เกาหลีใต้หมดหวังรวยในบ้าน แห่ทุ่มเงินลงทุนใน ‘หุ้นสหรัฐ’

เกาหลีใต้หมดหวังรวยในบ้าน  แห่ทุ่มเงินลงทุนใน ‘หุ้นสหรัฐ’

ในขณะที่นักลงทุนทั่วโลกวิตกกังวลกับภาวะ “แบล็กมันเดย์” หรือการที่ตลาดหุ้นต่ำในหลายตลาดทั่วโลกช่วงสั้นๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ที่ “เกาหลีใต้” นักลงทุนรายย่อยกลับถือเอาความกลัวนี้เป็น “โอกาส” ในการเข้าไปซื้อหุ้นสหรัฐเพิ่ม จากเดิมที่แพงจนเกินเอื้อม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บรรดานักลงทุนรายย่อยชาวเกาหลีใต้กำลังเดิมพันกับตลาดหุ้นโลกในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปในตลาดหุ้นสหรัฐ หลังจากที่ทยอยซื้อมาแล้วหลายปีก่อนหน้านี้ ขณะที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนคาดการณ์ว่าแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากมูลค่าของตลาดหุ้นในประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ

เกาหลีใต้หมดหวังรวยในบ้าน  แห่ทุ่มเงินลงทุนใน ‘หุ้นสหรัฐ’

แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นภายในประเทศ แต่นักลงทุนรายย่อยในเกาหลีใต้กลับออกไปกว้านซื้อหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐ ทั้ง อินวิเดีย, เทสลา และแอปเปิ้ลกันในปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากกระแสความคลั่งไคล้ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ทั่วโลก

ซันนี่ โนห์ วัย 49 ปี หนึ่งในนักลงทุนรายย่อยชาวเกาหลีใต้ที่ลงทุนในเทสลามาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งคิดเป็น 85% ของพอร์ตการลงทุน ให้เหตุผลในการลงทุนหุ้นรถไฟฟ้าสหรัฐอย่างหนักแน่นว่า ช่วงเวลาที่ตลาดตกต่ำเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นเพียงแค่ช่วงสั้นๆ และเชื่อมั่นว่าในระยะยาวหุ้นเทสลาจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง

“มันอาจจะตกใน 1 ปีหรือ 2 ปี แต่จะกลับมาสูงขึ้นในระยะยาว 10 ปี” โนห์กล่าว

นักลงทุนรายย่อยต่างรู้สึกผิดหวังกับปัญหา “ส่วนลดเกาหลี” (Korea Discount) หรือการที่ราคาหุ้นของบริษัทเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มักถูกประเมินมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศอื่นๆ ที่มีขนาดและความแข็งแกร่งใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังและทำให้บรรดานักลงทุนรายย่อยได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรจะเป็นจากตลาดหุ้นในบ้านตัวเอง

ข้อมูลล่าสุดจากคณะกรรมการกำกับดูแลทางการเงินเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในเกาหลีใต้เฉลี่ยอยู่ที่ 26% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งอย่างไต้หวันที่ 55%, ญี่ปุ่น 36% และสหรัฐ 42%

เกาหลีใต้หมดหวังรวยในบ้าน  แห่ทุ่มเงินลงทุนใน ‘หุ้นสหรัฐ’

ความผิดหวังของนักลงทุนยิ่งทวีคูณขึ้นเมื่อ “ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์” และ “เอสเค ไฮนิกซ์” สองแชโบลยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ไม่สามารถเป็นผู้นำในกระแสเทคโนโลยีเอไอได้ ส่งผลให้ราคาหุ้นของซัมซุงลดลง 4% นับตั้งแต่ต้นปีนี้มา

ขณะที่มูลค่าหุ้นของคู่แข่งในสหรัฐอย่าง อินวิเดีย พุ่งขึ้นถึง 120% หุ้นของไฮนิกซ์กลับเพิ่มขึ้นแค่ 25% นอกจากนี้ อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้น (P/E ratio) ของบริษัทเกาหลีใต้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 1.04 ซึ่งต่ำกว่าสหรัฐที่ 3.64 อย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงการประเมินมูลค่าที่ต่ำกว่าของบริษัทเกาหลีใต้ในสายตานักลงทุน

กองทัพมดบุกสหรัฐ

นักลงทุนรายย่อยชาวเกาหลีใต้มีจำนวนมากถึง 14 ล้านคน ซึ่งเมื่อรวมพลังกันแล้วสามารถสร้างแรงกระเพื่อมที่ทรงพลังในตลาดหุ้นได้จนได้รับการขนานนามว่า “มด” โดยที่กองทัพมดเกาหลีใต้ได้ลงทุนในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ

เฉพาะช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนรายย่อยเกาหลีใต้ซื้อหุ้นสหรัฐเป็นมูลค่าถึง 9 พันล้านดอลลาร์แล้ว จากเดิมที่เทขายไปกว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 ซึ่งเป็นการขายครั้งแรกหลังจากผ่านช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐบูมไปแล้ว 3 ปี

เกาหลีใต้หมดหวังรวยในบ้าน  แห่ทุ่มเงินลงทุนใน ‘หุ้นสหรัฐ’

ในทางกลับกัน กองทัพมดเกาหลีเลือกเทขายหุ้นในประเทศเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 16.3 ล้านล้านวอน (3.8 แสนล้านดอลลาร์) ทำให้ดัชนี KOSPI ของหุ้นกลุ่มบลูชิปลดลง 1.3% นับตั้งแต่ต้นปีนี้ สวนทางกับดัชนี S&P 500 และ Nikkei 225 ที่พุ่งขึ้น 13% และ 5% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ได้แรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติช่วยเอาไว้จนแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 27 ล้านล้านวอน ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ แต่ก็ยังคิดเป็นเพียง 27% ของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน โดยที่นักลงทุนรายย่อยคิดเป็นสัดส่วน 54% ของตลาด

ความพยายามของรัฐยังไม่ได้ผล

แนวโน้มของรายย่อยเช่นนี้สร้างปัญหาให้กับความทะเยอทะยานของรัฐบาลเกาหลีใต้ นำโดย ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล ในการกระตุ้นการประเมินมูลค่าหุ้นที่ตกต่ำในประเทศ แม้ว่ายุนได้ให้สัญญาว่าจะยกเลิกแผนเรียกเก็บภาษีกำไรที่ได้จากการลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านวอน แต่เป็นที่คาดว่าจะยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นได้มากนัก

โอ จองมิน นักลงทุนรายย่อยวัย 42 ปี ซึ่งขาดทุนประมาณ 10% หรือราว 100 ล้านวอน (ราว 2.5 พันล้านบาท) จากหุ้นในประเทศแลหุ้นะสหรัฐในช่วงตลาดผันผวนสัปดาห์ที่แล้วกล่าวว่า เขาได้ชดเชยความสูญเสียบางส่วนกลับแล้ว และวางแผนจะซื้อหุ้นสหรัฐเพิ่ม “เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม”

“แนวโน้มการจ่ายเงินปันผลและผลตอบแทนผู้ถือหุ้นแบบที่ผมเห็นในบริษัทสหรัฐนั้น แทบจะหาไม่ได้ในเกาหลี” โอกล่าว

ทั้งโนห์และโอเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนักวิเคราะห์ นักลงทุน และเจ้าหน้าที่รัฐ 8 คนที่บอกกับรอยเตอร์เป็นเสียงเดียวกันถึงทิศทางการไหลออกของเงินทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่คาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากประชากรที่มีอายุมากขึ้นต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ทางฝั่งรัฐบาลนั้นตระหนักถึงปัญหานี้ดี จนมีเสนอโครงการที่ชื่อว่า “Corporate Value-up Programme” ขึ้นมาในเดือน ก.พ. เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากทั้งนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนต่างชาติ โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นในประเทศ โดยได้แรงบันดาลใจจากการปฏิรูปตลาดทุนของญี่ปุ่น และหนึ่งในนั้นก็คือมาตรการการใช้แรงจูงใจทางภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุนรายย่อย

อย่างไรก้ตาม นักวิเคราะห์หลายรายมองว่าโปรแกรมนี้อาจช่วยได้เพียงเล็กน้อย เหตุผลสำคัญคือโครงสร้างการกำกับดูแลที่ขาดความโปร่งใสของกลุ่มบริษัทครอบครัว หรือที่เรียกว่า “ชินซา” ในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการที่ครอบครัวผู้ควบคุมมักถ่ายโอนหุ้นให้ทายาทรุ่นถัดไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด

นักวิเคราะห์จากมอนเดรียน อินเวสเมนท์ พาร์ทเนอร์ส ได้ให้ความเห็นว่า “ในญี่ปุ่น เพียงคำสั่งจากตลาดหลักทรัพย์ให้บริษัทปรับปรุงก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่สำหรับเกาหลีใต้โดยเฉพาะกับกลุ่มชินซา ยังเป็นที่กังขาว่าการชักจูงจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่”

“สำหรับนักลงทุนที่มองการณ์ไกล ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมจึงควรเลือกตลาดสหรัฐหากมองในระยะยาว” โอ จองมินกล่าว

เกาหลีใต้หมดหวังรวยในบ้าน  แห่ทุ่มเงินลงทุนใน ‘หุ้นสหรัฐ’

ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม อีลอน มัสก์ เรียกชาวเกาหลีใต้ว่า "คนฉลาด" ในโพสต์ X หลังจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า Tesla เป็นหุ้นสหรัฐอันดับต้น ๆ ที่ชาวเกาหลีใต้ถือครอง โดยมีการถือครองอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 4.3 แสนล้านบาท)ณ สิ้นเดือนก.ค. ตามด้วยอินวิเดีย Nvidia ที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์  (ราว 4.1 แสนล้านบาท) และ Apple ที่ 5.1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.8 แสนล้านบาท)