ใบปริญญายังสำคัญอยู่หรือไม่?  ถ้าไม่อาจการันตี‘งานดี-เงินเดือนสูง’

ใบปริญญายังสำคัญอยู่หรือไม่?  ถ้าไม่อาจการันตี‘งานดี-เงินเดือนสูง’

ใบปริญญายังสำคัญอยู่หรือไม่? ในปี 2024 เมื่อนายจ้างต้องการคนมี ‘ทักษะ’ และวุฒิการศึกษาไม่อาจการันตี‘งานดี-เงินเดือนสูง’ ผลสำรวจพบ 1 ใน 3 ของ Gen Z และ Gen Y เลือกไม่เรียนต่อมหาลัยเพราะค่าเทอมแพง พร้อมกับเงินเดือนคนจบปริญญาใกล้เคียงคนจบมัธยม

ปริญญายังสำคัญอยู่หรือไม่? เมื่อการสำรวจของ Deloitte พบว่า 1 ใน 3 ของ Gen Z และ Millennials เลือกที่จะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย ประกอบกับศูนย์วิจัย Pew Research Center ได้เผยแพร่รายงานที่เจาะลึกเกี่ยวกับ "ปริญญายังคุ้มค่าอยู่หรือไม่" โดยรายงานนี้เปรียบเทียบผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจของวัยรุ่นที่จบการศึกษาระดับปริญญากับผู้ที่ไม่ได้จบปริญญา พบว่าชายหนุ่มวัยทำงานที่ไม่มีใบปริญญาก็มีรายได้สูงพอๆกับคนที่มีปริญญา 

การวิจัยพบว่า ชายหนุ่มวัยทำงานที่จบปริญญาตรีหรือสูงกว่า มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14% ภายใน 10 ปี จาก 2.3 ล้านบาท เป็น 2.6 ล้านบาท ใกล้เคียงกับชายหนุ่มที่จบแค่ระดับมัธยมศึกษา ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น  14.6% จาก 1.3 ล้านบาท เป็น 1.5 ล้านบาทใน 10 ปี  

อย่างไรก็ดี แม้ว่าชายหนุ่มวัยทำงานที่จบการศึกษาแค่ระดับมัธยมศึกษา มีรายได้ที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าปี 2557 แต่ก็ยังไม่สูงเท่ากับเพื่อนร่วมวัยที่มีใบปริญญาตรีหรือสูงกว่า

‘ค่าเทอมแพง’ทำมหาวิทยาลัยไร้เสน่ห์? 

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันจำนวน 5,203 คน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา รายงานพบว่า มีเพียง 22% เท่านั้นที่มองว่าการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยคุ้มค่าหากต้องแลกกับหนี้สินเพื่อการศึกษา

“การศึกษาระดับอุดมศึกษา“กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยไม่เห็นความสำคัญของรั้วมหาวิทยาลัย โดยปัจจัยหลักมาจากความกังวลเรื่องหนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ประกอบกับหลายรัฐเริ่มยกเลิกข้อกำหนดวุฒิการศึกษาปริญญาตรี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงงานได้ง่ายขึ้น และหลักสูตรวิชาชีพที่ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาระดับวิทยาลัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนไม่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ

ปริญญาตรีอาจไม่การันตี "งานที่ดี" และ "สถานะทางสังคม" เหมือนดังเช่นอดีต

จากข้อมูลล่าสุด อัตราการว่างงานของชาวอเมริกันวัย 25 ปีขึ้นไป ที่จบเพียงชั้นมัธยมปลาย อยู่ที่ 4.0% ในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งลดลงจาก 6.2% ในช่วงเดียวกันของปี 2557

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากรายงานของ US News & World Report เผยว่า ค่าเล่าเรียนของวิทยาลัยมีอัตราการเพิ่มสูงกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างมาก ส่งผลให้นักศึกษามีหนี้สินจำนวนมาก โดยค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยที่วิทยาลัยเอกชนพุ่งสูงขึ้น 144% และของมหาวิทยาลัยรัฐบาลมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 211%

ทว่าการไม่ให้ความสนใจกับใบปริญญาของหนุ่มสาวชาวสหรัฐนี้ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก เมื่อดู “หนี้สิน” ของนักศึกษาในสหรัฐที่โตทะลุ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากราคาค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้นขึ้นทุกปีๆ ทำให้ยอดเงินกู้สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 29,000 ดอลลาร์ หรือราวๆ 1 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ค่าเทอมเท่านั้น เพราะมหาวิทยาลัยบางแห่งเรียกเก็บเงินค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียม ค่าห้อง และค่าอาหารเกือบ 3 ล้านบาทต่อปี

ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ผู้คนจำนวนมากตั้งคำถามว่าผลตอบแทนจากการลงทุนด้านการศึกษานั้นคุ้มค่ากับความตึงเครียดทางการเงินในยุคนี้หรือไม่

นายจ้างอยากได้‘ทักษะ’มากกว่าใบปริญญา

จากการวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่านายจ้างหลายแห่งกำลังลดความสำคัญของปริญญาตรีในการจ้างงาน และมองหาผู้สมัครที่มีทักษะและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสายงาน หรือเรียกว่า "การจ้างงานตามทักษะ" โดยมีบริษัทหนึ่งในสาม ไม่ได้ระบุข้อกำหนดด้านการศึกษาไว้ในประกาศรับสมัครงานที่ได้รับเงินเดือนอีกต่อไป โดยเลือกที่จะใช้วิธีการจ้างงานตามทักษะแทน

รายงานจาก Richard Fry นักวิจัยอาวุโสของ Pew ผู้ร่วมเขียนการสำรวจ เผยให้เห็นว่ากลุ่มคนหนุ่มสาวในสหรัฐที่มีการศึกษาน้อย กำลังมีโอกาสในการทำงานและได้รับค่าจ้างที่ดีขึ้น เนื่องจากตลาดแรงงานที่ตึงตัว และให้การให้ความสำคัญกับทักษะ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นายจ้างมีปัญหาในการหางานทั้งตำแหน่งทักษะสูงและทักษะต่ำ ส่งผลให้คนงานมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และแม้ว่างานบางประเภทอาจไม่ต้องการทักษะขั้นสูง แต่ทักษะที่จำเป็นสำหรับงานเหล่านี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาน้อยที่สามารถปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ จะมีโอกาสในการหางานและได้รับค่าจ้างที่ดีขึ้น

แนวคิดนี้กำลังได้รับความสนใจในภาคส่วนเทคโนโลยี การให้คำปรึกษา และการเงิน โดยบริษัทต่างๆ เช่น Google, IBM, Deloitte และ Bank of America ละทิ้งข้อกำหนดวุฒิการศึกษาสี่ปีสำหรับบางบทบาท

ขณะเดียวกัน ผู้หญิงที่ไม่มีวุฒิการศึกษาระดับวิทยาลัยเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 กว่า 69% ของผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับมัธยมปลาย และ 78% ของผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับวิทยาลัยได้ก้าวเข้ามาสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งยังต่ำกว่าปี 2543 เล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการขาดสวัสดิการของรัฐบาลกลางและการลาจากครอบครัว ทำให้ผู้หญิงบางคนต้องออกจากงานหากมีลูก

ทั้งหมดนี้หมายความว่าคนงานที่ไม่มีวุฒิการศึกษาจะสามารถเข้าถึงงานที่มีรายได้สูงกว่าซึ่งพวกเขาอาจไม่มีสิทธิ์ได้รับเมื่อ 10 หรือ 15 ปีที่แล้ว