ติด‘หนัง-ซีรีส์เกาหลี’ ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต

ติด‘หนัง-ซีรีส์เกาหลี’  ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต

หลายคนคงเคยดูซีรีส์เกาหลีอย่าง“Squid Game” หรือ“Crash Landing On You” รวดเดียวจบทั้งซีซัน ผู้เชี่ยวชาญอเมริกัน-เกาหลีรายหนึ่งมีข่าวดีมาบอก การทำแบบนี้มีแนวโน้มพัฒนาสุขภาพจิตได้

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า รายการทีวีเกาหลีใต้ที่ทุ่มทุนสร้าง นักแสดงมีเสน่ห์สมบทบาทส่งผลให้ฮอตฮิตไปทั่วโลก แต่นักบำบัดอย่างเจนี จาง เผยว่า จริงๆ แล้วมีเหตุผลลึกๆ ที่ทำให้หลายคนติดซีรีส์เกาหลีอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

ด้วยพล็อตเรื่องสะเทือนอารมณ์ตั้งแต่ความโศกเศร้าราวโลกแตกดับไปจนถึงรักล้นใจครั้งใหม่ จางกล่าวว่า เคดรามา ช่วยให้ผู้คนกลับมาเชื่อมต่อหรือจัดการกับบาดแผลในใจของตนเองได้อีกครั้งหนึ่ง เคดรามาจึงมีพลังเยียวยาเหนือบริบททางวัฒนธรรม

“เราทุกคนต่างมีแรงกดดันและความคาดหวังของครอบครัว ความขัดแย้ง ความเจ็บปวด ความหวัง” จางกล่าวและว่า การได้ดูเรื่องหนักๆ ได้รับการแก้ไขอย่างสำเร็จลุล่วงในจอสามารถเปลี่ยนความสามารถของผู้คนให้ฟันฝ่าความท้าทายในโลกจริงได้

สำหรับจางผู้เกิดในกรุงโซลแต่เติบโตในสหรัฐ เคดรามาช่วยได้มากให้เธอเชื่อมต่อกับรากเหง้าที่เธอเคยปฏิเสธไม่อยากจะซึมซับ แต่ “เนื้อหาในดรามาเกาหลีนั้นเป็นสากล” จางกล่าว

สุขภาพจิต คือ คุณรู้สึกอย่างไร สัมพันธ์กับคนอื่นทางกายภาพอย่างไร สมองของคุณได้รับผลจากสิ่งต่างๆ อย่างไร นั่นคือสุขภาพจิต เราเห็นมันในดรามาเกาหลี”

ปลอบประโลมใจ

ยอดดูเคดรามาทั่วโลกเพิ่มขึ้นล้นหลามช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ชมจากต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดหลักอย่างสหรัฐหันมาดูคอนเทนท์เกาหลีมากในช่วงโควิด-19 ระบาด

ระหว่างปี 2019-2022 ยอดชมรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์เกาหลีเพิ่มขึ้นหกเท่าบนเน็ตฟลิกซ์ และตอนนี้ซีรีส์เกาหลีเป็นเนื้อหาที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่มีคนชมมากที่สุดบนแพลตฟอร์มนี้

เจนี แบร์รี คุณครูชาวอเมริกันรู้จักเคดรามาในงานศพครอบครัว เมื่อเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้ดู “It's Okay to Not Be Okay” ซีรีส์ปี 2020 เธอคิดว่านั่นอาจช่วยให้เธอผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้

“มีอะไรบางอย่างในนั้น วิธีที่วัฒนธรรมนี้จัดการกับบาดแผลในจิตใจและความหดหู่ ช่างโดนใจฉันจริงๆ” แบร์รีกล่าว เธอเคยเดินทางไปเกาหลีใต้ส่วนหนึ่งของเคดรามาทัวร์ที่จาง นักบำบัดจัดขึ้น

“ฉันไม่เคยเศร้ามาก่อนจนได้มาดูเรื่องนี้ละครน้ำตาท่วมจอแต่ก็ทำให้ฉันเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์”

ทันทีที่ติดกับ แบร์รีกล่าวว่า เธอดูซีรีส์เกาหลี 114 เรื่องนับตั้งแต่เริ่มรู้จัก และเลิกดูทีวีภาษาอังกฤษไปเลย

“พวกมันทำให้จิตใจฉันอ่อนโยน” แบร์รีกล่าว

เพื่อนร่วมทริปชาวอเมริกันนาม เอริน แมคคอย กล่าวว่า เธอมีปัญหาซึมเศร้ามาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น แต่เคดรามาช่วยให้เธอจัดการกับอาการได้ด้วยโรคซึมเศร้า “เมื่อคุณอยู่กับมันนานๆ คุณก็ด้านชา ไม่จำเป็นว่าต้องรู้สึกแย่แต่ก็ไม่ได้รู้สึกดีเช่นกัน คุณแค่ไม่รู้สึกอะไรเลย” เธอเล่าพร้อมเสริมว่า เคดรามาเปิดให้เธอมีอารมณ์ความรู้สึกอีกครั้ง

“ตัวละครทุกตัวขึ้นสูงลงต่ำมาก และเมื่อรู้สึกถึงอารมณ์ของตัวละคร มันช่วยให้ฉันเชื่อมโยงกับอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น ฉันรู้สึกเหมือนสามารถแสดงออกและสัมผัสความรู้สึกได้อีกครั้ง”

ศิลปะแห่งการบำบัด

แนวคิดที่ว่า การติดk-dramaช่วยเรื่องสุขภาพจิต ได้อาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งกล่าวว่าสอดคล้องกับแนวคิดการบำบัดทางจิตเวชที่เก่าแก่หลายสิบปี

“การดูดรามาเกาหลีมีประโยชน์ลดความเครียดและซึมเศร้าในมุมมองของการใช้ศิลปะบำบัด” อิม ซูกึน หัวหน้าคลินิกจิตเวชในกรุงโซลกล่าวกับเอเอฟพี

ศิลปะบำบัดถูกนำมาใช้ครั้งแรกในทศวรรษ 1940 เดิมทีเป็นการให้ผู้ป่วยวาดรูป จากนั้นได้พัฒนามาใช้ศิลปะแขนงอื่นๆ

“สื่อภาพอย่างเคดรามามีจุดแข็งสำคัญสอดคล้องกับจิตบำบัด” อิมกล่าวและว่า เคดรามาซึ่งหมายถึงซีรีส์หรือภาพยนตร์เกาหลีสามารถช่วยผู้ชม “รับข้อมูลเชิงลึกต่อสถานการณ์จากมุมมองใหม่ ส่งเสริมค่านิยมที่ดี และให้ทางออกต่อปัญหาของพวกเขา”

หมอสั่งยาเหล่านี้ไม่ได้ แต่หากนักบำบัดแนะนำดรามาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก็อาจมีประโยชน์ ตัวอย่างเช่น มันสามารถให้แนวทางสำหรับคนไข้ “เผชิญสถานเฉพาะอย่างการแยกทางหรือสูญเสียได้” อิมสรุป