กต.เผย สถานการณ์ชายแดนไทย - เมียนมาไม่แน่นอน ย้ำช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามหลักสากล

กต.เผย สถานการณ์ชายแดนไทย - เมียนมาไม่แน่นอน ย้ำช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามหลักสากล

กระทรวงการต่างประเทศแถลงสรุปประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจ ระบุ สถานการณ์ชายแดนไทย - เมียนมายังมีความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลไทยยังคงติดตามอย่างต่อเนื่อง ย้ำให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามหลักสากล

นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แถลงรายงานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ครั้งที่ 1 โดยมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในการจัดประชุม ว่า ที่ประชุมได้สรุปเหตุการณ์ และประเด็นสำคัญหลายประการ ดังนี้

  • สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง มีการขยายพื้นที่สู้รบระหว่างฝ่ายต่อต้าน และกองกำลังทหารเมียนมา ซึ่งชายแดนไทย และพื้นที่เมืองเมียวดี ยังคงเป็นยุทธศาสตร์ที่ทั้งสองฝ่ายต้องการยึดครอง

อย่างไรก็ดี แนวโน้มในช่วง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา ดีขึ้นคนในพื้นที่ไม่ได้ยินเสียงการปะทะหรือเสียงระเบิดใดๆ  

  • สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยงานหลายฝ่ายได้ประเมินสถานการณ์ไว้หลายรูปแบบ เช่น การมีผู้ลี้ภัยมายังฝั่งไทยมากขึ้นนั้น ไทยยังคงยึดมั่นในการรักษาอธิปไตย ไม่ให้ใช้ดินแดนดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลต่างประเทศ และยึดมั่นหลักมนุษยธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ
  • สำหรับการสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมากับสาธารณชน และชาวต่างประเทศ จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศในการสื่อสารจากส่วนกลาง และศูนย์สั่งการชายแดน จ.ตาก จะเป็นหน่วยงานหลักที่ให้ข่าวจากพื้นที่
  • กระทรวงการต่างประเทศ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วน สมช. จะเป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคง และการข่าว ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหลักในการประสานด้านการทูต กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย อาทิ ฝ่ายต่างประเทศ กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน กลุ่มชาติพันธุ์

นอกจากนี้ ไทยได้ประสานไปยังลาวซึ่งเป็นประธานอาเซียน โดยเสนอให้จัดประชุม TRIGA+ ขณะนี้กำลังรอประเทศลาวพิจารณาว่าจะจัดการประชุมขึ้นที่ใด

อธิบดีนิกรเดชย้ำ ไทย-เมียนมา ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง ดังนั้นทุกอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นปัญหาภายในเมียนมาเอง ซึ่งไทยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับคนหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มพลเรือน และกลุ่มทหารที่ขอลี้ภัย ซึ่งไทยมีขั้นตอนเป็นหลักสากลที่จะให้ความช่วยเหลือ เช่น การปลดอาวุธ และเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นเครื่องแบบพลเรือน และจะส่งกลับประเทศเมื่อสถานการณ์สงบ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์