'กูเกิล' โว แก้ Quantum Computing ด้วยชิปใหม่ใน 5 นาที แต่คอมทั่วไปใช้เวลาพันล้านปี

'กูเกิล' โว แก้ Quantum Computing ด้วยชิปใหม่ใน 5 นาที แต่คอมทั่วไปใช้เวลาพันล้านปี

กูเกิล (Google) ออกมาประกาศเมื่อวันจันทร์ (9 ธ.ค.) ว่า สามารถเอาชนะความท้าทายสำคัญในการคำนวณเชิงควอนตัมได้ด้วยชิปเจนเนอเรชันใหม่ โดยใช้เวลาเพียง 5 นาที ขณะที่คอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมต้องใช้เวลามากกว่าระยะเวลาการกำเนิดของจักรวาลเสียอีก

กูเกิล” (Google) บริษัทในเครืออัลฟาเบท (Alphabet) ก็เหมือนกับยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีรายอื่น ๆ อย่างไมโครซอฟท์ (Microsoft) และ International Business Machines หรือ IBM ที่กำลังพัฒนาการประมวลผลเชิงควอนตัม เนื่องจากบริษัทให้คำมั่นไว้ว่าจะทำให้ระบบประมวลผลมีความเร็วมากกว่าระบบที่รวดเร็วที่สุดในปัจจุบัน

ผลการทดลองที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ มาจากการใช้ชิปรุ่นใหม่ที่เรียกว่า “Willow” ที่มีขนาด 105 คิวบิต (Qubit) ซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ควอนตัม

คิวบิตสามารถประมวลผลได้รวดเร็วแต่มีแนวโน้มเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย เพราะคิวบิตอาจถูกสิ่งเล็ก ๆ อย่างอนุภาคย่อยของอะตอมจากเหตุการณ์ต่าง ๆ นอกอวกาศเข้ามารบกวนได้

เมื่อชิปมีคิวบิตเพิ่มมากขึ้น ข้อผิดพลาดก็อาจเพิ่มขึ้นตามจนทำให้ชิปนั้นไม่ได้ต่างไปจากชิปคอมพิวเตอร์ทั่วไป ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดเชิงควอนตัมมานานตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990

ในรายงานที่เผยแพร่ผ่านวารสาร Nature เมื่อวันจันทร์ ระบุว่า กูเกิลพบวิธีร้อยคิวบิตของชิป Willow เข้าด้วยกัน เพื่อให้อัตราข้อผิดพลาดลดลงเมื่อจำนวนคิวบิตเพิ่มขึ้น บริษัทบอกด้วยว่าสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการทำให้เครื่องควอนตัมใช้งานได้จริง

เมื่อปี 2562 IBM เคยท้าท้ายคำกล่าวอ้างของกูเกิลที่ว่า ชิปควอนตัมของกูเกิลแก้ไขปัญหาที่อาจต้องใช้คอมพิวเตอร์ดั้งเดิมแก้ไขด้วยระยะเวลา 10,000 ปี

IBM บอกว่า การแก้ไขปัญหาด้วยชิปของบริษัทเสร็จสิ้นภายใน 2 วันครึ่ง โดยใช้สมมติฐานทางเทคนิคเกี่ยวกับระบบดั้งเดิมที่แตกต่างกันไป

ขณะที่ผลการทดลองเมื่อวันจันทร์ กูเกิลระบุว่า บริษัทได้นำข้อกังวลบางอย่างมาพิจารณาในการคำนวณครั้งล่าสุดด้วย และแม้การทดลองจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมที่สุด แต่เมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิม อาจต้องใช้เวลาคำนวณมากกว่า 1 พันล้านปีเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เหมือนชิปรุ่นใหม่

แอนโทนี เมแกรนต์ ประธานฝ่ายสถาปนิกควอนตัมเอไอของกูเกิล กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า ขณะที่คู่แข่งกูเกิลบางรายกำลังผลิตชิปที่มีคิวบิตมากกว่ากูเกิล แต่กูเกิลให้ความสำคัญกับการสร้างชิปที่มีคิวบิตที่น่าเชื่อถือมากที่สุดเท่าที่ทำได้

แต่ก่อนกูเกิลผลิตชิปโดยใช้แล็บในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในซานตา บาร์บารา แต่บริษัทได้สร้างโรงงานเฉพาะของตนเองแล้วเพื่อผลิตชิป Willow ซึ่งเมแกรนต์บอกว่า โรงงานแห่งใหม่จะช่วยให้กูเกิลสามารถผลิตชิปแห่งอนาคตได้รวดเร็วขึ้น

แม้ว่าการแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ล่าสุดในแล็บควอนตัมในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เขตซานตา บาร์บารา ไม่สามารถใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ในตอนนี้ แต่กูเกิลหวังว่าการคำนวณเชิงควอนตัมวันหนึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาในหลายด้านได้ เช่น การแพทย์ สารเคมีแบตเตอรี่ และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่คอมพิวเตอร์ปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขได้

 

อ้างอิง: Reuters