KASM สิงคโปร์ ผูกขาดคอนเสิร์ต (อีกแล้ว) | กันต์ เอี่ยมอินทรา

KASM สิงคโปร์ ผูกขาดคอนเสิร์ต (อีกแล้ว) | กันต์ เอี่ยมอินทรา

KASM สิงคโปร์ ผูกขาดคอนเสิร์ต ดึงเลดี้กาก้า จัดคอนเสิร์ตรวดเดียวในประเทศ และแม้ไทยมีททท. ที่คอยส่งเสริมการท่องเที่ยวและดึง White Lotus ให้เข้ามาถ่ายทำในไทยแทนญี่ปุ่นได้ แต่ขนาดผลลัพธ์และเม็ดเงินที่ได้มายังคงต่างกัน

ทันทีที่ เลดี้กาก้า ศิลปินระดับโลกชาวอเมริกัน ประกาศทัวร์คอนเสิร์ต สิงคโปร์ก็ประกาศจัดคอนเสิร์ตนี้แต่เพียงผู้เดียวในเอเชีย

ทำให้คิดถึงการจัดคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่สิงคโปร์แค่เพียงแห่งเดียวเมื่อปีก่อน ทำให้เกิดดรามาผูกขาดคอนเสิร์ต และการเปิดเผยที่มาของดีลระหว่างสิงคโปร์กับทีมผู้จัดว่ารัฐอาจสนับสนุนเงินช่วยเหลือถึง 2-3 ล้านดอลลาร์ เพื่อแลกมากับการผูกขาดคอนเสิร์ตที่ประมาณเม็ดเงินเข้าประเทศกว่า 2-300 ล้านดอลลาร์

การจัดคอนเสิร์ตหรืองานกีฬาที่เป็นที่นิยมระดับนานาชาตินั้น ถ้าทำให้ดีให้โปร่งใสแล้ว จะพบว่าสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับระบบเศรษฐกิจได้อย่างดี และตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือกรณีคอนเสิร์ตของสวิฟที่สิงคโปร์ เพราะคนไปชมคอนเสิร์ต 300,000 คน ก็ย่อมต้องกินต้องใช้ต้องเดินทาง จึงเกิดเป็นพายุหมุนเงินมหาศาล ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ก็มีให้เห็นเช่นกันในหลายเมืองของสหรัฐที่สวิฟต์เลือกที่จะไปจัดคอนเสิร์ต

และภายใต้ความสำเร็จในครั้งนี้ที่สามารถดึงเลดี้ กาก้ามาแสดงที่สิงคโปร์ได้นั้น ก็เป็นเพราะ KASM ซึ่งทำหน้าที่คล้ายการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ของบ้านเรา ที่ดูแลท่องเที่ยว แต่ KASM นั้นรับผิดชอบด้านการบันเทิงและกีฬา มีหน้าที่ประสานส่งเสริมให้มหกรรมกีฬาหรือการแสดงโชว์ต่างๆในระดับนานาชาติ เลือกสิงคโปร์ ภายใต้ข้อแลกเปลี่ยนเรื่องของการสนับสนุนในรูปแบบเม็ดเงินและอื่นๆจากสิงคโปร์

โยงกลับมาเมืองไทย เรามีหน่วยงานทำนองนี้ที่ทำได้ดีมากในภาคท่องเที่ยวคือ ททท. เรามี BOI และเรายังมีคณะกรรมการอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐ อย่างล่าสุดที่ไทยเราประกาศสนับสนุนเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ใช้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ จนกระทั่งสามารถปิดดีลกับซีรีส์อเมริกันเสียดสีสังคมอย่าง White Lotus ปาดหน้าญี่ปุ่น ซึ่งก็อยู่ในใจแต่เดิมของผู้จัด

นโยบายเชิงรุก (Pro-active) พร้อมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน มีทีมงานและอาวุธสนับสนุนที่เข้มแข็งนี้ จึงทำให้ KASM ดึงคอนเสิร์ตระดับโลกเข้าสิงคโปร์ได้ เช่นเดียวกับ ททท.ที่สามารถดีลกับกองถ่ายภาพยนตร์ต่างๆ แต่ระดับขนาดผลลัพธ์ที่ KASM ทำให้เกิดเม็ดเงินเทียบกับหน่วยงานไทยที่ทำแล้ว ยังนับว่าห่างไกลนัก ไทยเรายังขาดหน่วยงานเชิงรุกในภาคอุตสาหกรรมบันเทิงและกีฬา แบบเดียวกับที่ ททท.ทำให้ภาคท่องเที่ยว ซึ่งสามารถสังเกตได้จากกรณีการเสนอตัวเข้าชิงเป็นผู้จัดรถแข่ง F1 หรือแม้กระทั่งในกรณีการแข่งรถจักรยานยนตร์มอเตอจีพี ที่บุรีรัมย์ ที่ต้องล้วนพึ่งพิงกับไอเดียของรัฐบาลในยุคนั้นๆหรือไม่ก็คอนเนคชั่นทางการเมืองของนักการเมืองท้องถิ่น กระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ยังไม่เห็นผลงานที่ชัดเจน

เม็ดเงินจากงานมหกรรมกีฬาและท่องเที่ยวนี้สามารถทำเม็ดเงินให้กับไทยได้อย่างมหาศาล ซึ่งจะช่วยเติมเต็มเป้าหมายของไทยที่ไม่เพียงแต่อยากได้นักท่องเที่ยวเพิ่ม แต่จะได้นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักตามเป้าในการเพิ่มค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนี่คือหมุดหมายสำคัญที่จะเข้ามาพยุงเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่น่าจะมีความผันผวน อันเนื่องมาจากสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้คือภาพกว้างที่อยากฉายให้เห็นว่าการลงทุนของรัฐในการสนับสนุนอุดหนุนให้เกิดโชว์ มหกรรมกีฬา ภาพยนตร์ในประเทศนอกจากจะได้เม็ดเงินที่เป็นกอบเป็นกำ คุ้มเกินคุ้มแล้ว ในเชิงการตลาดก็จะเกิดผลดีในระยะยาว เช่นเดียวกับในเชิงสังคมที่ประชาชนก็มีความสุข มีแต่ได้กับได้ แต่เราต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น