กระแสคลั่งไคล้สัตว์เซเลบ ช่วยอนุรักษ์หรือสวนสัตว์ได้เงิน

กระแสคลั่งไคล้สัตว์เซเลบ ช่วยอนุรักษ์หรือสวนสัตว์ได้เงิน

สวนสัตว์หรือสวนน้ำเลี้ยงสัตว์ไว้มากมายหลายตัว หากตัวใดตัวหนึ่งโด่งดังกลายเป็นไวรัล นับว่าเป็นสิ่งดีที่สุดที่สวนสัตว์หลายแห่งอยากให้เกิดขึ้น

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นยกตัวอย่างกรณี หมูเด้ง ฮิปโปแคระ ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ของไทยที่ผู้คนยอมต่อคิวยาวหลายชั่วโมง เพราะความดังจับใจชาวเน็ตนับตั้งแต่ลืมตาดูโลกเมื่อเดือน ก.ค.2024 ตอนนี้เจ้าสัตว์สุดเปรี้ยวกลายเป็นแบรนด์สินค้าไปแล้ว สวนสัตว์เปิดเขาเขียวขายสินค้านานาชนิดภายใต้แบรนด์ “หมูเด้ง” ทั้งยังมี “ซิงเกิล” เพลงขับร้องโดยหมูเด้งในหลายๆ ภาษาอีกด้วย

เช่นเดียวกับเจ้าเพสโต ลูกคิงเพนกวินจอมเขมือบที่มีอายุเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็กินปลามากกว่าพ่อแม่ของมันเสียอีก เพสโตเป็นเซเลบริตีออนไลน์อีกหนึ่งตัวที่ดาราดังอย่างโอลิเวีย โรดริโก และเคที เพอร์รี ยังต้องมาชม

แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพวกมันเติบโตแล้วไม่น่ารักมากเหมือนเก่า สวนน้ำซีไลฟ์เมลเบิร์นได้วางแผนจัดการชีวิตในเฟสต่อไปของเจ้าเพสโตไว้แล้ว พร้อมตอบคำถามจากสาธารณชนถึงรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของมัน

เป็นเรื่องปกติของคิงเพนกวินที่จะขนร่วงเมื่อเติบโต เมื่อพวกมันอายุราวหนึ่งปีจะกลายเป็นนักว่ายน้ำผู้มาดมั่น ส่งผลให้ผู้มาเยือนเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมเจ้าเพสโตถึงดูแปลกออกไป หรือมันไปอยู่ที่ไหน ทำไมหาไม่เจอ

“หลายคนคิดว่าเราย้ายมันออกไปแล้ว ทีมงานเลยต้องใช้เวลาส่วนใหญ่คอยชี้ให้แขกดูว่าตัวไหนคือเพสโตเพราะตอนนี้มันไม่เหมือนเดิม” โฆษกสวนน้ำชี้แจง

ประเด็นสำคัญคือลูกสัตว์น่ารักเป็นตัวทำเงิน ค่าตั๋วเข้าชมเป็นเพียงจุดเริ่มต้น สวนสัตว์หรือสวนน้ำหลายแห่งเสนอแพ็คเกจพิเศษชม “เบื้องหลัง” หรือ “เป็นคนเลี้ยงสัตว์หนึ่งวัน” ซึ่งราคาแพงขึ้นอีกมาก

ค่าเข้าชมมาตรฐานของสวนน้ำซีไลฟ์เมลเบิร์นผู้ใหญ่เริ่มต้นที่ 51 ดอลลาร์ ขณะที่พาสสปอร์ตเพนกวิน รวมการเข้าชมรังเพนกวินและการเตรียมอาหารให้พวกมันระยะเวลา ราคา 199 ดอลลาร์

แต่ไม้เด็ดอยู่ที่สินค้าจำพวกตุ๊กตาสัตว์ เสื้อยืด แม่เหล็กติดตู้เย็น พวงกุญแจ หนังสือเด็ก และสินค้าอื่นๆ เป็นตัวทำเงินหลักให้สวนสัตว์และสวนน้ำ

ตัวแทนซีไลฟ์เมลเบิร์นยืนยันกับซีเอ็นเอ็นว่า ความต้องการตุ๊กตาเพนกวินจากความดังของเพสโตสูงมากจนสวนน้ำต้อง “ดึงสต็อกสินค้าจากทั่วโลก” เพื่อให้ทันกับความต้องการ

นีล คาร์ อาจารย์จากภาควิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยโอตาโกของนิวซีแลนด์ ไม่ได้แปลกใจกับปรากฏการณ์นี้

“สวนสัตว์เป็นธุรกิจบันเทิง ผู้มาเยือนไม่ใช่แหล่ง (รายได้) เดียว ตอนนี้การจะออกจากสวนสัตว์หรือสวนน้ำทั่วโลกคุณต้องผ่านร้านค้า” คาร์กล่าวพร้อมแจงให้เห็นถึง “หน้าบ้าน” และ “หลังบ้าน” ของสวนสัตว์ หน้าบ้านคือสิ่งที่ผู้มาเยือนเห็น ส่วนหลังบ้านคืองานทุกอย่างที่ทีมงานทำอยู่เบื้องหลัง ตั้งแต่ดูแลสัตว์ป่วยไปจนถึงทำความสะอาดมูลของพวกมัน

แม้ผู้เยี่ยมชมที่สนใจการศึกษาหรือการอนุรักษ์อาจคิดว่าการซื้อทัวร์ชมเบื้องหลังเป็นเรื่องดี แต่คาร์เชื่อว่า นี่คือการโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบหนึ่ง

“ทันทีที่เริ่มมีคนเข้ามามาก คุณก็เปลี่ยนมันเป็นการแสดงอีกรูปแบบหนึ่ง มันเป็นแค่วิธีการหาเงิน งานสงวนและอนุรักษ์จริงๆ ของสวนสัตว์ต้องทำในที่ที่ไม่เปิดให้คนเข้าดู เพราะเป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งคืนสู่ป่า” นักวิชาการจากนิวซีแลนด์ให้ความเห็น

เมื่อสัตว์กลายเป็นแบรนด์

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่ใช้สัตว์เป็นตัวดึงดูดหลายแห่ง สัตว์ตัวเดียวที่กลายเป็นไวรัลสามารถทำรายได้ให้อย่างมหาศาล ในทัศนะของคาร์มีไม่กี่อย่างที่ดึงคนดูและทำเงินให้สวนสัตว์ได้มากกว่าลูกแพนด้า

โอเชียนปาร์ก สวนสนุก สวนสัตว์ และสวนน้ำในฮ่องกงรู้เรื่องนี้ดี เจ้าหยิงหยิง แพนด้าตัวเมียอาวุโสสุดของสวนสัตว์เพิ่งออกลูกแฝดในเดือน พ.ย.2024 สร้างกระแสคลั่งไคล้แพนด้าในฮ่องกงขึ้นมาทันที

โอเชียนปาร์กตอบรับความหลงใหลแพนด้า ด้วยการแชร์ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับฝาแฝด (ตัวผู้กับตัวเมีย) ผ่านทางโซเชียลมีเดีย เผยแพร่ภาพที่เจ้าหน้าที่่ถ่ายเอาไว้ วิธีนี้ช่วยให้ผู้คนมีส่วนร่วมและสนใจกับแพนด้าแฝด ที่มีกำหนดเปิดตัวในวันที่ 16 ก.พ.

แฟรงคลิน ลอว์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดโอเชียนปาร์ก เรียกแพนด้าว่าไอพี (ทรัพย์สินทางปัญญา) คำๆ นี้มักใช้กับคนดังในวัฒนธรรมป็อป เช่น ซูเปอร์ฮีโรของมาร์เวล หรือตัวละครในสตาร์วอร์ส สวนสัตว์และสวนน้ำนำศัพท์คำนี้มาใช้ในยุคโซเชียลมีเดีย

ลอว์กล่าวว่า การให้การศึกษาผู้มาเยือนเพิ่มเติมเกี่ยวกับบุคลิกที่แตกต่างกันของสัตว์ในโอเชียนปาร์ก พวกเขาก็สามารถ “เชื่อมโยงตัวเองกับแพนด้าแต่ละตัวได้” เหมือนกับที่พวกเขาทำกับสมาชิกคนโปรดในวงดนตรี

“การเชื่อมต่อทางอารมณ์ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจริงๆ เพราะแขกรู้จักแพนด้ามาตั้งแต่พวกมันยังเด็ก ความรู้สึกผูกพันพัฒนามาเรื่อยๆ” ลอว์กล่าว

ด้านบอร์นฟรี กลุ่มสิทธิสัตว์ที่มีฐานปฏิบัติการในสหราชอาณาจักร มองว่า การที่สัตว์โด่งดังเป็นไวรัลนั้นเป็นอันตราย

“จำนวนสินค้าที่ขายได้ ยอดขายตั๋วที่เพิ่มขึ้น ยอดวิวบนโซเชียลมีเดีย และความสนใจจากเหล่าคนดังให้ประโยชน์อย่างมากกับสวนสัตว์ ขณะที่สัตว์แต่ละตัวยังคงอยู่ในกรงขัง แทบไม่มีหรือไม่มีโอกาสได้กลับไปสู่ป่าธรรมชาติเลย ความ 'ไวรัล' อาจย้ายไปที่อื่น โดยที่สัตว์เหล่านี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ที่เดิมตลอดชีวิตหลังชื่อเสียงชั่วครู่ชั่วยามเลือนหายไป” 

“แทนที่จะมาเที่ยวสวนสัตว์เพื่อดูสัตว์ป่า ‘โด่งดัง’ บอร์นฟรีขอให้ผู้ที่สนใจสัตว์เหล่านี้ เรียนรู้และสนับสนุนการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่ของพวกมันในป่า และสนับสนุนการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ในกรง เพื่อว่าในอนาคตจะไม่มีสัตว์ป่าถูกเลี้ยงในสวนสัตว์อีก” บอร์นฟรีเคยระบุไว้ในเอกสารแถลงข่าวเมื่อเดือน ต.ค.2024

โดมิโนเอฟเฟค

ทั้งโอเชียนพาร์กและซีไลฟ์เมลเบิร์นต่างหวังว่านักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาดูสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งจะอยู่นานขึ้นแล้วไปชมสัตว์ตัวอื่น ชมนิทรรศการ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ

อาจารย์ด้านการท่องเที่ยวอย่างคาร์ชี้ว่า งานยากอยู่ที่การขายสัตว์ที่น่ารักน้อยกว่าแต่ต้องการทรัพยากรในการอนุรักษ์เช่นกัน

ด้านตัวแทนซีไลฟ์ระบุ “เราไม่ได้เน้นการโปรโมตสัตว์แต่ละตัว แต่เน้นแบ่งปันเรื่องราวน่าตื่นตาตื่นใจตอกย้ำความสำคัญของงานที่เราทำในฐานะสวนน้ำ เรื่องราวของเพสโตจับใจผู้คนทั่วโลกอย่างลึกซึ้ง แต่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของเรื่องราวดีๆ ส่งผลบวกที่เราได้แชร์ออกไป”

ว่าแล้วซีไลฟ์ก็ยังคงแชร์วีดิโองานวันเกิดหนึ่งขวบของเจ้าเพสโตบนอินสตาแกรมต่อไป