จีนลดถือครอง 'พันธบัตรสหรัฐ' ต่อเนื่อง ล่าสุดหลุดไปอยู่อันดับ 3

จีนลดถือครอง 'พันธบัตรสหรัฐ' ต่อเนื่อง ล่าสุดหลุดไปอยู่อันดับ 3

จีนลดการถือครอง 'พันธบัตรสหรัฐ' ต่อเนื่อง ล่าสุดหลุดไปอยู่อันดับ 3 หลังเทขายสุทธิเพิ่ม จนถูกสหราชอาณาจักรแซงขึ้นมาเป็นอันดับสอง

"จีน" ซึ่งเคยเป็นผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในโลก ก่อนจะเสียแชมป์ให้ญี่ปุ่นนั้น ล่าสุดได้ตกมาอยู่ในอันดับ 3 เรียบร้อยแล้ว โดยถูก "สหรราชอาณาจักร" ซึ่งเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นของสหรัฐและเป็นประเทศแรกที่วอชิงตันบรรลุข้อตกลงการค้าด้วย แซงขึ้นมาถือครองหนี้สหรัฐมากที่สุดในอันดับที่ 2
  
บลูมเบิร์กรายงานอ้างกระทรวงการคลังสหรัฐเมื่อวันศุกร์ว่า จากข้อมูล ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2568 หรือหนึ่งเดือนก่อนที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐจะเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก มีการซื้อพันธบัตรจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมูลค่าการถือครองพันธบัตรจากต่างประเทศทั้งหมดเพิ่มขึ้น 233,100 ล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 9.05 ล้านล้านดอลลาร์ 

อย่างไรก็ตาม "จีน" ซึ่งเคยเป็นผู้ถือพันธบัตรสหรัฐรายใหญ่ที่สุดในโลกจนถึงปี 2019 ที่ถูกญี่ปุ่นแซงหน้าไปนั้น ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า จีนหล่นไปอยู่ในอันดับ 3 แล้ว หลังถูก "สหราชอาณาจักร" (UK) แซงหน้าเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี

UK ถือครองพันธบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 7.793 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมี.ค. แซงหน้าจีนซึ่งอยู่ที่ 7.654 แสนล้านดอลลาร์ โดยฝั่งจีนนั้นมีการขายสุทธิเพิ่มขึ้น 2.76 หมื่นล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ จีนเคยเป็นผู้ถือครองพันธบัตรสหรัฐมากที่สุดในโลกติดต่อกันมาหลายปี โดยเคยทำสถิติถือครองมากที่สุดในปี 2013 ที่ประมาณ 1.27 ล้านล้านดอลลาร์ จากนั้นสัดส่วนได้ลดลงมาต่อเนื่องจนถูก "ญี่ปุ่น" เฉือนแซงหน้าไปในปี 2019 ที่ 1.12 ต่อ 1.11 ล้านล้านดอลลาร์

"อุปสงค์จากต่างประเทศ" เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันในตลาดพันธบัตรตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มรณรงค์ขึ้นภาษีนำเข้าอย่างแข็งกร้าว และโจมตีกล่าวหาบรรดาประเทศพันธมิตรทางเศรษฐกิจของตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเอาเปรียบสหรัฐ นำไปสู่การประกาศวัน "ปลดแอก" 2 เม.ย. ที่สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดการเทขายสินทรัพย์สหรัฐครั้งใหญ่ทั้งพันธบัตร หุ้น และเงินดอลลาร์ ในบางช่วงของเดือนนี้

แบรด เซ็ตเซอร์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ที่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CFR) โพสต์ในแพลตฟอร์ม X ว่า

เขามองการเปลี่ยนแปลงของจีนว่า "เป็นการลด Duration (ระยะเวลาการจ่ายคืนเงินเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยกระแสเงินในแต่ละงวด) มากกว่าจะเป็นการมุ่งไปที่ค่าเงินดอลลาร์"

ข้อมูลของกระทรวงการคลังระบุว่า ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร แคนาดา และเบลเยียม เป็นหนึ่งในประเทศที่เพิ่มการถือครองพันธัตรสหรัฐ และข้อมูลนี้ยังบ่งชี้ว่าในเดือนมีนาคม หรือก่อนที่สหรัฐจะประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ในเดือนต่อมานั้น ตลาดพันธบัตรสหรัฐยังอยู่ในภาวะปกติไม่มีแรงเทขายเกิดขึ้น

ทางฝั่งญี่ปุ่นนั้น มีการถือครองพันธบัตรสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน อยู่ที่ 1.13 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนการถือครองของแคนาดาเพิ่มขึ้นราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ อยู่ที่ 4.262 แสนล้านดอลลาร์ 

ในขณะที่เบลเยียมเพิ่มขึ้น 7,400 ล้านดอลลาร์ อยู่ที่ 4.021 แสนล้านดอลลาร์ และหมู่เกาะเคย์แมน ซึ่งถือเป็นประเทศยอดนิยมของนักลงทุนที่ใช้เลเวอเรจ เช่น กองทุนป้องกันความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) เพิ่มขึ้น 3.75 หมื่นล้านดอลลาร์ อยู่ที่ 4.553 แสนล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ดัชนี Bloomberg Dollar Spot ลดลง 1.8% ในเดือนมี.ค. ก่อนที่จะร่วงลงเกือบ 4% ในเดือนเม.ย. ท่ามกลางความผันผวนจากมาตรการภาษีของทรัมป์ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีแทบไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนมี.ค. ก่อนจะพุ่งทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 4.59% จากจุดต่ำสุดที่ 3.86% ในช่วงที่เกิดความวุ่นวายเดือนเม.ย.

อย่างไรก็ดี ความหวาดกลัวสงครามการค้าเริ่มลดน้อยลงเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากมีการประชุมระหว่างผู้แทนของสหรัฐและจีน ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่งผลให้อัตราภาษีศุลกากรระหว่างประเทศทั้งสองลดลง และเมื่อต้นเดือนนี้ รัฐบาลของทรัมป์ยังได้ประกาศข้อตกลงการค้ากับสหราชอาณาจักรออกมาเป็นประเทศแรก