‘อิทธิพลสหรัฐ’ อาจตายไปกับ USAID เปิดทาง ‘จีน’ ขยายอำนาจในอาเซียน

‘อิทธิพลสหรัฐ’ อาจตายไปกับ USAID เปิดทาง ‘จีน’ ขยายอำนาจในอาเซียน

‘อิทธิพลสหรัฐ’ อาจตายไปกับหน่วยงาน USAID เนื่องจากทรัมป์กำลังระงับการให้เงินช่วยเหลือต่างประเทศ และจ่อยุบหน่วยงานดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญคาดจะเป็นการเปิดทาง ให้ "จีน" ขยายอำนาจในอาเซียนมากขึ้น ผ่านโครงการช่วยเหลือต่างๆ ในภูมิภาค

ขณะที่สหรัฐยุติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิเคราะห์มองว่า “จีน” ซึ่งเป็นคู่แข่งของสหรัฐ อาจคว้าโอกาสนี้ขยายอิทธิพลในภูมิภาคที่จีนเองก็ลงทุนและให้ความช่วยเหลือโดยตรงไปหลายพันล้านดอลลาร์

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการมาแล้วราว 3 สัปดาห์ รัฐบาลวอชิงตันได้ระงับความช่วยเหลือระหว่างประเทศเกือบทั้งหมด และเตรียมปิดสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) ที่มีมายาวนาน และเป็นซอฟต์พาวเวอร์สำคัญของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี 2567 USAID หน่วยงานที่บริจาคเงินช่วยเหลือต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ใช้จ่ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงแห่งเดียวสูงถึง 860 ล้านดอลลาร์ โดยให้เงินสนับสนุนโครงการต่างๆ ตั้งแต่การรักษา HIV ไปจนถึงการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการปกครองท้องถิ่น

แต่หลายโครงการที่สหรัฐสนับสนุนผ่านองค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGO) ในขณะนี้ เผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน เนื่องจากรัฐบาลทรัมป์ถอนความช่วยเหลือของสหรัฐออกจากเวทีโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน “อเมริกาต้องมาก่อน” (America first)

อย่างไรก็ดี หยาน จงหวง นักวิชาการอาวุโสจากองค์กรสุขภาพระดับโลก Council on Foreign Relations บอกว่า สำหรับรัฐบาลปักกิ่งแล้ว สถานการณ์นี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จีนจะได้เข้ามามีบทบาท

“การระงับโครงการด้านสุขภาพ การศึกษา และโครงการด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์สหรัฐ อาจสร้างสุญญากาศที่เปิดให้จีนเข้าไปเติมเต็มได้” หวงกล่าวกับอัลจาซีรา และว่า การถอยทัพเชิงยุทศาสตร์ของสหรัฐ อาจเสริมแกร่งอิทธิพลจีนทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศผู้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐในปัจจุบัน ทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา และกัมพูชา

ขณะที่รัฐบาลทรัมป์สร้างประเด็นร้อนจากความเคลื่อนไหวที่ต้องการยุบ USAID รัฐบาลปักกิ่งก็ได้สร้างข่าวด้วยการประกาศให้เงินสนับสนุนโครงการกำจัดทุ่นระเบิดในกัมพูชา 4.4 ล้านดอลลาร์ ที่รัฐบาลสหรัฐทิ้งไป

เฮง รัตนา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดกัมพูชา เผยกับหนังสือพิมพ์ Khmer Times ว่า ความช่วยเหลือจากจีนจะช่วยองค์กรเคลียร์พื้นที่ระเบิดได้มากกว่า 3,400 เฮกตาร์ (ราว 21,250 ไร่)

ด้านสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐ กัมพูชา และไทย ยังไม่ตอบกลับคำขอแสดงความเห็นของอัลจาซีรา

โจชัว คูร์ลันซิค นักวิชาการอาวุโสฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ จาก Council on Foreign Relations บอกว่า การล่มสลายของ USAID เกิดขึ้นในขณะที่อิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคเริ่มลดลง และจีนกำลังยกระดับการทูตสาธารณะมากขึ้น ซึ่งคูร์ลันซิคคาดว่ารัฐบาลปักกิ่งจะเพิ่มความช่วยเหลือและการลงทุนในพื้นที่หลายส่วนของโลกที่กำลังพัฒนา

คูร์ลันซิคเผยด้วยว่า บรรดาผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างกังวลเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายที่แสนวุ่นวายของสหรัฐ โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ที่สหรัฐให้ความสำคัญด้านความช่วยเหลือและความปลอดภัยเป็นอย่างมาก

จีนกำลังขยายอิทธิพลในอาเซียนมากขึ้น

ขณะที่อนาคตโครงการ USAID หลายโครงการจะยังไม่แน่นอนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทางกลับกัน นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า จีนกำลังทำโครงการที่เน้นเรื่องการเมืองหรืออุดมการณ์มากขึ้นกับพันธมิตรอื่นหรือภูมิภาคอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น หรือโครงการพัฒนาเอเชีย ซึ่งเป็นธนาคารพัฒนาภูมิภาคที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

จอห์น กอง อาจารย์สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธุรกิจระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์ในกรุงปักกิ่ง บอกว่า โครงการความช่วยเหลือระหว่างประเทศ หรือโครงการเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศที่มีอยู่ของจีน ค่อนข้างเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีความแตกต่างจากโครงการของสหรัฐที่เน้นโครงการด้านอุดมการณ์ ประชาธิปไตย LGBTQ ความหลากหลาย ความครอบคลุม สภาพอากาศ ฯลฯ

"ผมไม่คิดว่ารัฐบาลจีนจะพยายามแข่งขันกับวอชิงตันในเรื่องนี้” กอง กล่าว

ความช่วยเหลือต่างประเทศของจีนมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานตามแผนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่เป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเรือธงของจีน ซึ่งคาดว่ามีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนโครงการอื่นๆ อาทิ เรือโรงพยาบาลพีซอาร์ก เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์

ด้านเกรซ ​​สแตนโฮป ผู้ช่วยวิจัยศูนย์พัฒนาอินโด-แปซิฟิกของสถาบันโลวี (Lowy Institute) กล่าวว่า

ความช่วยเหลือของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมด หรือราว 85% อยู่ในรูปแบบเงินกู้ที่เน้นด้านพลังงานและการขนส่ง

สแตนโฮปเผยว่า แนวทางที่เน้นโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลักของรัฐบาลปักกิ่งทำให้จีนมีบทบาทที่โดดเด่นในภูมิภาคนี้ แม้ไม่ได้รับความนิยมเสมอไป เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความล่าช้าและใช้งบประมาณมหาศาล เช่น โครงการเส้นทางรถไฟเชื่อมชายฝั่งตะวันออกในมาเลเซีย และโครงการรถไฟความเร็วสูง จาการ์ตา-บันดุง ในอินโดนีเซีย

ขณะที่นักวิจารณ์บางคนมองว่า โครงการดังกล่าวหรือโครงการอื่นๆเป็น การทูตกับดักหนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างการพึ่งพาจีน ซึ่งรัฐบาลจีนปฏิเสธข้อกล่าวนี้

ผลสำรวจโดยสถาบันอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค ในสิงคโปร์ เมื่อปีก่อนพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 59.5% จากชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ เลือกจีนเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลมากที่สุดในภูมิภาค

ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 50% แสดงความไม่เชื่อมั่นต่อจีน ขณะที่ 45.5% กังวลว่า จีนอาจคุกคามเศรษฐกิจและการทหารของประเทศ ส่วนญี่ปุ่นเป็นประเทศมหาอำนาจที่น่าไว้ใจ้มากที่สุดสำหรับภูมิภาคนี้ รองลงมาเป็นสหรัฐ และอียู

โจแอนน์ หลิน นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค มองว่า แม้จีนเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ขณะเดียวกันจีนก็พยายามเปลี่ยนแนวทางการให้ความช่วยเหลือสู่ความช่วยเหลือที่มีขนาดเล็กลงมาบ้าง เช่น ความช่วยเหลือด้านสุขภาพ การเกษตร และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล แต่ก็ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นอยู่กับความสามารถทางเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากประเทศเผชิญอุปสรรคมากมาย เช่น เศรษฐกิจชะลอตัว และความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ อาจจำกัดขีดความสามารถในการเข้าไปแทนที่บทบาทให้ความช่วยเหลือของสหรัฐ

หลิน เผยด้วยว่า ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พึงพอใจกับแนวทางช่วยเหลือต่างประเทศที่มีความหลากหลาย และความช่วยเหลือด้านการพัฒนาที่ไม่ได้พึ่งพาผู้บริจาคเพียงรายเดียว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือจีน

 

‘เศรษฐกิจ’ ปัจจัยหลักฉุดการขยายอิทธิพลของจีน

แม้จีนมีอิทธิพลมากในภูมิภาคเห่งนี้ แต่จีนกลับลดระดับการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา โดยจีนร่วงสู่ผู้บริจาครายใหญ่อันดับที่ 4 ในภูมิภาค หลังจากเป็นผู้บริจาคให้กับภูมิภาคนี้มากที่สุดในระหว่างปี 2558-2562 ส่วนยอดเงินทุนก็ลดลงจากระดับ 10,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2560 สู่ระดับ 3,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2565

สตีฟ บัลลา รองศาสตราจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน บอกว่า ตัวเลขที่ลดลงมากจากอุปสรรคภายในบ้าน เช่น ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และอัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวชาวจีนที่สูงขึ้น จึงต้องจำกัดงบประมาณช่วยเหลือในต่างประเทศ

ด้านเบธานี อัลเลน หัวหน้าโครงการสืบสวนและวิเคราะห์จีน จากสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย แสดงความคิดเห็นในทำนองเดียวกันว่า

"จีนกำลังใช้ประโยชน์จากการที่สหรัฐถอนตัวออกจากการมีส่วนร่วม ตั้งแต่ทรัมป์เป็นปธน.สมัยแรกด้วยการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การทูต และวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโครงการริเริ่มต่างๆ เช่น โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ขงจื๊อ และกลไกความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง เป็นเครื่องมือสำหรับการขยายซอฟต์พาวเวอร์” 

อัลเลนกล่าวโดยอ้างถึงโครงการระดับโลกที่ส่งเสริมการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีน และฟอรัมที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีนและอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง

“อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีน ส่งผลให้โครงการ BRI ล่าช้า และทำให้โครงการซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศอาจไม่รุกคืบเท่าช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความกังวลเรื่องหนี้และการต่อต้านอิทธิพลของจีน (ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย) ยังจำกัดความน่าดึงดูดใจของโครงการนี้ด้วย” เธอกล่าว

 

อ้างอิง: Al Jazeera