'กองทัพ' ปูแผนป้องชายแดนไทย-เมียนมา ระดมกำลัง-ยุทโธปกรณ์ เฝ้า 24 ชม.

'กองทัพ' ปูแผนป้องชายแดนไทย-เมียนมา ระดมกำลัง-ยุทโธปกรณ์ เฝ้า 24 ชม.

"กองทัพ" เพิ่มกำลังพล-ยุทโธปกรณ์ ตรึงเข้มชายแดนไทย-เมียนมา 24 ชม. กำหนด 5 จุดปลอดภัยรับผู้อพยพ ปลดอาวุธทหารเมียนมา-สกัดอากาศยาน ข้ามแดน

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก มีการประชุมถึงแนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา  เบื้องต้นมีการเพิ่มกำลังพลและยุทโธปกรณ์ปฏิบัติภารกิจตามแนวชายแดน ไทย - เมียนมา ตลอด 24 ชั่วโมง ตามแผนเผชิญเหตุของกองกำลังป้องกันชายแดน โดยเฉพาะในพื้นที่หน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร 

นอกจากนี้ศูนย์สั่งการชายแดนไทย - เมียนมา จังหวัดตาก มีการดูแลด้านมนุษยธรรมผู้อพยพในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว จังหวัดตาก จำนวน 6 พื้นที่ จำนวน 3,027 คน คือ ท่าทรายรุจิรา, สำนักสงฆ์วังข่า, บ้านวังตะเคียนใต้, ท่าข้ามที่ 33 และ ท่าข้ามที่ 35 บ.วังตะเคียน ม.7 อ.แม่สอด และ บ.หนองหลวง อ.อุ้มผาง จ.ตาก
พร้อมเตรัยมพื้นที่รองรับกรณีผู้อพยพได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ

สำหรับทหารเมียนมาข้ามมายังฝั่งไทย แนวทางการปฏิบัติ จะดำเนินการปลดอาวุธ ตรวจสอบ คัดกรอง ตามหลักสากล
และแนวทางที่ กองทัพบก ยึดถือและปฏิบัติมา หลังจากนั้น ก่อนเข้าพื้นที่รองรับที่จัดเตรียมไว้ โดยจะให้ ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมพื้นฐานในขั้นต้น ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว จะดำเนินการส่งกลับ ทหารเมียนมา (โดยความสมัครใจ) ให้กับทางการเมียนมาต่อไป 

ส่วนกรณีที่มีการสู้รบล้ำเข้ามาในเขตไทย เช่น มีเครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์ อากาศยานไร้คนขับ ทิ้งระเบิด หรือมีกระสุนตกเข้ามายังฝั่งไทย หน่วยเฉพาะกิจราชมนู กกล.นเรศวร ได้วางกำลังตลอดแนวด้านตรงข้าม พื้นที่การสู้รบ ซึ่งสามารถส่งสัญญาณ หรือป้องปรามป้องกันการปฏิบัติการดังกล่าว จากเบาไปหาหนักได้ เช่น การยิง กระสุนควันเพื่อแจ้งเตือน เป็นต้น

โดยสถานการณ์ ปัจจุบัน มีเพียงกระสุนปืนขนาดเล็ก (ปลย. เช่น AK – 47) ตกมายังฝั่งไทย ทำให้ทรัพย์สินของราษฎรไทยได้รับความเสียหายเล็กน้อย เช่น บ้านเรือน และรถยนต์ แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต โดยทางการไทยจะมีมาตรการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ได้
ประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับไทยโดยตรง หากกลุ่มต่อต้านสามารถควบคุมพื้นที่ได้ทั้งหมด ไทยอาจมีความจำเป็นต้องปิดด่านพรหมแดนหลายแห่ง เนื่องจากฝั่งเมียนมาไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายปฏิบัติงานประจำอยู่ เช่น ตำรวจ ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อีกทั้งจะมีผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายเข้ามาทำงานในพื้นที่ตอนในเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กองทัพบก และหน่วยงานในพื้นที่ ได้ร่วมกันเตรียมการและซักซ้อมการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ก็ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้วยการเฝ้าตรวจและวางกำลังป้องกันตามแนวชายแดน ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งได้ประเมินสถานการณ์และได้ประสานการปฏิบัติร่วมกัน ระหว่าง กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก กับหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาอธิปไตย และปกป้องความปลอดภัยของพี่น้องคนไทย โดยถือเป็นความสำคัญสูงสุด และขอให้ประชาชนชาวไทยมั่นใจว่ากองทัพจะไม่ยอมให้มีการละเมิดอธิปไตยของไทยโดยเด็ดขาด

ด้าน กองทัพอากาศ ฝูงบิน 302 (หน่วยอยู่ในพื้นที่ของกองบิน 4) ได้ส่ง UAV บินขึ้นจากกองบิน 4 อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกับ หน่วยเฉพาะกิจ ราชมนู กองกำลังนเรศวร โดยบินจาก กองบิน4 จังหวัดนครสวรรค์ และถึง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง พร้อม ปฏิบัติภารกิจบริเวณชายแดนฝั่งประเทศไทย ในการลาดตระเวนระยะเวลา 5 ชั่วโมง ก่อนบินกลับมายังกองบิน 4 

สำหรับ อากาศยานไร้คนขับพิสัยกลางแบบ DominatorXP ซึ่งเป็นอากาศยานไร้คนขับแบบ Medium Altitude Long Endurance หรือ MALE มีภารกิจการบินลาดตระเวนตามแนวชายแดน และภารกิจที่ไม่ใช่การรบ เช่น การค้นหาผู้ประสบภัย หรือการเฝ้าระวังไฟป่า