เปิดประวัติผู้นำใหม่แคนาดา ‘มาร์ก คาร์นีย์’ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ 2 ประเทศ

เปิดประวัติผู้นำใหม่แคนาดา ‘มาร์ก คาร์นีย์’ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ 2 ประเทศ

เปิดประวัติ ‘มาร์ก คาร์นีย์’ อดีตผู้ว่าฯธนาคารกลางสองประเทศที่เคยฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้ว กับการก้าวเข้าสู่ ‘สนามการเมืองครั้งแรก’ ในฐานะผู้นำแคนาดาที่ต้องสู้ศึกการค้ากับทรัมป์

KEY

POINTS

  • คาร์นีย์ เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดด้านการเงินของ “สองประเทศ” นั่นคือ ผู้ว่าฯธนาคารกลางแคนาดา และอังกฤษ
  • คาร์นีย์ ผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษในขณะนั้นประกาศว่า อังกฤษจะเปลี่ยนไปใช้ธนบัตรพลาสติกในปี 2016 ยุติการใช้ธนบัตรกระดาษที่ใช้มานาน 320 ปี
  • แม้ว่าคาร์นีย์เกิดใน “แคนาดา” แต่เขาก็ยังถือสัญชาติ “อังกฤษ” และ “ไอริช” ด้วย

ท่ามกลางคำขู่จากประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการแคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ประกอบกับเสียงกังวล “เศรษฐกิจถดถอย” จากภาษีทรัมป์ที่ดังขึ้นเรื่อยๆ “มาร์ก คาร์นีย์” (Mark Carney) ในฐานะผู้นำแคนาดาคนใหม่ในวัย 59 ปี กำลังเป็นที่จับตาจากทุกมุมโลก  

ประวัติที่ผ่านมาของเขานั้นค่อนข้างฉีกแนวผู้นำคนอื่น เนื่องจากเขาไม่เคยดำรงตำแหน่งการเมืองเลือกตั้งใดๆ มาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น แม้คาร์นีย์เกิด และเติบโตที่แคนาดา แต่เขาเคยดำรงตำแหน่งสูงสุดด้านการเงินของ “สองประเทศ” นั่นคือ “ผู้ว่าฯธนาคารกลางแคนาดา” ซึ่งช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 และด้วยความสำเร็จนี้ ทำให้ตัวเขาได้รับเชิญให้เป็น “ผู้ว่าฯธนาคารกลางอังกฤษ” เพื่อรับมือผลกระทบจากการที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งคาร์นีย์ก็ได้รับคำชื่นชมจากการลดผลกระทบทางการเงินดังกล่าว

เมื่อคาร์นีย์ได้ขึ้นเป็นผู้นำแคนาดา เขาตอบโต้ทรัมป์ที่ค่อนข้างหมกมุ่นอยู่กับการมองแคนาดาเป็น “ส่วนหนึ่งของสหรัฐ” ว่า “เขาคงคิดว่าแคนาดาจะยอมจำนน แต่เราจะลุกขึ้นสู้กับผู้ชอบข่มเหง เราจะไม่ยอมอ่อนข้อ เราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเราจะตอบโต้กลับ”

คาร์นีย์เรียกภัยคุกคามที่ทรัมป์ก่อขึ้นว่า “วิกฤติร้ายแรงที่สุดในชีวิตของเรา” และกล่าวต่อว่า “สหรัฐต้องการทรัพยากรของเรา น้ำของเรา ผืนแผ่นดินของเรา และประเทศของเรา”

เปิดประวัติผู้นำใหม่แคนาดา ‘มาร์ก คาร์นีย์’ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ 2 ประเทศ - มาร์ก คาร์นีย์ (เครดิต: Reuters) -

ยุติธนบัตรกระดาษที่ใช้มานาน 320 ปี

สำหรับประวัติที่ผ่านมาของคาร์นีย์ค่อนข้างไปทาง “ด้านการเงิน” อย่างมาก เริ่มจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแห่งสหรัฐ และสำเร็จปริญญาโท และเอก สาขาเศรษฐศาสตร์เช่นกัน จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแห่งอังกฤษ

คาร์นีย์เริ่มต้นอาชีพในภาคเอกชน โดยใช้เวลากว่าทศวรรษในสถาบันการเงิน “Goldman Sachs” ในลอนดอน โตเกียว นิวยอร์ก และโทรอนโต

เขาเดินทางกลับแคนาดา และเข้าสู่การรับราชการในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าธนาคารกลางแคนาดาในปี 2003

ต่อมาในปี 2007 คาร์นีย์ถูกแต่งตั้งให้เป็น “ผู้ว่าฯธนาคารกลางแคนาดา” เพียงไม่นานก่อนที่ตลาดการเงินโลกจะล่มจนเกิดวิกฤติปี 2008 เขาได้รับการยกย่องในการดำเนินนโยบายการเงินที่รวดเร็ว และเด็ดขาด จนช่วยให้แคนาดาผ่านพ้นเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ได้

ด้วยเหตุนี้ ในปี 2013 คาร์นีย์จึงได้รับการทาบทามจาก จอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ของสหราชอาณาจักรในขณะนั้น เพื่อดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ธนาคารกลางอังกฤษ และในขณะนั้น เขาถูกรู้จักในชื่อเล่นที่ไม่น่าเชื่อว่า “ร็อกสตาร์แห่งธนาคารกลาง” และถือเป็น “บุคคลที่ไม่ใช่ชาวอังกฤษคนแรก” ที่ได้เป็นผู้ว่าฯธนาคารกลางอังกฤษในประวัติศาสตร์กว่า 300 ปีของสถาบันแห่งนี้

คาร์นีย์เดินทางถึงกรุงลอนดอนด้วยความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนโฉมธนาคารกลางอันแสนเคร่งขรึมแห่งนี้ เขาเปลี่ยนอังกฤษให้ใช้ “ธนบัตรพลาสติก” ที่เป็นพอลิเมอร์ และใช้แนวทางการสื่อสารแบบใหม่ในชื่อ “การชี้นำไปข้างหน้า” เพื่อต้องการให้นักลงทุนเข้าใจมากขึ้นว่า อัตราดอกเบี้ยกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใด

คาร์นีย์ ผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษในขณะนั้นประกาศอย่างเป็นทางการว่า อังกฤษจะเปลี่ยนไปใช้ธนบัตรพลาสติกในปี 2016 ยุติการใช้ธนบัตรกระดาษที่ใช้มานาน 320 ปี

เข้าร่วมวงคัดค้าน Brexit

ในประเด็นขัดแย้งครั้งใหญ่เรื่องสหราชอาณาจักรควรออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ คาร์นีย์ก็เข้าร่วมวงถกเถียงด้วย โดยเตือนซ้ำหลายครั้งถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยจาก Brexit จนกลุ่มอนุรักษนิยมที่สนับสนุนการออกจากอียูไม่พอใจ และวิจารณ์ว่า เขาได้ทำให้ธนาคารกลางอิสระกลายเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว

เจคอบ รีส์-ม็อกก์ นักการเมืองพรรคอนุรักษนิยม เรียกคาร์นีย์ว่าเป็น “นักบวชชั้นสูงที่คอยสร้างความหวาดกลัว” แต่คาร์นีย์โต้กลับว่า เป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องพูดถึงความเสี่ยงดังกล่าว โดยเมื่อค่าเงินปอนด์ร่วงแรงในเวลาไม่ถึงชั่วโมง หลังผลการลงประชามติ Brexit ในปี 2016 ออกมา คาร์นีย์ได้กล่าวปราศรัยทางโทรทัศน์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตลาดว่า ธนาคารจะเปิดช่องทางสภาพคล่องหากจำเป็น

คาร์นีย์ กล่าวว่า ในวันที่ผล Brexit ออกมานั้น เป็น “วันที่ยากที่สุด” ในการทำงานของเขา โดยเขาได้เตรียมมาตรการฉุกเฉินด้านการเงินไว้ และต่อมาธนาคารกลางได้ลดอัตราดอกเบี้ยจาก 0.5% เป็น 0.25% และเริ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (Quantitative Easing) อีกครั้ง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรให้ฟื้นตัว

แดเนียล เบแลนด์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย McGill อธิบายบุคลิกของคาร์นีย์ว่าเป็น “นักเทคโนแครต” โดยกล่าวว่า “เขาเป็นคนน่าเบื่อที่ดูไม่มีเสน่ห์ดึงดูดมากนัก” อย่างไรก็ตาม เบแลนด์ตั้งข้อสังเกตว่า “ความสามารถที่ละเอียดถี่ถ้วน โดยไม่มีความหวือหวา อาจเป็นที่น่าสนใจ เนื่องจากแคนาดากำลังสั่นคลอนจากความวุ่นวายทางการค้ากับทรัมป์”

ถือสัญชาติ ‘สามประเทศ’

แม้ว่าคาร์นีย์เกิดใน “แคนาดา” ที่ฟอร์ต สมิธ ซึ่งเมืองหนึ่งในเขตนอร์ทเวสต์ เทร์ริทอรีส์ แต่เขาก็ยังถือสัญชาติ “อังกฤษ” และ “ไอริช” ด้วย

เหตุผลเพราะปู่ ย่า ตา ยายของคาร์นีย์ย้ายจากไอร์แลนด์มาที่แคนาดา และเขาเคยกล่าวถึงมรดกไอริชของตัวเองว่า “เป็นส่วนสำคัญของตัวตนผม” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ The Irish Times โดยเขาได้รับสัญชาติไอริชในทศวรรษ 1980 และกลายเป็นพลเมืองอังกฤษในปี 2018 ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯธนาคารกลางสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนายกรัฐมนตรีแคนาดา คาร์นีย์ กล่าวว่า มีแผนที่จะสละสัญชาติอังกฤษ และไอริชของตัวเอง โดยกล่าวกับนักข่าวในเดือนนี้ว่า ได้เขียนจดหมายถึงรัฐบาลเหล่านั้นแล้วเพื่อเริ่มกระบวนการดังกล่าว

เขากล่าวว่า แม้ว่านักการเมืองบางคนของแคนาดาจะถือพาสปอร์ตหลายใบ แต่เขาเชื่อว่านายกรัฐมนตรีไม่ควรจะมีสัญชาติหลายประเทศ

“ผมไม่ได้ตัดสินคนอื่น” คาร์นีย์ กล่าว “ผมกำลังพูดในฐานะนายกรัฐมนตรี ผมควรจะถือสัญชาติแค่ใบเดียว”

รอการพิสูจน์ในบทบาทผู้นำแคนาดา

แม้ว่าคาร์นีย์ เคยประสบความสำเร็จด้านผู้ว่าฯ ธนาคารกลางมาก่อน โดยสามารถทำให้เสถียรภาพทางการเงินของทั้งแคนาดา และสหราชอาณาจักรผ่านพ้นวิกฤติมาได้  แต่สำหรับ “งานผู้นำประเทศ” กลับเป็นเรื่องไม่ง่าย เนื่องจากต้องการทักษะที่มากกว่าการเงินเพียงอย่างเดียว จนกลายเป็นจุดอ่อนที่ถูกคู่แข่งวิจารณ์ถึงประสบการณ์ทางการเมือง

ก่อนหน้านี้ คาร์นีย์เคยเป็น “ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ” ของทรูโด ซึ่งได้ลาออกท่ามกลางความไม่พอใจต่อการจัดการวิกฤติที่อยู่อาศัย และค่าครองชีพที่สูงขึ้นของรัฐบาลของเขา

คาร์นีย์ยังไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองมาก่อน และเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งผู้นำพรรคเสรีนิยม เพื่อแนะนำตัวเองให้ชาวแคนาดารู้จัก

“เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นที่ปรึกษา” แดเนียล เบแลนด์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย McGill กล่าว โดยเขาอธิบายว่า คาร์นีย์เป็น “เทคโนแครตที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสูง”

นับตั้งแต่เปิดตัวแคมเปญหาเสียง คาร์นีย์ได้ให้คำมั่นสัญญาในการควบคุมค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ลงทุนในที่อยู่อาศัยมากขึ้น รวมถึงกำหนดขอบเขตของผู้อพยพย้ายถิ่นชั่วคราว

“ผมรู้ว่าจะจัดการวิกฤติอย่างไร ผมรู้ว่าจะสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งได้อย่างไร” คาร์นีย์ กล่าวระหว่างการโต้วาทีกับผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำพรรคเสรีนิยมคนอื่นๆ เมื่อเดือนที่แล้ว

“ผมมีแผนที่จะคืนเงินให้ชาวแคนาดามากขึ้น แผนที่จะทำให้บริษัทของประเทศแข่งขันได้มากขึ้น แผนที่จะสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งทำงานเพื่อพวกคุณ”

อย่างไรก็ตาม เบแลนด์ชี้ให้เห็นว่า การแข่งขันชิงตำแหน่งผู้นำพรรคเสรีนิยมครั้งนี้ แทบไม่ได้เป็นการพิสูจน์ความสามารถของคาร์นีย์เลย เนื่องจากคู่แข่งคนสำคัญของเขาอย่าง “คริสเทีย ฟรีแลนด์” อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็น “มิตรสหายเก่าแก่” ของเขา โดยทั้งสองต่างหลีกเลี่ยงที่จะไม่เผชิญหน้ากันอย่างดุเดือดตลอดการแข่งขัน

“นั่นไม่ใช่การทดสอบที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง และจะต้องเข้าไปอยู่ในดงเหล่าสิงโต” เบแลนด์ กล่าว โดยอ้างถึงการเลือกตั้งระดับชาติในปีนี้ ซึ่งแม้คาร์นีย์จะได้เป็นผู้นำประเทศ แต่จะต้องเผชิญหน้ากับผู้นำฝ่ายค้านอันดุเดือด เช่น ปิแอร์ ปวยลิเยฟ จากพรรคอนุรักษนิยม และอีฟ-ฟร็องซัวส์ บลองเชต์จากพรรค Bloc Quebecois

อ้างอิง: aljazeerabbcnprapguardiangua

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์