผู้คนต่างก็ต่อคิวเพื่อขายทองของตัวเองตามท้องถนน “ผู้คนตอนนี้พลุกพล่านไปหมด โดยมีทั้งความตื่นเต้นและวิตกกังวลไปพร้อมๆ กัน”

“ความกังวลของสาธารณะต่อทิศทางของตลาดจะส่งผลให้เกิดการซื้อขายครั้งใหญ่ในท้ายที่สุด”

พนักงายรายหนึ่งจาก เอ็ม เอ็น อาร์ จิวเวลเลอร์ส ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปกี่ซอยเองก็เห็นด้วยเช่นเดียวกันว่า “ทองคำจะมีความต้องการสูงขึ้นอย่างแน่นอน”
      
"ทองคำ" กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมีราคาพุ่งกว่า 40% ในปีที่ผ่านมา และเมื่อไม่นานมานี้ ราคาทอง ก็ได้ทะลุแนวต้านที่ 3,500 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.23 แสนบาท) ต่อทรอยออนซ์ (หน่วยวัดโลหะมีค่า) ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้จะคำนวณปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้วก็ตาม โดยทำลายสถิติเดิมเมื่อ ม.ค. ปี 1980 ซึ่งขณะนั้นมีราคาอยู่ที่ $850 หรือเทียบเท่าประมาณ $3,493 ในปัจจุบัน (ประมาณ 2.9 หมื่นบาทและ 1.22 แสนบาท ตามลำดับ)

นักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า สาเหตุการพุ่งขึ้นของราคาทองคำ ว่า มีหลายปัจจัย โดยมีปัจจัยหลักคือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดเดาได้ของนโยบายการค้าสหรัฐภายใต้รัฐบาลทรัมป์ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดการเงิน ในทางกลับกัน ทองคำถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่มั่นคงสำหรับใครหลายคน นอกจากนี้ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ก็ยิ่งเพิ่มแรงดึงดูดให้นักลงทุนจำนวนมากเริ่มให้ความสำคัญกับความมั่นคงของทองคำเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่น แม้ในอดีตวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดังจะเคยกล่าวถึงทองคำไว้ว่า “ไร้ชีวิตชีวา” และ “ไม่สร้างมูลค่าในอนาคต” เมื่อเทียบกับการลงทุนในธุรกิจที่สร้างผลกำไร

ลูอีส สตรีท นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสจาก สภาทองคำโลก ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ กล่าวว่า “ในสถานการณ์นี้ถือได้ว่าเป็น มรสุมแบบเต็มรูปแบบ หรือ Perfect Storm ของทองคำเลยก็ว่าได้”

“ประเด็นสำคัญคือแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่างก็รุนแรงขึ้น ซึ่งเห็นได้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่พึ่งทำการปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจเมื่อไม่นานมานี้...”
 

อย่างไรก็ดีสินทรัพย์ต่างก็มีราคาที่ผันแปรเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าทองคำจะขึ้นชื่อในฐานะสินทรัพย์ที่มั่นคง แต่ก็ไม่ได้รอดพ้นจากความผันผวนของเงินเฟ้อแต่อย่างใด ในอดีต เมื่อราคาทองพุ่งสูงครั้งใหญ่ ก็มักตามมาด้วยการร่วงลงอย่างมีนัย

แล้วความเสี่ยงที่เหตุการณ์แบบนี้ หมายถึงเหตุการณ์ที่เงินเฟ้อผันผวน จะเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะทำให้นักลงทุนต้องรับภาระขาดทุนอย่างมหาศาล

อะไรคือปัจจัยที่จุดประกาย ‘การตื่นทอง’?

ด้วยความหายาก ทองคำจึงถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเองมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ นอกจากนี้อุปทานทองคำทั่วโลกมีอยู่อย่างจำกัด โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา มีการขุดทองคำขึ้นมาทั้งหมดประมาณ 216,265 ตัน ตามข้อมูลจากสภาทองคำโลก แม้ปัจจุบันตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอีกราว 3,500 ตันต่อปี ดังนั้นด้วยความหายากทำให้ทองคำถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ที่สามารถรักษามูลค่าไว้ได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ในฐานะสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ทองคำเองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ทองคำ ต่างจากหุ้นที่จะไม่จ่ายเงินปันผลเลย และไม่เหมือนกับพันธบัตรเพราะทองคำไม่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงและคาดการณ์ไม่ได้ นอกจากนี้ การใช้งานทองคำในภาคอุตสาหกรรมก็ถือว่าค่อนข้างจำกัดเช่นเดียวกัน

สิ่งที่เป็นที่ดึงดูดของทองคำคือการเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ และอยู่แยกออกจากระบบธนาคาร นอกจากนี้ ทองคำยังถูกใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ เนื่องจากสกุลเงินมักจะสูญเสียมูลค่าไปตามกาลเวลา ในขณะที่ทองคำกลับไม่เป็นเช่นนั้น

“ทองคำไม่สามารถถูกพิมพ์ขึ้นมาโดยธนาคารกลาง และไม่สามารถเสกขึ้นมาจากอากาศได้” รัส โมลด์ ผู้อำนวยการด้านการลงทุน จากเอเจ เบลล์ บริษัทนายหน้าซื้อขายหุ้น กล่าว พร้อมอธิบายเสริมว่า

“ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเกิดวิกฤต สิ่งที่ธนาคารกลางมักทำคือ นโบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยการลดดอกเบี้ยอย่างหนัก เพิ่มปริมาณเงินในระบบ และพิมพ์เงิน ดังนั้น ทองคำจึงถูกมองว่าเป็นที่หลบภัยจากสิ่งเหล่านี้ และยังเป็นสินทรัพย์ที่รักษามูลค่าได้”
      

เมื่อไม่นานมานี้ ความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากกองทุนที่เรียกว่า กองทุนรวมดัชนี (ETFs) ซึ่งเป็นเครื่องมือการลงทุนที่ถือครองสินทรัพย์ เช่น ทองคำ ไว้โดยตรง ขณะที่นักลงทุนสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนเหล่านี้ได้เหมือนหุ้น

กองทุนประเภทนี้ได้รับความนิยมจากนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ และการเคลื่อนไหวของพวกเขาก็มีส่วนช่วยผลักดันให้ราคาทองคำสูงขึ้น

เมื่อทองคำทำสถิติสูงสุดครั้งก่อนเมื่อ ม.ค. 1980 จากเหตุการณ์สหภาพโซเวียตบุกอัฟกานิสถาน ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงและเกิดเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้นักลงทุนต่างก็มองหาวิธีปกป้องความมั่งคั่งของตัวเองและต่อมาราคาทองคำก็ได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้งหลังวิกฤตการเงินโลกส่งผลให้เกิดจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งในปี 2011

การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในช่วงหลังนี้ ดูเหมือนจะมีสาเหตุสำคัญมาจากปฏิกิริยาของตลาด ที่ตอบสนองต่อความสับสนจากนโยบายของรัฐบาลทรัมป์

การพุ่งขึ้นครั้งล่าสุดของราคาทองคำ เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โจมตีเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ผ่านทางออนไลน์ โดยเรียกร้องให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยทันทีและเรียกนายพาวเวลล์ว่าเป็น

“ผู้บริหารที่ไร้ความสามารถ” เพราะไม่สามารถลดต้นทุนการกู้ยืมได้อย่างรวดเร็วพอ
      

คำพูดของทรัมป์ถูกตีความว่าเป็นการโจมตีความเป็นอิสระของธนาคารกลางสหรัฐ จนทำให้ตลาดหุ้นร่วงลง เช่นเดียวกันกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ แต่ราคาทองคำกลับทำสถิติสูงสุด

อย่างไรก็ดี เพียงแค่อิทธิพลของทรัมป์ไม่สามารถอธิบายถึงความแข็งแกร่งของราคาทองคำได้ทั้งหมด

ความกังวลเกี่ยวกับการใช้เงินดอลลาร์เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ราคาทองคำ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายปี 2022 โดยหลุยส์ สตรีท ได้อธิบายว่าสาเหตบางส่วน เกิดจากธนาคารกลาง “[พวกเขา] เป็นผู้ซื้อสุทธิของทองคำ เพื่อเพิ่มในทุนสำรองระหว่างประเทศ (official reserves) มานานกว่า 15 ปีแล้ว แต่เราเห็นว่าการซื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจริง ๆ ในช่วงสามปีที่ผ่านมา”

ธนาคารกลาง ได้ซื้อทองคำรวมกันมากกว่า 1,000 ตันต่อปี ตั้งแต่ปี 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 481 ตันต่อปี ในช่วงปี 2010 ถึง 2021 โดยประเทศที่เป็นผู้นำในการซื้อทองคำเมื่อปีที่แล้ว ได้แก่ โปแลนด์ ตุรกี อินเดีย อาเซอร์ไบจาน และจีน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ธนาคารกลางอาจกำลังพยายามสะสมทองคำเพื่อสร้างกันชนทางการเงิน ในช่วงเวลาที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์กำลังเพิ่มสูงขึ้น
      

ตามที่แดน สตรูเวน หัวหน้าฝ่ายวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ระดับโลก จากโกลด์แมน แซคส์ กล่าวว่า “เหตุการในปี 2022 ที่ทุนสำรองของธนาคารกลางรัสเซียถูกแช่แข็ง เนื่องจากการรุกรานยูเครน ส่งผลใหัผู้จัดการทุนสำรองของธนาคารกลางโลก ก็เริ่มตระหนักว่า ‘บางทีทุนสำรองของพวกเขาเองก็อาจไม่ปลอดภัยเหมือนกัน แล้วถ้าซื้อทองคำแทน และเก็บไว้ในตู้นิรภัยของตัวเองจะดีกว่าไหม’”

“และนี่จึงเป็นเหตุผลที่เราได้เห็นความต้องการทองคำจากธนาคารกลาง เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงห้าเท่า อย่างเป็นโครงสร้างระยะยาว”

ไซมอน เฟรนช์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทการลงทุน แพนมิวร์ ลิเบอรั่ม ยังเชื่ออีกว่า ความต้องการหลุดพ้นจากระบบธนาคารที่ผูกเข้ากับดอลลาร์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ธนาคารกลางซื้อทองคำ

“ผมไม่ได้มองไปแค่ที่จีน แต่รวมถึงรัสเซียด้วย ธนาคารกลางของพวกเขาเป็นผู้ซื้อทองรายใหญ่ และนอกจากนี้ยังมีตุรกีอีกด้วย เนื่องจากหลายประเทศที่กังวลเรื่องการใช้ระบบดอลลาร์และอาจรวมถึงระบบยูโร ในการโจมตี ดังเช่นกรณีของรัสเซีย”

ถ้าประเทศเหล่านั้นไม่ได้ยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับสหรัฐ หรือฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะในแง่การทูต หรือด้านการทหาร ส่งผลใหัการมีสินทรัพย์ในธนาคารกลาง ที่ไม่สามารถถูกควบคุมโดยฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือการทหาร ถือเป็นจุดเด่นที่น่าดึงดูดของทองคำอย่างมาก”

ปัจจัยหนุนอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจกำลังช่วยผลักดันตลาดทองคำ ให้พุ่งสูงขึ้นในตอนนี้คือความกลัวว่าจะพลาดโอกาส เมื่อมีการทำลายสถิติราคาสูงสุดตลอดกาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นการสนทนาในชีวิตประจำวันในบางวงการแล้ว
      

โซอี้ ไลออนส์ กล่าวถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่แฮตตัน การ์เดนว่า  “ผู้คนอยากได้ส่วนแบ่งของพายชิ้นใหญ่ที่ชื่อว่าทองคำ” “และพวกเขายินดีจะทำเช่นนั้นผ่านการซื้อทองคำจริง”

ปลอดภัย อีกนานแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม คำถามใหญ่ต่อมาคือ “ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น?” ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าแนวโน้มขาขึ้นจะยังดำเนินต่อไป โดยได้รับแรงหนุนจากนโยบายของสหรัฐที่คาดเดาได้ยาก แรงกดดันเงินเฟ้อ และการซื้อทองคำของธนาคารกลาง

 โกลด์แมน แซคส์ ได้คาดการณ์ว่าราคาทองคำจะแตะ 3,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ประมาณ 1.3 แสนบาท) ภายในสิ้นปี 2025 และพุ่งถึง 4,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.4 แสนบาท) ภายในกลางปี 2026

ส่วนบทวิเคราะห์ดังกล่าวยังเสริมว่า หากสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย หรือสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น ราคาทองคำอาจพุ่งถึง 4,500 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.57 แสนบาท) ภายในปลายปีนี้เลยทีเดียว

แดน สตรูเวน อธิบายว่า “ตลาดหุ้นสหรัฐมีขนาดใหญ่กว่าตลาดทองคำถึง 200 เท่า ดังนั้น แม้จะมีการเคลื่อนย้ายเงินออกจากตลาดหุ้นหรือจากตลาดพันธบัตรขนาดใหญ่ เพียงเล็กน้อย ก็จะเท่ากับการเพิ่มขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ใหญ่ในตลาดทองคำซึ่งมีมาร์เก็ตแคปเล็กกว่ามาก”

พูดอีกอย่างก็คือ ไม่จำเป็นต้องเกิดความปั่นป่วนครั้งใหญ่ในตลาดการลงทุนก็ยังคงสามารถดันราคาทองคำให้พุ่งสูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางสำนักแสดงความกังวลว่าราคาทองคำพุ่งขึ้นมาไกลและรวดเร็วเกินไป จนเกิดสภาวะ “ฟองสบู่” ในตลาด ซึ่งฟองสบู่ย่อมมีวันแตกได้

ยกตัวอย่างในปี 1980 หลังจากที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงก็เกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ทันที โดยร่วงจาก 850 ดอลลาร์ (ประมาณ 2.9 หมื่นบาท) ช่วงปลายเดือน ม.ค. เหลือเพียง 485 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.6 หมื่นบาท) ในต้นเดือน เม.ย. และภายในกลางเดือน มิ.ย. ของปีถัดมา ราคาทองคำเหลืออยู่ที่เพียง 297 ดอลลาร์ (ประมาณ 1 หมื่นบาท) ซึ่งลดลงถึง 65 % จากจุดสูงสุด

หากมองไปที่จุดสูงสุดในปี 2011 ตามมาด้วยการร่วงลงอย่างรวดเร็วในช่วงความผันผวน โดยภายในสี่เดือน ราคาทองคำลดลงไปแล้ว 18 % จากจุดสูงสุดในปี 2011  ต่อมาราคาทรงตัวอยู่พักหนึ่ง แต่ก็ยังคงปรับตัวลงเรื่อย ๆ จนถึงจุดต่ำสุดกลางปี 2013 ซึ่งต่ำกว่าจุดสูงสุดถึง 35 %

คำถามหนึ่งที่ยังค้างอยู่คือ “เหตุการณ์เดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นได้อีกหรือไม่”

ฟองสบู่จะแตกอีกครั้งไหม

นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่า ราคาทองคำอาจร่วงลงอย่างมากในท้ายที่สุด อีกทั้ง จอน มิลส์ ผู้เชี่ยวชาญจากมอร์นิ่งสตาร์ สร้างความฮือฮาในเดือน มี.ค. เมื่อเขาแนะว่าราคาทองคำอาจลดเหลือเพียง 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ประมาณ   6.4 หมื่นบาท) ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

มิลส์มองว่า เมื่อเหมืองทองเพิ่มกำลังการผลิต และมีทองรีไซเคิลเข้าสู่ตลาดมากขึ้น อุปทานก็จะขยายตัว  ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางจะชะลอการกว้านซื้อ ส่วนปัจจัยกดดันระยะสั้นอื่น ๆ ที่หนุนความต้องการก็จะลดลง ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลง

อย่างไรก็ดีมีการปรับคาดการณ์ขึ้นเล็กน้อยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากต้นทุนการทำเหมืองที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม แดน สตรูเวน ไม่เห็นด้วย เขาเชื่อว่าอาจเกิดการย่อตัวช่วงสั้น ๆ แต่โดยรวมราคาทองคำจะยังคงปรับขึ้น “ถ้ามีข้อตกลงสันติภาพในยูเครน หรือการคลี่คลายสงครามการค้าอย่างรวดเร็ว บรรดากองทุนป้องกันความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) คงยอมดึงเงินบางส่วนออกจากทองคำไปสู่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น…”

“ดังนั้นคุณอาจเห็นราคาย่อลงบ้าง แต่เราค่อนข้างมั่นใจว่า ในสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ ธนาคารกลางต้องเลือกถือสินทรัพย์สำรองที่ปลอดภัยกว่า ความต้องการทองคำจะยังคงถูกผลักดันให้เพิ่มขึ้นในระยะกลาง”

รัส โมลด์ เชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด แนวโน้มขาขึ้นน่าจะชะลอตัวลงบ้าง “เมื่อราคาปรับขึ้นมาแรงขนาดนี้ ก็คงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ว่ามันจะหยุดพักหายใจสักระยะหนึ่ง”

แต่เขาเชื่อว่าหากเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงและธนาคารกลางหั่นอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรุนแรง ราคาทองคำอาจปรับตัวสูงขึ้นในระยะยาว

งานแปลชิ้นนี้เป็นผลงานของ พงศ์พล นิสยันท์ นักศึกษาฝึกงานของกรุงเทพธุรกิจ 

 

 

อ้างอิง:BBC