ยุโรปหวั่น ‘การเมือง-ความมั่นคง’ ป่วน หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง
หลายประเทศยุโรปกังวลมากถึงแนวโน้มที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจหวนคืนทำเนียบขาวอีกครั้ง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 5 พ.ย.67
เว็บไซต์แชนแนลนิวส์ เอเชีย รายงาน ชาติยุโรปเชื่อว่า ถ้าทรัมป์จากพรรครีพับลิกันคว้าชัยชนะ จะเป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐจะหันไปใช้แนวทางอำนาจนิยมมากขึ้น ดำเนินนโยบายประชานิยม ผู้นำเน้นชาตินิยมมากกว่าเดิม และเอาตัวออกห่างจากยุโรป ในช่วงที่พรรคการเมืองขวาจัดของยุโรปได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ
“ทรัมป์แสดงออกชัดเจนมากว่าเขาชอบทำงานร่วมกับ ผู้นำยุโรปที่ ‘แข็งกร้าว’ นับถือศาสนาคริสต์ และต่อต้านผู้อพยพมากกว่า” มัจดา รูจ นักวิจัยนโยบายกลุ่มคลังสมองสภายุโรปว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบุ
อีกหนึ่งประเด็นที่ยุโรปกังวลคือ หากทรัมป์ชนะอาจกดดันให้ยูเครนยอมยกดินแดนให้รัสเซีย ซึ่งยิ่งส่งเสริมให้รัฐบาลมอสโกรุกคืบไปยังประเทศยุโรปตะวันออกมากขึ้น
ทรัมป์ข่มขู่เสมอมาว่าจะตัดความช่วยเหลือยูเครน โดยกล่าวว่า เขาจะยุติสงครามภายใน 24 ชั่วโมงถ้าชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี
ทรัมป์เคยหาเสียงวิจารณ์ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เป็น “สุดยอดเซลส์แมนตลอดกาล” โดยชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลวอชิงตันต้องทุ่มงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ไปช่วยเคียฟ
ส่วนความรับผิดชอบของสหรัฐต่อองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ถูกตั้งคำถามเช่นกัน เนื่องจากเขาขู่ว่าจะถอนตัวหากเพื่อนสมาชิกไม่จ่ายงบประมาณทหารเพิ่ม
ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า แม้ทรัมป์ไม่อาจทำอย่างที่ใจต้องการได้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้อย่างเข้มงวดไม่ให้ประธานาธิบดีถอนตัวจากนาโตโดยลำพังโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรส สหรัฐก็อาจเลือกที่จะอยู่เฉยๆในนาโต
ขณะที่รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต ยังคงสนับสนุนรัฐบาลเคียฟอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐ เธอกล่าวด้วยว่า เธอสนับสนุนนาโตไม่เสื่อมคลาย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ผู้สมัครทั้งสองคนต่างต้องการเห็นพันธมิตรยุโรปลงมือทำมากกว่านี้
ไซมอน ดิกกินส์ นักวิเคราะห์กองทัพ และความมั่นคง กล่าวว่า สหรัฐต้องการจัดสรรทรัพยากรไปเพื่อรับมือจีน ที่สหรัฐมองว่าเป็นคู่แข่งสำคัญทางยุทธศาสตร์
“แต่สหรัฐไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ในขณะที่ยุโรปไม่ได้ทำสิ่งที่พวกเขาควรทำทั้งในยุโรป และสิ่งที่คุณอาจเรียกว่าประเทศใกล้เคียงของยุโรป ซึ่งก็คือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และแอฟริกาหลายประเทศ” นักวิเคราะห์อดีตทหารบกอังกฤษกล่าวกับซีเอ็นเอ
สหภาพยุโรป (อียู) ก็กังวลเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐ ที่การค้าสินค้า และบริการมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีสูงที่สุดในโลก อาจตกอยู่ในความเสี่ยง
ทรัมป์ขู่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าทุกชนิดมากถึง 20% ซึ่งอียูอาจโดนด้วย ภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ เครื่องกล ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ ที่รวมกันแล้วคิดเป็น 68% ของการส่งออกจากอียูมายังสหรัฐ ในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ธุรกิจยุโรปต้องรับผลการขึ้นภาษีของรัฐบาลวอชิงตัน
ในปี 2018 ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก เก็บภาษีเหล็ก และอะลูมิเนียมยุโรป รัฐบาลไบเดนมีคำสั่งยกเลิกการเก็บภาษีแต่คำสั่งจะหมดอายุลงในเดือนมี.ค.2568
เมื่อความสัมพันธ์กับสหรัฐอยู่บนความไม่แน่นอน อียูจึงเตรียมการรับมืออย่างรวดเร็วต่อผลการเลือกตั้งครั้งนี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์