‘อีลอน มัสก์’ ยันไม่สนใจซื้อ ‘TikTok’ เผย ปกติชอบสร้างบริษัทเอง

‘อีลอน มัสก์’ ยันไม่สนใจซื้อ ‘TikTok’ เผย ปกติชอบสร้างบริษัทเอง

"อีลอน มัสก์" ยืนยันไม่สนใจซื้อ "ติ๊กต๊อก" เพราะไม่ได้ใช้แอปดังกล่าวเป็นการส่วนตัว ส่วนใหญ่ของก่อตั้งบริษัทเองมากกว่า

มหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ ยืนยัน ไม่มีความสนใจที่จะ ซื้อติ๊กต๊อก (TikTok) แอปวิดีโอสั้นยอดนิยมที่กำลังเผชิญแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐ ที่พยายามสั่งแบนเนื่องจากกังวลเรื่องความมั่นคง เพราะมีบริษัทไบท์แดนซ์ (ByteDance) บริษัมแม่จากจีนเป็นเจ้าของ

คำให้สัมภาษณ์ของมัสก์เมื่อปลายเดือนม.ค. ได้เผยแพร่ทางออนไลน์วันเสาร์ที่ผ่านมา (8 ก.พ.) จากเดอะ เวลท์ กรุ๊ป (The WELT Group) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทสื่อแอกเซล สปริงเกอร์ เอสอี (Axel Springer SE) ของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมสุดยอด โดยมีมัสก์เข้าร่วมการประชุมผ่านวิดีโอ

“ผมไม่ได้ยื่นข้อเสนอซื้อติ๊กต๊อก” มัสก์กล่าว หลังจากที่ก่อนหน้านี้หนึ่งสัปดาห์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ เคยออกมาบอกว่า พร้อมเปิดทางให้มัสก์เข้าซื้อแอปของไบท์แดนซ์หากมัสก์ต้องการ

“ผมยังไม่มีแผนว่าจะทำอย่างไรหากได้เป็นเจ้าของติ๊กต๊อก” มัสก์กล่าวเสริม และว่า เขาไม่ได้ใช้งานแอปติ๊กต๊อกเป็นการส่วนตัว และไม่คุ้นเคยกับรูปแบบของแอป

“ผมไม่ได้กระตือรือร้นที่จะเข้าซื้อติ๊กต๊อก โดยปกติแล้ว ผมแทบไม่เคยซื้อกิจการบริษัทอื่นเลย” มัสก์กล่าว และว่า การที่เขาทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ซื้อทวิตเตอร์ ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น X มาแล้วนั้น ถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

“โดยปกติ ผมจะสร้างบริษัทขึ้นมาด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น” มัสก์ย้ำ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปธน.ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อเลื่อนการแบนติ๊กต๊อก ซึ่งเดิมมีกำหนดบังคับแบนในวันที่ 19 ม.ค.

ไบท์แดนซ์ถูกขีดเส้นตายให้ขายกิจการติ๊กต๊อกในสหรัฐ ภายในเดือนม.ค. มิเช่นนั้นจะถูกแบน หลังจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแสดงความกังวลว่า แอปดังกล่าวอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจากรัฐบาลจีนอาจบังคับให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งานในสหรัฐได้ อย่างไรก็ตาม ติ๊กต๊อกยืนยันว่าไม่เคย และจะไม่มีวันเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งานในสหรัฐ

แอปเปิ้ล (Apple) และ กูเกิล (Google) ยังคงไม่นำติ๊กต๊อกกลับมาวางในแอปสโตร์ตั้งแต่กฎหมายสหรัฐมีผลบังคับใช้ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (7 ก.พ.) ติ๊กต๊อกแถลงว่า บริษัทอนุญาตให้ผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ในสหรัฐ สามารถดาวน์โหลดและเชื่อมต่อกับแอปได้ผ่านชุดติดตั้งบนเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มติ๊กต๊อกในสหรัฐ

ทรัมป์กล่าวว่าเขากำลังเจรจากับหลายฝ่ายเรื่องการซื้อติ๊กต๊อก และคาดว่าจะตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของแอปได้ภายในเดือนนี้ ปัจจุบัน ติ๊กต๊อกมีผู้ใช้ในสหรัฐราว 170 ล้านคน

ในสัปดาห์นี้ ปธน.ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติภายในปีนี้ โดยระบุว่า กองทุนดังกล่าวอาจเข้าซื้อกิจการติ๊กต๊อกได้

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ไบต์แดนซ์ ปฏิเสธมาตลอดว่าจะไม่มีการขายกิจการติ๊กต๊อก

การที่ทรัมป์เข้ามาช่วยติ๊กต๊อกถือเป็นการเปลี่ยนจุดยืนจากสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ซึ่งในครั้งนั้น ทรัมป์เคยพยายามแบนแอปนี้ เพราะกังวลว่าบริษัทอาจเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานชาวอเมริกันให้กับรัฐบาลจีน อย่างไรก็ดี การแบนดังกล่าวไม่สำเร็จ

เมื่อไม่นานมานี้ ทรัมป์กล่าวว่า เขามี “ความรู้สึกที่ดีต่อติ๊กต๊อก” และยกย่องว่า แอปดังกล่าวมีส่วนช่วยให้เขาได้รับคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2567