ไม่ง่าย! พยากรณ์ ‘ซากุระบาน’ ในญี่ปุ่น ต้องผ่านความท้าทายอะไรบ้าง?

ไม่ง่าย! พยากรณ์ ‘ซากุระบาน’ ในญี่ปุ่น ต้องผ่านความท้าทายอะไรบ้าง?

เทศกาลดอกซากุระผลิบานประจำปีของญี่ปุ่น ซึ่งดึงดูดรายได้นับแสนล้านเข้าประเทศ แท้จริงแล้วมีความท้าทายอยู่ที่การพยากรณ์วันเริ่มต้นซากุระบาน หากคลาดเคลื่อนอาจสร้างความเสียหายหนักต่อภาคการท่องเที่ยว

ขณะนี้ ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ อันเป็นช่วงไฮซีซันของนักท่องเที่ยวที่จะมาเยี่ยมชมดอกซากุระบานสะพรั่ง ซึ่งเริ่มตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.เป็นต้นไป และนักท่องเที่ยวจำนวนหลายล้านคนได้เข้ามาหาสถานที่สำคัญเพื่อชมความงามดอกซากุระนี้

ในแต่ละปี ฮิโรกิ อิโตะ นักอุตุนิยมวิทยาชาวญี่ปุ่น จะทำนายวันซากุระบานสำหรับสถานที่ราว 1,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ในการวางแผนแวะเช็กอินสถานที่ชมดอกซากุระแห่งต่าง ๆ ในญี่ปุ่นลงโซเชียลมีเดีย

การชื่นชมความงามของซากุระบาน เป็นที่รู้จักในชื่อ “เทศกาลฮานามิ” ซึ่งมีความเก่าแก่มานับร้อยปี โดยมหาวิทยาลัยคันไซในโอซากา คาดการณ์ว่า เทศกาลซากุระบานปีนี้จะสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้ญี่ปุ่นถึงประมาณ 616,000 ล้านเยนหรือราว 161,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยฟื้นภาคการท่องเที่ยวที่กำลังซบเซาของประเทศ หลังได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติโควิด-19

 

ไม่ง่าย! พยากรณ์ ‘ซากุระบาน’ ในญี่ปุ่น ต้องผ่านความท้าทายอะไรบ้าง?

- ความสวยงามของซากุระบานในกรุงโตเกียวขณะนี้ (เครดิต: AFP) -

 

เม็ดเงินรายได้ที่สูงหลักแสนล้านนี้ ยิ่งเพิ่มความกดดันให้กับ อิโตะ ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท Japan Meteorological Corp. (JMC) หนึ่งในผู้ให้บริการพยากรณ์ซากุระบานรายใหญ่ในโอซากา และต้องพยากรณ์วันเวลาซากุระบานให้ใกล้เคียงความจริงที่สุด

ขณะเดียวกัน การพยากรณ์นี้ยังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจทั้งรายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ ตั้งแต่ร้านสตาร์บัคส์ที่เปิดตัวลาเต้ธีมซากุระประจำฤดูใบไม้ผลิ ไปจนถึงบริษัททัวร์และบริษัทจัดหาที่พัก ในการจัดแคมเปญการตลาดและโปรโมชันต่าง ๆ

“เทศกาลนี้ได้รับความสนใจท่วมท้นจากสาธารณชน หากคุณประกาศผลพยากรณ์ออกมา ย่อมมีคนเห็นจำนวนมากและมีผลต่อชื่อเสียงของบริษัทคุณด้วย” ชายวัย 37 ปี ผู้รวบรวมข้อมูลอุณหภูมิเพื่อประมวลผลการทำนายซากุระบานในแต่ละปี กล่าว

อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์ผิดสามารถสร้างความเสียหายมหันต์ อย่างกรณีในปี 2550 สำนักอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติญี่ปุ่น (JMA) ต้องออกมาขอโทษต่อสาธารณชน หลังจากพยากรณ์วันซากุระบานคลาดเคลื่อนถึง 9 วัน จนสร้างปัญหาให้กับธุรกิจท่องเที่ยวพอสมควร และสำนักอุตุฯ จึงต้องงดพยากรณ์ซากุระบานเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว

สำหรับระยะเวลาชมซากุระบานในญี่ปุ่นนั้นสั้นมาก ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 1 อาทิตย์ โดยอิโตะเริ่มต้นพยากรณ์ครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค. ปีนี้ และปรับวันมาเรื่อย ๆ จนถึงวันเริ่มต้นเทศกาลซากุระบาน

 

ไม่ง่าย! พยากรณ์ ‘ซากุระบาน’ ในญี่ปุ่น ต้องผ่านความท้าทายอะไรบ้าง?

- ซากุระบานริมน้ำ (เครดิต: AFP) -

 

เริ่มต้นปี 2566 อิโตะทำนายว่าซากุระในกรุงโตเกียวจะเริ่มผลิบานในวันที่ 22 มี.ค. แต่ปรากฏว่าต้นเดือน มี.ค. เนื่องจากมีอากาศอุ่นผิดฤดู เขาจึงต้องปรับผลพยากรณ์เป็นครั้งที่ 7 มาเป็นวันที่ 15 มี.ค.แทน สุดท้ายคือเขาทำนายช้าไปเพียงวันเดียว

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ การพยากรณ์มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ จากผลกระทบของโลกร้อน และอุณหภูมิที่ผิดเพี้ยน ไม่เป็นไปตามฤดูกาล

โดยปกติแล้ว ช่อดอกซากุระจะผลิดอกอย่างเร็วที่สุดในฤดูร้อนและเข้าจำศีลในฤดูหนาวซึ่งเป็นการเริ่มต้นกระบวนการออกดอก ดังนั้น ไม่ว่าอุณหภูมิสูงหรือต่ำผิดปกติ สามารถส่งผลให้วงจรการผลิดอกซากุระคลาดเคลื่อนจากเดิมได้

ในปี 2564 แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างเมืองเกียวโต ได้ชมดอกซากุระบานเร็วก่อนกำหนด นักวิจัยกล่าวว่า เหตุการณ์นี้เกิดบ่อยจนเป็นเรื่องปกติขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก ๆ 5 ปีภายในสิ้นศตวรรษนี้ อันเป็นผลจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศโลก

ในขณะที่อิโตะทำงานพยากรณ์วันซากุระบานตัวคนเดียว เขาก็ต้องรับมือคู่แข่งสุดหินอย่าง Japan Weather Association (JWA) เว็บไซต์พยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำอีกราย ซึ่งมีทีมงานประมาณ 10 คนช่วยกันพยากรณ์

ไอโกะ ไซโตะ รองผู้จัดการแผนกสื่อและธุรกิจลูกค้าของ JWA เปิดเผยว่า ทีมงานในแผนกต่าง ๆ จะคอยสังเกตตั้งแต่ตัวอย่างต้นไม้ พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลจากสถานีพยากรณ์อากาศที่ทำงานร่วมกัน

นอกจากนั้น ไซโตะเสริมว่า ถึงแม้ JWA ไม่ได้สร้างรายได้โดยตรงจากการทำนายซากุระบาน แต่การได้รับความสนใจจากสื่อในช่วงเทศกาลนี้ จะส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจของบริษัท

“ความต้องการทราบข้อมูลพยากรณ์วันซากุระบานนั้นสูงมาก ๆ ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศด้วย”

ขณะเดียวกัน สำหรับอิโตะแล้ว การพยากรณ์ซากุระบานยังต่อยอดไปด้านอื่น ๆ ได้ โดยปัจจุบัน วิธีพยากรณ์ซากุระนี้ยังถูกใช้ในการทำนายเหตุการณ์เกี่ยวกับสภาพอากาศอื่น ๆ ที่เหมาะกับการถ่ายรูปสวย ๆ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านฤดูร้อนไปสู่ฤดูใบไม้ร่วง ทำนายวันเริ่มฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ที่แม่นยำขึ้นสำหรับเกษตรกร

ไม่ง่าย! พยากรณ์ ‘ซากุระบาน’ ในญี่ปุ่น ต้องผ่านความท้าทายอะไรบ้าง?

ไม่ง่าย! พยากรณ์ ‘ซากุระบาน’ ในญี่ปุ่น ต้องผ่านความท้าทายอะไรบ้าง?

- ภาพบรรยากาศความสวยงามของซากุระบานในกรุงโตเกียวขณะนี้ กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวจากในและต่างประเทศ ซึ่งช่วงเวลานี้มีให้เห็นเพียงปีละครั้งเท่านั้น (เครดิต: AFP) -

อย่างไรก็ตาม อิโตะยังคงอุทิศตนให้กับเทศกาลซากุระบานเช่นเดิม และเนื่องจากชาวญี่ปุ่นอีกครึ่งประเทศยังไม่ได้เห็นความงามของดอกไม้ชมพูบานสะพรั่ง ทำให้ทุกสายตาจะจับจ้องไปที่การพยากรณ์ของเขาและสำนักอื่น ๆ จนกว่าจะถึงการผลิบานรอบสุดท้ายของซากุระในช่วงประมาณเดือน พ.ค.นี้ จนกว่าจะได้เห็นอีกครั้งในปีหน้า

อ้างอิง: bloomberg