เที่ยว ‘เมืองรองญี่ปุ่น’ บูม! สัมผัสเสน่ห์ท้องถิ่นแบบใหม่

เที่ยว ‘เมืองรองญี่ปุ่น’ บูม! สัมผัสเสน่ห์ท้องถิ่นแบบใหม่

“เมืองรอง” ในญี่ปุ่นกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากความแออัดของเมืองท่องเที่ยวหลัก บริษัททัวร์ญี่ปุ่นจึงหันมาดึงดูดนักท่องเที่ยวสู่เมืองรอง ผ่านแคมเปญท่องเที่ยวที่หลากหลาย และพลิกโฉมบ้านร้างในชนบทให้กลายเป็นที่พักท่องเที่ยวอันสวยงาม

KEY

POINTS

  • จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าญี่ปุ่น “เพิ่มขึ้น” ประมาณ 6% ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เมื่อเทียบกับระดับปี 2562
  • นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ และยุโรป มีแนวโน้มพักในญี่ปุ่นประมาณ 2 สัปดาห์ ขณะที่นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้และไต้หวัน ค่อนข้างพักน้อยกว่า 1 สัปดาห์
  • Airbnb กำลังลงทุนในชนบทของญี่ปุ่น โดยได้เปลี่ยนบ้านทิ้งร้างในญี่ปุ่นให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายชื่อที่พักที่น่าสนใจบนแพลตฟอร์มของตน

นอกจากเมืองท่องเที่ยวชื่อดังอย่างโตเกียว โอซากา และเกียวโตแล้ว เมืองรอง” หลายแห่งของญี่ปุ่นได้บูมขึ้นมาด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องการสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ อีกทั้งเหล่าบริษัทตัวแทนท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ก็หันมาส่งเสริมเมืองรองแทน เพื่อลดความแออัดผู้คนในเมืองหลักลง

สำนักข่าวนิเคอิรายงานว่า นับตั้งแต่ญี่ปุ่นเปิดพรมแดนอีกครั้งในปี 2565 “JTB” บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นได้ขยายเส้นทางทัวร์ไปยังเมืองปลายทางที่คนไม่ค่อยรู้จัก เช่น เมืองคานาซาวะ และในปีนี้ บริษัทยังได้เปิดเส้นทางทัวร์ใหม่ไปยังภูมิภาคโทโฮคุ และเกาะฮอกไกโด ที่อยู่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นเพิ่มอีกด้วย

ชิน ฟูจิโมโต (Shin Fujimoto) หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์ธุรกิจการท่องเที่ยวเข้าญี่ปุ่นของ JTB กล่าวว่า "ท่ามกลางจำนวนนักท่องเที่ยวที่ล้นเกิน และเพื่อให้เกิดภาพการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เราจึงพัฒนาบริการใหม่ที่จะพานักท่องเที่ยวกระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของญี่ปุ่นแทน"

ฟูจิโมโตกล่าวต่อว่า “อาหาร” เป็นหนึ่งในจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ JTB ใช้ฟื้นฟูพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวน้อยคนรู้จักให้โด่งดังขึ้นมา โดยบริษัทร่วมมือกับ Tablecross สตาร์ทอัพด้านแพลตฟอร์มอาหารของญี่ปุ่น เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหารสุดหรู ในราคาประมาณ 30,000 เยน หรือราว 7,000 บาทต่อผู้เข้าร่วม

สำหรับแผนของ JTB เป็นการดำเนินตามยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในการกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้ใช้จ่าย และออกนอกเมืองหลวงมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทส่งเสริมการท่องเที่ยวฉบับใหม่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งประกาศใช้เมื่อปีที่แล้ว

ท่องเที่ยวชานเมืองญี่ปุ่นบูม

ในปัจจุบัน สถานที่นอกเมืองของญี่ปุ่นกำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ เช่น สวนฮิตาชิ ซีไซด์ ปาร์ค (Hitachi Seaside Park) ที่เมืองฮิตาชินากะ มีพื้นที่สีเขียวและดอกไม้ตามฤดูกาลที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวประมาณสองชั่วโมง

นักท่องเที่ยวชาวไทยท่านหนึ่งที่มาเยี่ยมชมสวนแห่งนี้กล่าวว่า "สวนแห่งนี้มีชื่อเสียงบนโซเชียลมีเดียของไทย ฉันอยากถ่ายรูปตอนที่ไม่มีคนเดินผ่านไปมา"

ในช่วงวันหยุดสัปดาห์ทองที่ยาว 10 วัน โดยในปีนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนนี้ มีผู้เข้าชมสวนฮิตาชิ ซีไซด์ พาร์คเฉลี่ยที่ 32,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นเกือบ 40% เมื่อเทียบกับปี 2566

เที่ยว ‘เมืองรองญี่ปุ่น’ บูม! สัมผัสเสน่ห์ท้องถิ่นแบบใหม่ เที่ยว ‘เมืองรองญี่ปุ่น’ บูม! สัมผัสเสน่ห์ท้องถิ่นแบบใหม่

- สวนฮิตาชิ ซีไซด์ พาร์ค (เครดิต: @puraten10blue) -

นักท่องเที่ยวฝรั่งพักยาว ส่วนเกาหลีใต้-ไต้หวัน นิยมพักสั้น

ตามข้อมูลของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น (JNTO) รายงานว่า “จำนวนนักท่องเที่ยว” ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่น “เพิ่มขึ้น” ประมาณ 6% ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เมื่อเทียบกับระดับปี 2562 แม้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนจะยังไม่ฟื้นตัวเท่าช่วงก่อนโควิด แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ ก็ช่วยดันแนวโน้มดังกล่าวให้สูงขึ้น

นอกจากนั้น “ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน” ของนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมก็ “เพิ่มขึ้น” 38.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 แม้ว่าเงินเฟ้อและราคาโรงแรมที่สูงขึ้นจะเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นนี้ แต่ค่าเงินเยนที่อ่อนตัว ก็ถูกมองเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการใช้จ่ายของชาวต่างชาติ

ข้อมูลของบริษัท JTA ระบุว่า นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ และยุโรป มีแนวโน้มใช้จ่ายมากกว่าและพักนานกว่า โดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากประเทศใกล้เคียงอย่างเกาหลีใต้และไต้หวัน ค่อนข้างพักน้อยกว่า 1 สัปดาห์

Airbnb จับมือ Muji เนรมิตบ้านร้างญี่ปุ่นเป็นที่พักท่องเที่ยว

Airbnb แพลตฟอร์มจองที่พักอาศัยส่วนบุคคล เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่กำลังลงทุนในชนบทของญี่ปุ่น โดยได้เปลี่ยนบ้านทิ้งร้างในญี่ปุ่นให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายชื่อที่พักที่น่าสนใจบนแพลตฟอร์มของตน

ไม่เพียงเท่านั้น Airbnb ได้จับมือกับบริษัท Ryohin Keikaku เจ้าของแบรนด์ร้านค้าปลีก Muji เพื่อปรับปรุงบ้านพักเหล่านั้น และบริษัทได้บริจาคเงิน 150 ล้านเยน ให้กับสมาคมโคมินกะแห่งญี่ปุ่น (Japan Kominka Association) ซึ่งมุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูบ้านเก่า

อีกทั้งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทประกาศลงทุน 1 ล้านดอลลาร์ในโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงชนบท โดยโครงการนี้จะเชิญบุคลากรด้านการท่องเที่ยวที่มีความสามารถของญี่ปุ่นไปยังสหรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกัน

ฮิเดโตโมะ นางาตะ (Hidetomo Nagata) เจ้าหน้าที่บริหารของ Ryohin Keikaku บริษัทเจ้าของแบรนด์ Muji ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับ Airbnb ทำหน้าที่ดูแลโครงการ "Muji Base" ซึ่งมุ่งปรับปรุงบ้านโบราณให้เป็นที่พักสุดพิเศษ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงชนบท

นางาตะเชื่อมั่นว่า บ้านโบราณที่ได้รับการปรับปรุงใหม่เหล่านี้ มีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ บ้านโบราณอายุร่วม 100 ปี ในเมืองคะโมะงะวะ จังหวัดชิบะที่บริษัทนำมารีโนเวทใหม่และเปิดเป็นที่พักเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีการจองเกือบเต็มตลอด 3-4 เดือนข้างหน้า

เที่ยว ‘เมืองรองญี่ปุ่น’ บูม! สัมผัสเสน่ห์ท้องถิ่นแบบใหม่

- บ้านพักเก่าญี่ปุ่นอายุราว 100 ปีที่รีโนเวทโดย MUJI (เครดิต: Airbnb) -

เขากล่าวปิดท้ายว่า "นักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงเดินทางไปโตเกียวหรือเกียวโตเท่านั้น แต่ยังเดินทางไปยังเขตชานเมือง เพื่อหาประสบการณ์ที่หาได้เฉพาะในท้องถิ่น"

อ้างอิง: nikkei, Airbnb