‘ประตูโยะเมะอิมง’ แห่งเมืองนิกโก ชมความงามไม่สมบูรณ์แบบ | World Wide View

ท่องเที่ยวเมืองกิดโก ชม ‘ประตูโยะเมะอิมง’ แห่งเมืองนิกโก ความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ สะท้อนความเชื่อญี่ปุ่น ไม่ได้มองความสมบูรณ์แบบเป็นเรื่องดีเสียทีเดียว
เมืองนิกโก (Nikko) มีชื่อเสียงในฐานะเมืองมรดกโลกของ UNESCO ตั้งอยู่ในจังหวัดโทจิงิ ประเทศญี่ปุ่น ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางทิศเหนือประมาณ 140 กิโลเมตร เมืองนิกโกมีขนาดเล็ก ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเป็นที่สถิตของเทพเจ้าและดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาชินโต
หนึ่งในสถานที่ควรค่าแก่การเยี่ยมชมในเมืองนิกโก คือ ศาลเจ้าโทโชกู (Toshogu Shrine) ซึ่งเป็นสุสานของโทกุกาวา อิเอะยาสุ (Tokugawa Ieyasu) ปฐมโชกุนแห่งตระกูลโทกุกาวา (โชกุนคือตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ผู้สถาปนาระบอบโชกุนในยุคเอโดะที่มีอำนาจปกครองญี่ปุ่นยาวนานถึง 265 ปี (ค.ศ. 1603 – 1868) ศาลเจ้าโทโชกูเปิดให้ทุกคนสามารถเดินทางมาสักการะดวงวิญญาณของโชกุนโทกุกาวา ซึ่งชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าท่านยังคงเฝ้าดูลูกหลานและทำหน้าที่ปกปักรักษาบ้านเมืองอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน
การก่อสร้างศาลเจ้าโทโชกูใช้เวลาไม่นานก็แล้วเสร็จ ด้วยอาศัยแรงและทักษะของยอดช่างฝีมือจากทั่วญี่ปุ่นในเวลานั้น รวมกว่า 127,000 คน ในบรรดาสิ่งก่อสร้างทรงคุณค่าในบริเวณศาลเจ้าโทโชกู “ประตูโยะเมะอิมง (Yomeimon Gate)” น่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็นมากที่สุด
ประตูโยะเมะอิมงเป็นผลงานชิ้นเอกทางสถาปัตยกรรม ได้รับการขนานนามว่าเป็นประตูที่งดงามที่สุดในญี่ปุ่น ทำจากไม้แกะสลักประดับด้วยรูปสลักมากกว่า 500 รูป พร้อมตกแต่งทองคำเปลวมากกว่า 240,000 แผ่น ในอดีตมีเพียงชนชั้นสูงอย่างซามูไรเท่านั้นที่สามารถผ่านเข้าออกประตูนี้ได้
ประตูโยะเมะอิมงมีชื่อเล่นว่า “ประตูแห่งแสงแดด (Sunset Gate)” หรือ “the all-day gate” ว่ากันว่าผู้พบเห็นสามารถชื่นชมความงามของประตูบานนี้ได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็นโดยไม่รู้สึกเหนื่อยหน่าย แม้จะงดงามเพียงใดประตูบานนี้ก็ยังมีจุดบกพร่องที่เกิดจากความตั้งใจ จุดบกพร่องนั้นคือการเขียนลวดลาย กลับหัวลงบนเสาต้นหนึ่งด้านซ้ายมือของประตู
ชาวญี่ปุ่นเรียกต้นเสา (ที่ตั้งใจทำให้) กลับหัวนี้ว่า “sakabashira” ซึ่งแนวคิดการก่อสร้างนี้เกิดจาก คติความเชื่อโบราณที่เชิดชูความไม่สมบูรณ์แบบ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าสิ่งใดก็ตามที่มาถึงจุดแห่งความสมบูรณ์แบบ (state of perfection) สิ่งนั้นก็จะเริ่มถดถอยลงทันทีตามธรรมชาติ และเพื่อไม่ให้งานก่อสร้างอันทรงคุณค่านี้ ถึงจุดเสื่อมถอย ช่างฝีมือจึงทำทุกวิถีทางเพื่อทิ้งความไม่สมบูรณ์แบบไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม
น่าขบคิดว่าชาวญี่ปุ่นที่ดูว่าต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบกลับมีความเชื่อว่า สิ่งที่สมบูรณ์แบบไม่ใช่สิ่งดีเลยเสียทีเดียว