“หนุ่มสาวเอเชีย”ตัวขับเคลื่อนหลัก ดันตลาดศิลปะร่วมสมัยโลกโต

“หนุ่มสาวเอเชีย”ตัวขับเคลื่อนหลัก ดันตลาดศิลปะร่วมสมัยโลกโต

ยอดขายงานศิลปะร่วมสมัยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 25 เท่าในรอบ 20 ปีเพราะฝีมือเหล่านักสะสมงานศิลปะหนุ่มสาวชาวจีนและในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ

ในยุคที่ซอฟต์พาวเวอร์กำลังมาแรง ทุกประเทศพยายามใช้ดนตรี วัฒนธรรม และอาหารมาเป็นจุดขายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศในยามที่ทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะขาลงทางเศรษฐกิจและปัญหาขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ตามจุดต่างๆ 

นิกเคอิ เอเชีย นำเสนอบทความน่าสนใจที่ระบุว่า คนหนุ่มสาวในเอเชียกำลังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้ตลาดงานศิลปะร่วมสมัยเติบโตและสร้างรายไ้ด้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยยอดขายงานศิลปะประเภทนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 25 เท่าในรอบ 20 ปีเพราะฝีมือของเหล่านักสะสมงานศิลปะหนุ่มสาวชาวจีนและในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ตลอดจนบรรดาศิลปินในเอเชีย

จิตกรรมแนวเสียดสี โดยศิลปินชาวจีนชื่อ Fang Lijun เป็นตัวอย่างที่ดี โดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียฟูกุโอกะประเทศญี่ปุ่นซื้อผลงานของเขาไปในราคา 14 ล้านเยน(89,000ดอลลาร์)เมื่อปี 2539 และตอนนี้ผลงานชิ้นนี้มีมูลค่าประมาณ 1.1 พันล้านเยน

ศิลปะเอเชียร่วมสมัย ซึ่งไม่ได้เป็นที่สนใจของผู้คนมากนักในช่วงทศวรรษ 1990 กำลังเป็นที่ต้องการของบรรดาพิพิธภัณฑ์และเหล่านักสะสมงานศิลปะจากทั่วโลก"เอตสุโกะ อิวานากะ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียฟูกุโอกะประเทศญี่ปุ่น กล่าว พร้อมทั้งระบุว่า เหล่าศิลปินทั้งในอินเดียและในอินโดนีเซียช่วยหนุนให้ราคาผลงานศิลปะประเภทนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากเหล่าศิลปินในเอเชียจะเป็นผู้ผลักดันให้งานศิลปะได้รับความนิยมมากขึ้นแล้ว บรรดานักสะสมเองก็เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่เน้นสะสมงานศิลปะแบบดั้งเดิมของตะวันตกมาเป็นสะสมผลงานศิลปะที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งเชื้อชาติ,อายุ และเพศ ขณะที่เศรษฐกิจของเอเชียมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บรรดาศิลปินจากภูมิภาคนี้ก็เริ่มไปศึกษาต่างประเทศกันมากขึ้นและนำประสบการณ์ที่ได้รับมาสร้างสรรผลงานจนเกิดเป็นแนวโน้มอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ข้อมูลจาก artprice.com บริษัทให้ข้อมูลตลาดงานศิลปะทางออนไลน์สัญชาติฝรั่งเศส ระบุว่า นับจนถึงเดือนมิ.ย.ปี 2566 การประมูลงานศิลปะทั่วโลกสร้างรายได้ 2.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 25 เท่าเมื่อเทียบกับช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้  และในช่วงเดียวกัน  มีการขายงานศิลปะจากการประมูลมากเป็นประวัติการณ์ที่ 123,000 ล็อต ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้บแต่เริ่มต้นสหัสวรรษ นอกเหนือจากช่วงขาลงช่วงสั้นๆเพราะผลพวงจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2551

บรรดาสถาบันประมูลงานศิลปะได้ประโยชน์โดยตรงจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในเอเชียด้วยเช่นกัน เช่น โซธบีส์ สถาบันประมูลงานศิลปะรายใหญ่ของโลกวางแผนย้ายไปอยู่ในสำนักงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในฮ่องกงในเดือนก.ย.นี้ ด้วยความมั่นใจว่าตลาดประมูลงานศิลปะจะคึกคักตลอดทั้งปี

“เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตลาดงานศิลปะในหมู่ชาวจีนอย่างมาก เพราะไลฟ์สไตล์ของชาวจีนที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนที่มีอายุ 20 ปี ถึง 40 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มชื่นชอบงานศิลปะร่วมสมัยมากขึ้น”ยาสุเอกิ อิชิสุกะ ที่ปรึกษาอาวุโสจากโซธบีย์ส ในญี่ปุ่น ให้ความเห็น

“หนุ่มสาวเอเชีย”ตัวขับเคลื่อนหลัก ดันตลาดศิลปะร่วมสมัยโลกโต

ทั้งนี้ จีนมีสัดส่วน 32% ของยอดขายงานศิลปะจากการประมูลทั่วโลกจนถึงเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว ใกล้เคียงกับสหรัฐที่ถือเป็นตลาดงานศิลปะร่วมสมัยขนาดใหญ่สุด ขณะที่ความสนใจในงานศิลปะร่วมสมัยก็เติบโตขึ้นด้วยในประเทศอื่นๆ" อิชิสุกะ กล่าวและว่าผู้เข้าร่วมประมูลงานศิลปะเมื่อไม่นานมานี้ รวมถึง บรรดาเจ้าของกิจการบริษัทเทคโนโลยีชาวเวียดนาม

ในส่วนของญี่ปุ่น แม้มีสัดส่วนไม่ถึง 2%ในตลาดศิลปะร่วมสมัยแต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็มองเห็นศักยภาพการเติบโตของตลาดนี้ โดยเงินหมุนเวียนในธุรกิจประมูลงานศิลปะ SBI ของญี่ปุ่นมีมูลค่าสูงถึง 5.2 พันล้านเยน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ โดย60% ของผู้ประมูลงานศิลปะที่ประสบความสำเร็จเป็นกลุ่มคนอายุ 40 ปีหรือน้อยกว่านั้น

“ความต้องการงานศิลปะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เนื่องจากประชาชนใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากกว่าออกไปข้างนอก นอกจากนี้ บรรดาเจ้าของที่ร่วมทุนทำธุรกิจ พนักงานประจำก็มีส่วนช่วยให้ลูกค้าของเราเพิ่มมากขึ้น”เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่สถาบันประมูลงานศิลปะร่วมสมัยในญี่ปุ่น กล่าว

ซิตี้กรุ๊ป ระบุว่า  ในส่วนของนักลงทุนก็มีความต้องการลงทุนในงานศิลปะร่วมสมัยด้วยเช่นกัน  ทำให้ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนสูงกว่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนในหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทั้งในระยะกลางและระยะยาว  

"บรรดาซูเปอร์ริชที่มีสินทรัพย์มากกว่า 30 ล้านดอลลาร์บอกว่าจะลงทุนประมาณ 5% ของสินทรัพย์ในงานศิลปะ ,นาฬิกา,ไวน์และสินทรัพย์อื่นๆ"ซาโตชิ ทาเกชิตะ นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Nomura Institute of Capital Markets Research กล่าว 

ขณะที่คนทั่วไปที่มีฐานะบางคนมองว่า การซื้องานศิลปะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความหลากหลายด้านการลงทุนของพวกเขาท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลกจากปัญหาขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในการสะสมงานศิลปะร่วมสมัย เพราะไม่มีอะไรค้ำประกันว่ามูลค่าของงานศิลปะของพวกเขาจะเพิ่มขึ้น 

“ไม่มีใครรู้ว่างานศิลปะชิ้นนั้นๆจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือไม่เมื่อเวลาล่วงเลยไป”อิชิสุกะ กล่าว

ขณะที่อุปสรรคอื่นๆก็มีความยากลำบากในการหาที่เก็บงานศิลปะที่เหมาะสมและการประเมินมูลค่าของงานศิลปะโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ทั้งยังมีความวิตกกังวลกว่า ตลาดจีนอาจจะหยุดเติบโตเพราะผลพวงการชลอตัวของเศรษฐกิจ

"ไดสุเกะ มิยัตสึ" ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปะโยโกฮามา และเป็นนักสะสมงานศิลปะร่วมสมัยที่มีชื่อเสียง ย้ำถึงความสำคัญของมูลค่าที่ไม่เป็นตัวเงินของงานศิลปะ เช่น ผลงานนั้นช่วยเติมเต็มจิตใจ 

“งานศิลปะร่วมสมัยมีความน่าดึงดูดใจในฐานะที่สะท้อนถึงยุคปัจจุบันและความวิตกกังวลของสาธารณะ อีกทั้งยังกระตุ้นให้ผู้คนเรียนรู้เกี่ยวกับงานศิลปะและผลกระทบทางสังคม”มิยัตสึ กล่าว

“หนุ่มสาวเอเชีย”ตัวขับเคลื่อนหลัก ดันตลาดศิลปะร่วมสมัยโลกโต