ปี 2023 ‘กรุงเทพฯ’ มีอากาศดีแค่ 31 วัน เม.ย. ครองแชมป์ค่า ‘PM2.5’ สูงสุด

ปี 2023 ‘กรุงเทพฯ’ มีอากาศดีแค่ 31 วัน เม.ย. ครองแชมป์ค่า ‘PM2.5’ สูงสุด

ในปี 2023 คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,379.09 มวน และมีวันที่อากาศดี คืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 31 วัน น้อยกว่าปี 2022 ที่มีอากาศดี 49 วัน คิดเป็น 8.52%

ฝุ่น PM 2.5” กลายเป็นประเด็นที่พูดถึงอย่างมากในสังคมไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ยังคงพุ่งสูงอยู่ทุกวัน จน กทม. ต้องประกาศขอความร่วมมืออเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ยกระดับป้องกันสุขภาพเข้มข้นจากฝุ่น PM2.5  ด้วยการ Work From Home ในวันที่ 15-16 ก.พ. 2567 แม้พยายามมีการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังคงไม่ดีขึ้น 

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project ซึ่งค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดี คืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 31 วัน คิดเป็น 8.52% ของทั้งปี น้อยกว่าปี 2565 ที่มีอากาศดี 49 วัน และน้อยกว่าในปี 2564 ที่มีถึง 90 วัน 

ในขณะที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นวันที่อากาศมีคุณภาพปานกลาง คือเกณฑ์สีเหลือง 241 วัน หรือคิดเป็น 66.21% ของทั้งปี แต่หากเทียบกับปี 2565 ที่มีอากาศในเกณฑ์สีเหลือง 261 วันแล้วก็นับว่าลดน้อยลงจากปีก่อนหน้า 

ส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษหรือสีส้มนั้นมี 78 วัน หรือคิดเป็น 21.43% ของทั้งปี มากกว่าปี 2565 ที่มีจำนวน 52 วัน และวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออยู่ในเกณฑ์สีแดงนั้นมีมากถึง 14 วัน หรือคิดเป็น 3.85% ของทั้งปี และเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีเพียง 3 วัน กล่าวคือวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออยู่ในเกณฑ์สีแดงนั้นเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 11 วัน

เครดิต: Rocket Media Lab

  • เมษายนครองตำแหน่งอากาศเลวร้ายที่สุด

เดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2566 ยังคงเป็นเดือนเมษายนเช่นเดียวกับปี 2565 โดยมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ทั้งเดือนอยู่ที่ 115.47 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย สำหรับวันที่มีสีเหลืองหรือคุณภาพอากาศปานกลางพบว่ามี 12 วัน ส่วนสีส้มหรือคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 14 วัน และสีแดง หรือมีผลต่อสุขภาพ 4 วัน

รองลงมาคือเดือนมีนาคม โดยไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย ขณะที่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 13 วัน และสีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 12 วัน และสีแดง หรือมีผลต่อสุขภาพ 6 วัน 

ตามมาด้วยเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งก็ไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลยเช่นเดียวกัน ขณะที่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 12 วัน และสีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 13 วัน ส่วนวันที่มีสีแดง หรือมีผลต่อสุขภาพมี 3 วัน

หากสำรวจวันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปี พบว่าเป็นวันที่ 8 มีนาคม ซึ่ง โดยมีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 179 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าวันที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดของปี 2565 อย่างวันที่ 9 เมษายน 2565 โดยมีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยวันที่มีอากาศเลวร้ายของปีล่าสุด มีค่าเฉลี่ยอากาศเพิ่มมา 6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้จะเห็นว่า 3 เดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2566 เป็นเดือนในช่วงต้นปี และจะพบว่าเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดมักปรากฏซ้ำในช่วงเวลาเดียวกันทุกปี โดยเป็นช่วงหน้าแล้ง มีระยะเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม - เมษายน เป็นช่วงที่มีสภาวะอากาศแห้งทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นสามารถแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นานขึ้น เช่นเดียวกับในปี 2022 ที่พบในเดือนธันวาคม มกราคม และเมษายน ปี 2563 และ 2564 ที่พบในเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ แต่ข้อสังเกตที่พบเพิ่มเติมคือในปี 2566 เดือนที่อากาศเลวร้ายเพิ่มจำนวนเดือนมากขึ้น มีระยะเวลาติดต่อกันนานขึ้น

 

  • ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 เท่ากับคนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ 1,370 ต่อปี

จากงานของ Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 ปริมาณ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน 

หากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2566 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Richard Muller จะพบว่า ในปี 2566 คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,370.09 มวน เพิ่มมากขึ้นถึง 154.32 มวน หรือเฉลี่ยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 7.7 ซองจากปี 2565 ที่มีจำนวน 1,224.77 มวน และปี 2564 ที่มีจำนวน 1,261.05 มวน อาจกล่าวได้ว่าอากาศปี 2566 เลวร้ายมากกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนผ่านเดือนที่มีอากาศในเกณฑ์สีส้มและสีแดงที่เพิ่มจำนวนเดือนขึ้น

สำหรับเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2566 อย่างเดือนเมษายน คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 157.45 มวน คิดเป็นเฉลี่ยวันละ 5.24 มวน ซึ่งมีจำนวนของมวนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2565 อย่างเดือนเมษายน ที่มีจำนวน 127.77 มวน หรือเฉลี่ยวันละ 4.26 มวน 

หรือในเดือนที่อากาศดีที่สุดในปี 2566 อย่างเดือนกันยายน คนกรุงเทพฯ ก็ยังสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 70.14 มวน เฉลี่ยวันละ 2.33 มวน ถือว่าสูบบุหรี่น้อยลงกว่าเดิม เมื่อเทียบกับเดือนที่อากาศดีที่สุดในปี 2565 อย่างกรกฎาคมที่มีจำนวน 74.36 มวน เฉลี่ยวันละ 2.4 มวน

เครดิต: Rocket Media Lab

 

  • อันตรายจาก PM 2.5

PM2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ด้วยขนาดที่เล็กของมันทำให้สามารถเล็ดลอดจากการกรองของขนจมูก ผ่านเข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจได้ โดยจะเข้าไปยังถุงลมฝอยและแทรกซึมผ่านไปยังหลอดเลือดฝอย และเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้เกิดโรคในหลายระบบ 

ข้อมูลจากแพทยสภา ระบุว่า หากสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ในระยะสั้นสามารถทำให้ ระบบทางเดินหายใจอักเสบ หายใจลำบาก แสบจมูก ไอมีเสมหะ แน่นหน้าอก ถุงลมแฟบสมรรถภาพปอดลดลง ภูมิแพ้และหืดกำเริบ

ขณะเดียวกันก็สามารถทำลายภูมิคุ้มกัน เกิดการติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจได้ง่าย เช่น ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ หูอักเสบ และส่งผลต่อระบบสืยพันธุ์ ทำให้มีบุตรยาก ส่วนในเด็กจะทำให้มีพัฒนาการล่าช้า

ถ้าหากสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาว สามารถทำให้ผิวมีจุดด่างดำ มีรอยย่น กูแก่กว่าวัย ก่อให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือด อาจเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาตจากหลอดเลือดสมอง โรคทางผิวหนังหรือตาอักเสบ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ไปจนถึงโรคมะเร็งปอด

องค์การอนามัยโลกประกาศว่าการสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ก่อให้เกิดอุบัติการณ์การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 3.7 ล้านคนต่อปี และผู้เสียชีวิตส่วนมากมีถิ่นที่อยู่ในฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคประชาสังคมพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาฝุ่นพิษขึ้น ผ่านการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ.… หรือ “ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด” เพื่อหาแนวทางในการจัดการฝุ่นรวมไปถึงการกำหนดโทษต่างๆ สำหรับผู้ฝ่าฝืน ทว่าร่างนี้แม้จะมีความพยายามผลักดันตั้งแต่ปี 2019 โดยปัจจุบันนี้ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภา

 

ที่มา: Rocket Media Lab