เปิดเบื้องลึกดีลล่ม และแรงบีบที่ 'ฮอนด้า' ไม่เอา 'ซีอีโอนิสสัน'

เปิดเบื้องลึกดีลล่ม และแรงบีบที่ 'ฮอนด้า' ไม่เอา 'ซีอีโอนิสสัน'

'ฮอนด้า - นิสสัน' ดีลล่ม เมื่อความไม่ไว้วางใจกันนำมาซึ่งจุดแตกหัก ฝั่งหนึ่งปรับโครงสร้างช้า อีกฝั่งเสนอยาแรงลบชื่อนิสสัน ล่าสุดฮอนด้าแย้มพร้อมคุยต่อถ้าซีอีโอลาออก

หลังมีการประกาศ "ดีลล่ม" อย่างเป็นทางการเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว หนึ่งวันก่อนวันวาเลนไทน์ระหว่าง "ฮอนด้า มอเตอร์" (Honda) และ "นิสสัน มอเตอร์" (Nissan) หลายฝ่ายต่างก็ตั้งคำถามว่าอะไรเป็นสาเหตุของดีลล่ม และนิสสันที่อยู่ในฐานะเพลี่ยงพล้ำต้องการความช่วยเหลือมากกว่าอีกฝ่าย จะเดินหน้าไปอย่างไรต่อ 

นิกเคอิเอเชียรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า ประเด็นใหญ่ที่สุดที่ทำให้ดีลนี้ล่มคือ “ความไม่ไว้วางใจกันและกัน” กับการที่ฮอนด้าจะลบชื่อของนิสสันของชื่อของบริษัทโฮลดิ้งใหม่ที่จะตั้งร่วมกัน และลดสถานะของนิสสันเป็นเพียงบริษัทลูกในเครือของฮอนด้า

ผู้บริหารของนิสสันทั้งแสดงความประหลาดใจ และไม่พอใจเมื่อฮอนด้าเสนอชื่อของบริษัทโฮลดิ้งใหม่ว่า “Honda Corporation” โดยที่ไม่มีชื่อของนิสสันอยู่ในนั้นด้วย โดยทางค่ายรถเบอร์สองในญี่ปุ่นมองว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้ ไม่น่าจะเป็นการควบรวมที่เท่าเทียมกัน

การมองในมุมที่ต่างกันสะท้อนอย่างชัดเจนตั้งแต่การแถลงข่าวเซ็นเอ็มโอยู ประกาศแผนการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งร่วมกันเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ในแถลงการณ์ร่วมครั้งนั้น ฮอนด้าจะเป็นผู้เสนอชื่อประธานบริษัทโฮลดิ้ง รวมถึงกรรมการส่วนใหญ่ทั้งภายใน และภายนอก เห็นได้ชัดถึงความเป็นผู้นำการเจรจาครั้งนี้ อีกทั้ง โทชิฮิโระ มิเบะ ประธานและซีอีโอของฮอนด้า ยังย้ำในการแถลงข่าวว่าการควบรวมกิจการ “จะต้องยึดตามหลักการที่ว่านิสสันจะดำเนินตามแผนปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง”

นิสสันได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ในเดือนพ.ย.ว่า จะเลิกจ้างพนักงาน 9,000 คน หรือ 7% ของพนักงานทั่วโลก และลดกำลังการผลิตทั่วโลกลง 20% แต่ซีอีโอฮอนด้ากลับไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ จึงกำหนดเส้นตายสำหรับการตัดสินใจว่าทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการเจรจาควบรวมกิจการต่อไปหรือไม่ภายในสิ้นเดือนม.ค.2568

ทางฝั่งฮอนด้าเกรงว่าหากเดินหน้าควบรวมกิจการโดยไม่มีการแก้ปัญหาพื้นฐานของนิสสันเรื่องผลการดำเนินงานที่ย่ำแย่ ก็จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าองค์กรของบริษัทโฮลดิ้งใหม่นี้ในอนาคต และจะทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้ถือหุ้นของฮอนด้าเองด้วย

เปิดเบื้องลึกดีลล่ม และแรงบีบที่ \'ฮอนด้า\' ไม่เอา \'ซีอีโอนิสสัน\'

ปัญหาการมองต่างในเรื่องนี้สะท้อนผ่านถ้อยแถลงของซีอีโอนิสสันเช่นกัน โดยในการแถลงข่าวร่วมครั้งนั้น มาโกโตะ อุชิดะ ได้เน้นย้ำถึงเรื่อง “ความเท่าเทียมกัน” ในแผนควบรวมกิจการ แต่ฝั่งฮอนด้านั้นเกรงว่าการย้ำมากเกินไปในเรื่องความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน อาจส่งผลให้มีการตัดสินใจที่ไม่เข้มงวดพอ เกี่ยวกับความพยายามในการปรับโครงสร้างองค์กร

แหล่งข่าวระบุว่า ความกังวลของฮอนด้าเริ่มเป็นจริงมากขึ้นในเดือนม.ค. เมื่อทั้งสองบริษัทมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับ “อัตราส่วนการถือหุ้นในบริษัทใหม่” ตามเอ็มโอยูที่ลงนามเมื่อเดือนธ.ค. อัตราการโอนหุ้นจะขึ้นอยู่กับผลของการทำ due diligence หรือการสอบทานธุรกิจที่ประเมินมูลค่าโดยบุคคลที่สาม ซึ่งจากข้อมูลที่นิกเคอิได้รับคือ อัตราส่วนระหว่างฮอนด้ากับนิสสันน่าจะเริ่มต้นที่ประมาณ 5 ต่อ 1

ฮอนด้าพยายามดำเนินการเจรจาโดยยึดตามตัวเลขดังกล่าว แต่นิสสันวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นตัวเลขที่ฮอนด้าได้เปรียบ อย่างไรก็ตาม จากแหล่งข่าวใกล้ชิดกับการเจรจาเปิดเผยว่า ทางฮอนด้าไม่เคยกล่าวว่า การควบรวมกิจการจะเท่าเทียมกัน

ขณะเดียวกัน นิสสันไม่สามารถสรุปแผนการลดจำนวนพนักงานในสหรัฐและที่อื่นๆ ได้ เนื่องจากถูกคัดค้านจากพนักงาน โดยไม่สามารถนำเสนอตัวเลขที่ละเอียดเกี่ยวกับแผนปรับโครงสร้างได้ แม้ว่าฮอนด้าจะขอตัวเลขดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ไม่สามารถเริ่มขั้นตอนการทำ due diligence ได้ แม้แต่ธนาคารมิซูโฮ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่ของนิสสันก็เร่งขอความชัดเจนเรื่องแผนปรับโครงสร้าง แต่ก็ไม่คืบหน้าเช่นกัน

เปิดเบื้องลึกดีลล่ม และแรงบีบที่ \'ฮอนด้า\' ไม่เอา \'ซีอีโอนิสสัน\'

“จุดแตกหักที่แท้จริง” อาจอยู่ที่การประชุมร่วมของผู้บริหารทั้งสองบริษัทในวันที่ 23 ม.ค. ที่สำนักงานใหญ่ของนิสสันในโยโกฮามา เมื่อซีอีโอของฮอนด้าเริ่มใจร้อนกับความไม่เด็ดขาดของนิสสัน และเสนอโครงสร้างใหม่แก่อุชิดะโดยให้ฮอนด้าเป็นบริษัทแม่ และนิสสันเป็นบริษัทลูกผ่านการแลกเปลี่ยนหุ้น

เรื่องนี้ทำให้อุชิดะประหลาดใจมาก เพราะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอเดิม และไม่มีการอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับทางเลือกนี้ แต่ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผู้บริหารของนิสสันตื่นตระหนก นอกจากนี้ ฮอนด้ายังเสนอชื่อบริษัทโฮลดิ้งใหม่โดยไม่มีคำว่า “นิสสัน” ด้วย

สิ่งที่น่าตระหนกไม่แพ้กันก็คือ ฮอนด้ายังนำเสนอตัวเลขที่น่าตกใจเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างใหม่ของนิสสัน “โดยชี้ให้เห็นความจำเป็นที่ต้องลดพนักงานเกือบ 40,000 คน จากพนักงานทั้งหมด 130,000 คนทั่วโลก” หรือมากกว่า 4 เท่าจากที่นิสสันประกาศเลย์ออฟไป

ตัวเลขเหล่านี้อ้างอิงจากการประมาณการของบริษัทที่ปรึกษาซึ่งได้รับมอบหมายให้ประเมินเรื่องการปรับโครงสร้างของนิสสันเพื่อดีลควบรวมกิจการ แต่ทางนิสสันมองว่าข้อเสนอนี้เป็นเหมือนการถูกกดดันให้ต้องยกเครื่องธุรกิจครั้งใหญ่

เรื่องนี้เองที่ทำให้การเจรจาควบรวมกิจการเข้าสู่ทางตัน และเมื่อต้นเดือนก.พ. ฮอนด้าก็กดดันให้นิสสันยอมรับโครงสร้างบริษัทย่อย เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการยุติการเจรจาควบรวมกิจการกัน

ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ก.พ. กรรมการของนิสสันได้แสดงความไม่พอใจมากมาย แม้ว่าจะไม่ได้ลงคะแนนเสียงในการประชุมครั้งนี้ แต่กรรมการ 10 คนจากทั้งหมด 12 คนได้แสดงการสนับสนุนให้ถอนตัวจากการเจรจาควบรวมกิจการ

 “ความไม่ไว้วางใจที่ฮอนด้า และนิสสันมีต่อกัน” ส่งผลให้ไม่สามารถสร้างบริษัทรถยนต์รายใหญ่แห่งใหม่ของโลกได้ และทำให้หนทางของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่จะจับมือกันสู้ในเวทีโลกที่กำลังแข่งขันดุเดือดยังต้องคลุมเครือต่อไป

ฮอนด้าแย้มพร้อมคุยใหม่ถ้าซีอีโอนิสสันลาออก

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานอ้างแหล่งข่าววงในรายหนึ่งว่า ฮอนด้าพร้อมจะกลับมาเจรจาเรื่องการควบรวมกิจการเป็นบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลกอีกครั้ง หาก "มาโกโตะ อุชิดะ" ซีอีโอของนิสสันลาออก

เปิดเบื้องลึกดีลล่ม และแรงบีบที่ \'ฮอนด้า\' ไม่เอา \'ซีอีโอนิสสัน\'

รายงานของไฟแนนเชียลไทมส์ ระบุว่า ฮอนด้าพร้อมจะกลับมาเจรจาอีกครั้งภายใต้การนำของซีอีโอนิสสันคนใหม่ "ที่สามารถบริหารจัดการความขัดแย้งภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม"

ก่อนหน้านี้ อุชิดะเคยแสดงความตั้งใจที่จะดำรงตำแหน่งซีอีโอไปจนถึงปี 2569 แต่ล่าสุดเขากำลังเผชิญแรงกดดันทั้งจากบอร์ดบริษัทและจากพันธมิตรอย่างเรโนลต์ (Renault) ให้ก้าวลงจากตำแหน่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หลังจากที่เขาประสบความล้มเหลวในการเจรจาดีลควบรวมกิจการมูลค่า 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์

รายงานระบุว่า คณะกรรมการบริษัทนิสสันได้เริ่มหารือกันอย่างไม่เป็นทางการถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการวางมือของอุชิดะแล้ว

 

ที่มา: Nikkei Asia, Financial Times

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์