ไทยฟาด 150 ล้าน ดึง The White Lotus จากญี่ปุ่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา

The White Lotus ซีซัน 3 ที่มาถ่ายทำในไทย ถือเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เนื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวในไทยกำลังเป็นที่พูดถึงในหมู่นักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติมากขึ้น
The White Lotus ซีรีส์อเมริกันเสียดสีสังคมที่กำลังออนแอร์อยู่ตอนนี้ เรียกเสียงชื่นชมทั้งจากคนไทยและต่างประเทศ
ไม่เพียงแต่เสน่ห์เฉพาะตัวที่ซีรีส์มี ซึ่งคือท้องเรื่องที่เสียดสีคนอเมริกันทั้งเศรษฐี ทั้งชนชั้นแรงงาน ที่หลากหลายรูปแบบ การเล่นและล้อกับค่านิยมต่างๆ ในสังคม และจุดไคลแมกซ์ของเรื่องคือการฆาตกรรม โดยมีฉากหลังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม
ทั้งเสียงตอบรับและปรากฏการณ์ซีรีส์เรื่องนี้ที่ได้ออกมาแล้วถึง 2 ซีซัน เรียกได้ว่าดีมาก แต่สิ่งที่ผมอยากจะโฟกัสคือเรื่องของเม็ดเงินที่ซีรีส์นี้ก่อให้เกิดกับระบบเศรษฐกิจที่ซีรีส์ได้ไปถ่ายทำ ซึ่งก็คือฮาวายในซีซันแรก และที่เกาะซิซิลีของอิตาลีในซีซันที่ 2
ที่ฮาวายนั้น ถึงแม้จะเป็นที่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในใจของคนสหรัฐ ซึ่งก็คือผู้ชมหลักของซีรีส์นี้อยู่แต่เดิมแล้ว แต่ก็มีตัวเลขชี้ชัดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 20% ขณะที่ราคาห้องพักของโรงแรมที่ถ่ายทำก็ดีดขึ้นสูงถึง 4 เท่าตัว เช่นเดียวกับซีซัน 2 ที่ซิซิลีที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเช่นกัน และเกิดเม็ดเงินในเกาะประมาณ 1,800 ล้านบาท
และมีความเชื่อว่า ซีซัน 3 ที่ถ่ายทำในไทย (สมุย ภูเก็ต และกรุงเทพฯ) ก็จะทำรายได้ให้ไทยอย่างสมน้ำสมเนื้อ คุ้มกับที่ไทยเราลงทุนเกือบ 150 ล้านบาทเพื่อฉวยโอกาสดึงกองถ่ายให้มาจัดที่ไทยแทนที่ญี่ปุ่น ซึ่งทีมผู้จัดมีแนวโน้มจะเลือกแต่เดิม ซึ่งในขณะนี้จำนวนยอดการจองโรงแรมและราคาต่อห้องก็ได้เพิ่มเรียบร้อยแล้วทันทีที่ซีซันนี้ออกฉาย
ถือเป็นนโยบายที่สมควรปรบมือให้กับรัฐบาลไทย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างประเทศเพื่อมาถ่ายทำในไทย ทั้งการยกเว้นภาษีรายได้บุคคลของดาราและทีมงาน ทั้งการอุดหนุนในรูปแบบเงินคืนที่สูงถึง 20% ของค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำ ไม่รวมการให้เปล่า อาทิ ที่พัก อาหาร และการอำนวยความสะดวกอื่นๆ อาทิ การเดินทาง ซึ่งรัฐไทยเป็นตัวกลางช่วยคุยกับเอกชนเพื่อเสนอแพ็กเกจที่ล่อตาล่อใจยิ่งขึ้น
ถือเป็นความสำเร็จของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่สมควรได้รับคำชมที่สามารถดึงกองถ่าย The White Lotus มาที่เมืองไทยได้ เพราะนอกจากตัวเลขที่จับต้องได้อาทิ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เม็ดเงินทางเศรษฐกิจทั้งระหว่างและหลังถ่าย ยังมีสิ่งที่จับต้องได้ยาก ที่ขณะนี้ฮิตเรียกว่า “soft power” ที่อาจจะสามารถจุดเป็นกระแสต่อไป
ทั้งเรื่องของอาหาร วัฒนธรรม อุตสาหกรรมสปาและนวดแผนไทย ที่ทางซีรีส์นี้ให้ความสำคัญกับรายละเอียดภายหน้าฉากหลังคือความหรูหราของโรงแรม ร้านอาหาร สปา และธรรมชาติที่สวยงามของประเทศ ซึ่งถ้าดูเพียงผิวเผินอาจจะถูกมองว่า เม็ดเงินก็อาจจะไม่ได้กระจายตัวเท่าไหร่ คงกระจุกอยู่แต่ในเฉพาะโรงแรมหรูที่ถ่ายทำเท่านั้น
ซึ่งคำตอบต่อข้อห่วงใยนี้ ก็คือ ถูกส่วนหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่าแท้จริงแล้วเม็ดเงินในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นไม่ได้เพียงมาจากกลุ่มคนรวยที่สามารถพักโรงแรมหรูเท่านั้น เม็ดเงินจากคนชนชั้นกลางที่อยากสัมผัสและเกาะกระแสแต่ไม่สามารถพักในโรงแรมหรูเหล่านั้นมีจำนวนมากกว่าอย่างมหาศาล ซึ่งคือหลักการ (ทางการตลาด) เดียวกันกับสินค้าหรูหรา ที่ถึงจะแพงปานใด ก็จะมีสินค้าอย่างน้อย 1 ชิ้นให้คนส่วนใหญ่จับต้องสามารถซื้อหามาใช้ได้
และฉบับหน้าผมจะมาเล่าต่อ ชี้ให้เห็นถึงภาพกว้างและจุดหมายปลายทางที่ ททท.ยอมลงทุนถึง 150 ล้านเพื่อชิงโอกาสให้ White Lotus มาถ่ายที่ไทยได้