'อินเดีย' ลดดอกเบี้ย 0.25% ครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี ดันจีดีพีที่โตต่ำลง

แบงก์ชาติอินเดียหั่นดอกเบี้ยตามคาด ครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี หลังเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลง เปิดทางลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลง
ในวันนี้ (7 ก.พ.) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 6.25% และยังเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี หลังจากที่สถานการณ์เงินเฟ้อบรรเทาลง เปิดทางให้แบงก์ชาติสามารถผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะโตต่ำสุดในรอบ 4 ปี
คณะกรรมการนโยบายการเงินทั้ง 6 คน ลงมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้ลดดอกเบี้ยและคงมุมมองนโยบายการเงินเป็นกลาง
การลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์โดยรอยเตอร์สพบว่า 70% คาดการณ์ว่า แบงก์ชาติอินเดียภายใต้ผู้ว่าการคนใหม่ "ซานเจย์ มัลโฮตรา" จะลดดอกเบี้ย 0.25% และจะเป็นการลดครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563
มัลโฮตรา ซึ่งเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการคนใหม่เมื่อเดือนธ.ค. ปีที่แล้ว กล่าวว่า แม้จะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะฟื้นตัวได้ แต่ก็จะต่ำกว่าการเติบโตในปีก่อนมาก ในขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อที่ดีขึ้นช่วยเปิดทางให้สามารถผ่อนคลายนโยบายทางการเงินได้
ทั้งนี้ แบงก์ชาติอินเดียคาดการณ์ จีดีพีอินเดีย ในปีงบประมาณปัจจุบัน (สิ้นสุดเดือนมี.ค. 2568) ที่ระดับ 6.4% หรือต่ำกว่าที่เคยประมาณการเอาไว้ เนื่องจากภาคการผลิตที่อ่อนแรงลงและการลงทุนของภาคธุรกิจที่ชะลอตัว โดยเงินเฟ้อจะอยู่ที่เฉลี่ย 4.8% ก่อนจะลดลงเหลือ 4.2% ในปีหน้า
สำหรับปีงบประมาณ 2568 คาดว่าจีดีพีจะเติบโตได้ 6.7% จากสภาพการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น การประกาศมาตรการลดภาษีเมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงปัจจัยเงินเฟ้อในระดับปานกลาง และผลผลิตทางการเกษตรที่สมบูรณ์