‘Tiktok’ ร้องศาลสหรัฐ ‘ระงับการแบนแอปชั่วคราว’ จนกว่าทรัมป์ขึ้นเป็นปธน.

‘Tiktok’ ร้องศาลสหรัฐ ‘ระงับการแบนแอปชั่วคราว’ จนกว่าทรัมป์ขึ้นเป็นปธน.

ติ๊กต็อก (Tiktok) ยื่นคำร้องฉุกเฉินเมื่อวันจันทร์ (9 ธ.ค.) ขอให้ศาลระงับกฎหมายที่กำหนดให้ไบท์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ติ๊กต็อกสัญชาติจีนต้องขายหุ้นทั้งหมดภายในวันที่ 19 ม.ค. ไม่เช่นนั้นจะถูกแบน ห้ามให้บริการในสหรัฐ โดยขอให้รอรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ได้พิจารณาก่อน

Tiktok ยื่นคำร้องเมื่อวันจันทร์ว่า ศาลอุทธรณ์สหรัฐเขตโคลัมเบียควรออกคำสั่งห้ามนับถอยหลังวันครบกำหนดขายหุ้นหรือแบนแพลตฟอร์ม (ซึ่งมีระยะเวลาให้ทำตามข้อกำหนดน้อยกว่า 6 สัปดาห์) เพื่อให้ศาลฎีกาสามารถพิจารณาคำเรียกร้องของบริษัทที่อ้างว่า การเรียกร้องของรัฐบาลสหรัฐละเมิดสิทธิในเสรีภาพของการพูดและสิทธิตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ

ติ๊กต็อกและไบท์แดนซ์ ระบุในคำร้องที่ยื่นต่อศาลว่า “การสั่งห้ามเป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้รัฐบาลชุดใหม่มีเวลาพิจารณาจุดยืนของตนเอง ซึ่งอาจช่วยให้เกิดการหารือถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นและความจำเป็นในการพิจารณาของศาลฎีกา”

นิกเกอิเอเชีย ระบุว่า ติ๊กต็อกสามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาคำตัดสินของศาลแขวง แต่ต้องมีเสียงจากผู้พิพากษา 4 ใน 9 ที่ตกลงจะพิจารณาคดีนี้ จึงจะได้รับการพิจารณาต่อไป

ติ๊กต็อกได้ขอให้ศาลอุทธรณ์ตัดสินคำร้องสั่งห้ามนับถอยหลังกำหนดขายหุ้น ภายในวันที่ 16 ธ.ค. นี้ ขณะที่กระทรวงยุติธรรมขอให้ศาลปฏิเสธคำร้องของบริษัทโดยไม่ต้องมีการพิจารณาคดีเพิ่มเติม

การยื่นคำร้องขอสั่งห้ามของติ๊กต็อกมีขึ้นหลังจากศาลตัดสินเมื่อวันศุกร์ (6 ธ.ค.) ยกฟ้องการท้าทายทางกฎหมายของติ๊กต็อกต่อ พระราชบัญญัติคุ้มครองชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยปรปักษ์ต่างชาติ (Protecting Americans from Foreign Adversary Controlled Applications Act.)

คำสั่งของศาลที่ออกมาเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ผู้พิพากษา 3 คน บอกว่า การสั่งให้ขายหุ้นหรือแบนแอพลิเคชัน ไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพในการพูด และไม่ได้ละเมิดการคุ้มครองด้านความเท่าเทียม

อนึ่ง วันครบกำหนดให้ไบท์แดนซ์ขายติ๊กต็อกคือวันที่ 19 ม.ค. ซึ่งเป็นเส้นตายที่มีขึ้นก่อนวันว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.

แม้ทรัมป์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการแบนติ๊กต็อก แต่เขาได้เปลี่ยนจุดยืนในระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง โดยบอกว่าตนไม่เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหว (การแบนติ๊กต็อก) ดังกล่าว ซึ่งการสนับสนุนของเขามีขึ้นหลังจากได้พบกับมหาเศรษฐีเจฟฟ์ แยส ที่เป็นผู้ลงทุนรายแรกในไบท์แดนซ์ และเป็นหนึ่งในผู้บริจาคเงินทางการเมืองรายใหญ่สุดของการหาเสียงของทรัมป์

ทั้งนี้ ติ๊กต็อกอาจต้องสูญรายได้มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ และบรรดาครีเอเตอร์อาจสูญเสียรายได้รวมกันเกือบ 300 ล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียง 1 เดือน ถ้าไม่ยุติการแบนแอปฯ

ติ๊กต็อกเผยเมื่อวันจันทร์ว่า แพลตฟอร์มมีผู้ใช้งานชาวอเมริกันมากถึง 170 ล้านคน และว่าการโฆษณา การตลาด และการเข้าถึงแบบออร์แกนิกบนแอปฯนั้น สร้างเม็ดเงินให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ 24,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 ในขณะที่การดำเนินงานของบริษัทเองก็มีส่วนหนุนจีดีพีสหรัฐอีก 8,500 ล้านดอลลาร์

 

อ้างอิง: Nikkei Asia