ไทยควรใช้ ‘ไม้แข็ง’ กับเพื่อนบ้าน? ถึงจะแก้ PM2.5 อย่างได้ผล

ท่ามกลาง ‘การเผาของประเทศเพื่อนบ้าน’ ที่ยังคงสีแดงฉาน ไทยพยายามขอความร่วมมือ เพื่อลด PM2.5 แต่ดูเหมือนไม่เป็นผล การเปลี่ยนไปใช้ ‘ไม้แข็งทางเศรษฐกิจ’ แทน จะเป็นทางออกหรือไม่ เพื่อแก้ PM2.5 อย่างเด็ดขาด
ทุกวันนี้ก่อนที่คนไทยจะออกจากบ้าน ท้องฟ้าเต็มไปด้วยหมอกพิษ PM2.5 ฝุ่นที่เทียบเท่ากับ “การสูบบุหรี่” ซึ่งบั่นทอนสุขภาพ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในระยะยาว ต้นตอฝุ่นในไทยเหล่านี้ นอกจากในประเทศแล้ว ฝุ่น PM2.5 ที่พัดจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ลาว และกัมพูชามายังไทย ก็เลวร้ายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกัมพูชาที่มีจุดเผาแดงเข้มกว่าการเผาในไทยเสียอีก
ตลอดที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้พยายามแก้ปัญหา PM2.5 ด้วยแนวทาง “ขอความร่วมมือ” กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงความร่วมมือในกรอบอาเซียนเรื่องฝุ่นข้ามแดนอย่าง ASEAN Transboundary Haze Free Roadmap (ATHFR) ซึ่ง “ไม่ได้มีบทลงโทษ” เหมือนสหภาพยุโรป แต่ผลลัพธ์ คือ จุดเผาของเพื่อนบ้านก็ยังคงสีแดงเข้ม
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดคำถามที่น่าสนใจว่า ถ้าไทยลองปรับนโยบายใหม่ เป็นใช้ “ไม้แข็งทางเศรษฐกิจ” กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างการขึ้นกำแพงภาษี และคว่ำบาตรสินค้าเกษตรที่ก่อ PM2.5 จะเป็นอย่างไรบ้าง อย่างที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐใช้การขึ้นภาษี เพื่อกดดันเพื่อนบ้านเม็กซิโกให้จัดการปัญหายาเสพติด และผู้อพยพที่ทะลักเข้ามา
แม้แต่ “สิงคโปร์” ที่อยู่ในอาเซียน เคยได้รับฝุ่นพิษมหาศาลจากการเผาป่าในอินโดนีเซีย รัฐบาลก็ออกกฎหมายบังคับบริษัทที่มีฐานในสิงคโปร์ไม่ให้ทำเกษตรแบบเผาในอินโดนีเซีย หากบริษัทใดฝ่าฝืน ก็จะถูกปรับเงินอย่างหนัก รวมถึงสิงคโปร์ยัง “คว่ำบาตร” สินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างผู้ผลิตเยื่อกระดาษของอินโดนีเซีย จนแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้สำเร็จ
ดังนั้น ถ้าไทยหันไปใช้ “ไม้แข็ง” อย่างที่สิงคโปร์ใช้จะเป็นอย่างไรบ้าง “กรุงเทพธุรกิจ” จึงได้สัมภาษณ์กับ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน และ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร เพื่อจะมาไขคำตอบเรื่องนี้ว่า “ไทยควรถึงเวลาใช้ไม้แข็งกับเพื่อนบ้านแล้วหรือยัง”
ห้ามนำเข้าพืชเกษตรเผาทันที
อ.อัทธ์ให้ความเห็นว่า “เห็นด้วย” ในการใช้ไม้แข็งทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะสถานการณ์ฝุ่นไทยในขณะนี้ไม่ไหวแล้ว อยู่ในขั้นวิกฤติ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลควรเริ่มจากห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรเผาของประเทศเพื่อนบ้านทันที เพื่อกดดันเพื่อนบ้านให้หยุดเผา โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งไทยมีความต้องการใช้เฉลี่ยปีละ 8-10 ล้านตัน แต่ผลิตได้เองราว 5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือนำเข้าจากต่างประเทศ
“คำว่าไม้แข็ง คือ ห้ามนำเข้าทันที ตอนนี้เลย ห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งปลูกเยอะในพม่าและกัมพูชา เพราะฉะนั้นห้ามนำเข้าทันที” อ.อัทธ์กล่าว
ส่วนประเด็นการค้าเสรีอาเซียน อ.อัทธ์ตอบว่า “ก็น่าจะมีกฎหมายที่เรามีอยู่แล้ว สามารถจะทำได้ กฎหมายการนำเข้าส่งออก แม้จะเป็นเรื่องการเปิดเสรีในอาเซียนก็ตาม ก็เนื่องจากมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้นๆในอาเซียน น่าจะทำได้ เพราะว่าสิงคโปร์ก็ทำทันทีเหมือนกัน”
ไม่เพียงเท่านั้น จากกรณีสิงคโปร์ปรับเงินบริษัทที่นำเข้าพืชเกษตรเผา อ.อัทธ์มองว่า “ไทยก็ควรกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไปนำเข้า โดยเฉพาะข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านมา โดยที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าไม่เผา ซึ่งการพูดถึงหลักฐานชัดเจน ผมคิดว่า เขาก็คือประเทศพม่าและกัมพูชา ไม่น่าจะมีการเก็บข้อมูลหรือหลักฐาน การขึ้นทะเบียนหรือการตรวจสอบอยู่แล้ว หรือมีระบบเตือนภัย ผมว่าไม่มี เพราะฉะนั้นการไปตรวจและมีเอกสารสำแดงบอกว่า นี่ไม่ได้เป็นข้าวโพดที่เกิดจาการเผา ผมว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น คือ ไม่น่าจะทำได้ พูดง่าย ๆ เพราะฉะนั้นถ้าเราอะลุ่มอล่วย คุณต้องไปเอาเอกสารมาว่าคุณไม่เผา ผมว่าเป็นการหลอกกัน”
“ทำไมผมพูดแบบนี้ เพราะว่าประเทศไทย ตอนนี้เรามีกฎหมายนะ ใครเผาผิดกฎหมาย มันจะขึ้นเตือนสีแดงในที่ศาลากลาง เราบังคับใช้ยังไม่ได้เลย ไปนับประสาอะไร เพราะฉะนั้นระบบเตือนภัยในพม่าและกัมพูชา ผมว่าไม่มี การบังคับใช้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นวิธีแก้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ใช่การแสดงเอกสารว่านี่ไม่ใช่มาจากสวนที่ไม่เผา ผมว่าการใช้สำแดงเอกสารไม่น่าจะได้ผล ซึ่งเราก็เห็นชัดเจนว่าขณะนี้มันไม่ได้ผล เพราะฉะนั้น วันนี้ต้องปิดด่านเลยในการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เสี่ยงในการสร้าง PM2.5 ก็คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรืออาจเป็นสินค้าเกษตรอื่นที่เรานำเข้ามาที่สื่อให้เห็นว่าก่อให้เกิดการเผา เช่น มันสำปะหลัง” อ.อัทธ์กล่าว
ขณะเดียวกัน อ.อัทธ์ชี้ว่า การใช้มาตรการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดห้ามนำเข้า ก็จะกระทบความอยู่รอดของอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ เพราะไม่มีอาหารที่ไปเลี้ยงสัตว์ เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรเตรียม “แผนสำรอง” ในการหาอุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศอื่นอย่างอเมริกาใต้ บราซิล อาร์เจนตินา หรือจีนไว้ก่อน ที่อยู่นอกเหนือจากโซนอาเซียน เพื่อชดเชยกับการห้ามนำเข้าดังกล่าว
นอกจากนี้ คำว่า “ความร่วมมือ” ในนิยามของอ.อัทธ์ ไม่ใช่เพียงการพูดหรือยกหูคุยอย่างเดียว แต่คือการต้องมีโครงการเข้าไปทำร่วมกับเขา อย่างโครงการไม่เผา ไทยอาจจะเป็นพี่ใหญ่เข้าไปทำร่วมกันให้เพื่อนบ้านเห็น พร้อมให้เงินช่วยเหลือ ให้เปลี่ยนวิธีการเกษตรใหม่ ถ้าเขาทำได้ ไทยจะซื้อพืชเกษตรนั้นในราคาสูงขึ้น คือเอา “มาตรการราคา” มาจูงใจให้เพื่อนบ้านเปลี่ยน แต่ทั้งนี้ ไทยจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย ควบคุมการเผาในประเทศให้ดี คือทำควบคู่กันทั้งฝุ่นในประเทศและฝุ่นจากเพื่อนบ้าน
ให้เงินช่วยเหลือเพื่อนบ้าน หนุนเปลี่ยนวิถีเกษตร
ด้าน อ.วิษณุมองว่า สำหรับปัญหาฝุ่น PM2.5 ไทยควรเริ่มจาก “มาตรการไม้นุ่มก่อน” ด้วยการให้เงินช่วยเหลือเพื่อนบ้านแบบมีเงื่อนไข เพราะถ้าใช้ไม้แข็งแต่แรก อาจสร้างความร้าวฉานในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านได้
“ไม้นุ่มในที่นี้ คือ เราขอความร่วมมือ นั่นคือไม้นุ่มที่สุดแล้ว ซึ่งมักจะไม่ค่อยได้ผลอยู่แล้ว ทีนี้ก่อนที่จะไปสู่ระดับไม้แข็ง ผมว่าจริง ๆ แล้วบริบทของการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งไทยและก็ประเทศเพื่อนบ้าน มีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นในความคิดส่วนตัวและประสบการณ์จากอดีตของต่างประเทศ เขาจะเริ่มจากให้ความช่วยเหลือก่อน เช่น ไทยอาจจะต้องเสนอให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข ให้กับทางกัมพูชา ลาว และเมียนมา”
“ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยน การปรับตัวจากการเผาเป็นไม่เผา มันมีต้นทุนเกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศเขาไม่ได้ดีมาก เหมือนกับเกษตรกรไทยเหมือนกัน สั่งห้ามเผาก็เผาอยู่ เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น เพราะฉะนั้นอันที่ต้องเสนอก่อน คือ เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข พร้อมองค์ความรู้ด้วย นั่นคือไทยจะต้องระดมความรู้และไปอบรมให้ความรู้เพื่อนบ้าน”
“พอเขามีความรู้พร้อมเงินช่วยเหลือจากเราแล้ว เราก็ติดตามตัวชี้วัด เช่น มีการพัฒนาเกิดขึ้นไหม ปีที่หนึ่งเราให้ไป ถ้ามีความก้าวหน้าที่ดี มีลดการเผาลงได้ ปีที่สอง เราก็จะให้เงินเพิ่ม ปีที่สามก็จะให้เงิน คือ พูดง่าย ๆ การให้ความช่วยเหลือปีเดียวไม่พอ การปรับตัวในต่างประเทศอย่างน้อย 3 ปี เพราะฉะนั้นเราให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง และก็วัดความสำเร็จ ถ้าเขาทำสำเร็จ เราให้เงินต่อเหมือนที่ต่างประเทศ เราก็เคยได้เงินจากญี่ปุ่น จากสหภาพยุโรป ทำในลักษณะเดียวกันเลย นี่เป็นวิธีการไม้นุ่มที่จะทำให้เกิดความสัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น” อ.วิษณุกล่าว
สำหรับคำถามที่ว่า ไทยจำเป็นต้องให้เงินช่วยประเทศอื่นด้วยหรือ อ.วิษณุตอบว่า นี่จะเป็นแรงจูงใจให้เพื่อนบ้านเปลี่ยนแปลง คล้ายกรณีที่ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปให้เงินสนับสนุนไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรม นี่ก็คล้ายกัน ซึ่งจะช่วยให้เพื่อนบ้านเปลี่ยนวิถีการเกษตรใหม่ และท้ายที่สุดจะกลับมาช่วยให้คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้นด้วย
เปลี่ยนภาระเศษพืชให้มีค่าขึ้นมา
หากดูตามแผนที่ภูมิรัฐศาสตร์ อ.วิษณุเล่าว่า ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ได้รับกระแสฝุ่นหลักที่พัดมาจากกัมพูชา ขณะที่ฝุ่นจากเมียนมา จะพัดกระทบทางภาคเหนือของไทย ส่วนกระแสฝุ่นจากลาว พัดไปกระทบทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งหน้าหนาวของไทย เป็นช่วงที่ประเทศเพื่อนบ้านมักเผาพืชเกษตร อีกทั้งอุณหภูมิที่เย็นยังทำให้ฝุ่น PM2.5 ถูกกักอยู่ใกล้พื้นดินมากขึ้นด้วย
เหตุผลที่ว่าทำไมเพื่อนบ้านไทยถึงชอบเผา อ.วิษณุตอบว่า เป็นเพราะตลาดรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรมีน้อย ไม่เพียงพอ ซึ่งในไทยก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อเศษพืชเหล่านี้เป็นภาระ ขายต่อก็ยาก จึงจบที่การเผา
“เราต้องสร้างตลาดให้กับวัสดุจากการเกษตร ปัญหาของประเทศเพื่อนบ้านเหมือนกับเราเลย ความต้องการใช้วัสดุทางการเกษตรมีน้อย เราต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ อย่างพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ไทย อาจมีโรงไฟฟ้าชีวมวลของไทยไปรับซื้อวัสดุเหลือใช้เหล่านั้น หรือเงินช่วยเหลือของไทยที่จะให้เพื่อนบ้าน อาจจะเป็นในรูปให้คุณไปลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นลักษณะของแรงจูงใจ”
“พูดง่าย ๆ ทำยังไงก็ได้ให้เพื่อนบ้านมีโรงไฟฟ้าชีวมวลหรือแหล่งรับซื้อวัสดุเกษตร เมื่อเศษวัสดุเหล่านี้มีมูลค่า ไม่มีใครเผาเงิน ถูกไหมครับ เขาจะปรับเปลี่ยนเองโดยอัตโนมัติ แต่ปัจจุบันนี้เขาไม่มีทางไป ถ้าไม่เผาแล้วเอาไปทำอะไร ขายก็ไม่ได้สตางค์ เป็นต้นทุน เป็นภาระ เราต้องเปลี่ยนจาก ‘ภาระ’ นี้เป็น ‘รายได้’ เขาถึงจะไม่เผาอีก” อ.วิษณุให้มุมมอง
นอกจากนี้ ในเรื่องเครื่องจักรกลทางการเกษตร ที่ประเทศเพื่อนบ้านก็ขาดแคลนเช่นกัน อ.วิษณุเผยว่า “ผมก็มีเพื่อนอยู่ที่เมียนมา อยู่กัมพูชา เขาก็บอกคล้าย ๆ กัน เจอข้อจำกัด เรื่องของเครื่องจักรกลเหมือนกัน แรงงานเขาก็ขาดแคลน ไม่ได้มีพอ ต้นทุนก็สูง เพราะฉะนั้นเครื่องจักรกล เขาก็ขาดเหมือนกัน เขาก็จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ คือ พูดง่าย ๆ เขาก็ไม่ได้มีความพร้อม สภาพของประชากรของเขา ต้องยอมรับว่ายังหลังจากไทยอย่างน้อย 10 ปี คนในประเทศเขาก็ยังไม่ได้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมกับเรื่องมลพิษทางอากาศ ก็เหมือนไทยย้อนกลับไปเช่นกัน สิ่งที่ไทยควรทำ คือ ให้ความรู้เขา สร้างความตระหนักรู้ให้เขา และให้ความช่วยเหลือเขา”
อ.วิษณุกล่าวต่อว่า ในกรณีทำทุกอย่างตามข้างต้นแล้ว แต่เพื่อนบ้านยังคงเผาเหมือนเดิมอีก ไทยก็สามารถยกระดับเป็นไม้ที่แข็งกร้าวขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ด้วยการตั้งกำแพงภาษีสิ่งแวดล้อม โดยพืชเกษตรเผา ก็จะถูกเก็บภาษีสูงขึ้น ไปจนถึงขั้นแบนพืชเกษตรชุดนั้น หากตรวจสอบได้ว่ามาจากการเผาจริง
นอกจากนี้ อ.วิษณุมองว่า การจะไม่ให้เพื่อนบ้านเผาได้นั้น ไทยต้องเริ่มจากเป็นแบบอย่างที่ดีก่อน พิสูจน์เป็นตัวอย่างให้เขาเห็น ถึงจะโน้มน้าวเพื่อนบ้านไม่ให้เผาอย่างได้ผล
สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีไทยยกปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นวาระแห่งอาเซียน อ.วิษณุให้ความเห็นว่า “ความร่วมมือของอาเซียนไม่เหมือนความร่วมมือของสหภาพยุโรป เพราะเราร่วมมือกันแบบหลวม ๆ ไม่มีคอมมิทเมนต์ ไม่มีบทลงโทษ ทำไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น และก็เราไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกันในอาเซียน แต่สหภาพยุโรปไม่ได้ ถ้าคุณตั้งแผนแล้วทำไม่ได้ตามแผน คุณจะถูกคว่ำบาตร ข้ามประเทศได้ ถ้าคุณอยู่ในสหภาพยุโรปเหมือนกัน เพราะฉะนั้นกลไกความเข้มข้น ยากที่จะคาดหวังความร่วมมือ”
“ต่อให้มีอีก 10 อาเซียนโรดแมป มันก็แก้ไม่ได้ ตามใดที่ยังเป็นโรดแมปแบบหลวม ๆ หรือตัวปฏิบัติการ ‘ยุทธศาสตร์ฟ้าใส’ ของรัฐบาล (แผนความร่วมมือแก้หมอกควันระหว่างไทย สปป.ลาว และเมียนมา ระหว่างปี 2567-2573) โอกาสที่จะเกิดขึ้นก็ยาก เราต้องทำอย่างที่ผมนำเรียน ต้องมี ‘ประเทศที่เสียสละ’ ไทยควรจะเป็นประเทศที่ให้เงินช่วยเหลือ จริง ๆ แล้ว หลายคนอาจจะมองว่า ให้ทำไม แต่ต้องไม่ลืมนะ เราให้เขา คนไทยก็สุขภาพดีขึ้นนะครับ ค่ารักษาพยาบาลอะไรต่าง ๆ ก็ประหยัดขึ้น ใช้กลไกตลาดนำ ใช้รายได้นำ ซึ่งดีกว่าอาเซียนโรดแมปแบบหลวมๆ ซึ่งผมเชื่อว่าจะทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น” อ.วิษณุกล่าวทิ้งท้าย