"อิสราเอล"เผชิญหน้า"อิหร่าน" กดดัน"ชาติอ่าวเปอร์เซีย"เลือกข้าง

"อิสราเอล"เผชิญหน้า"อิหร่าน" กดดัน"ชาติอ่าวเปอร์เซีย"เลือกข้าง

ตอนนี้ เมื่ออิสราเอลและอิหร่านเผชิญหน้ากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ชาติในอ่าวเปอร์เซียอาจถูกกดดันให้เลือกข้าง

เว็บไซต์วอลล์สตรีท เจอร์นัล นำเสนอบทความที่ระบุว่า สองสามปีมานี้ ซาอุดิอาระเบียและประเทศต่างๆในอ่าวเปอร์เซียที่อุดมด้วยน้ำมันพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเลือกข้างในปัญหาความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐและประเทศต่างๆ  รวมทั้งการวางตัวเป็นกลางในสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ทั้งยังเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน แต่ตอนนี้ เมื่ออิสราเอลและอิหร่านเผชิญหน้ากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ชาติในอ่าวเปอร์เซียอาจถูกกดดันให้เลือกข้าง  

ซาอุดีฯและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) พยายามไม่เข้าไปมีบทบาทใดๆเมื่อเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อิหร่านเตรียมโจมตีอิสราเอลเพื่อแก้แค้นที่อิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีในซีเรียจนส่งผลให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านหลายนายเสียชีวิต

คณะเจ้าหน้าที่อาหรับเปิดเผยว่า ซาอุดีฯและยูเออีแบ่งปันข้อมูลด้านข่าวกรองที่ช่วยให้การป้องกันการโจมตีทางอากาศจากอิหร่านประสบความสำเร็จ แต่ทั้งสองประเทศนี้ก็ปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนทุกด้านตามที่รัฐบาลสหรัฐเรียกร้องมา เช่น ปฏิเสธให้สหรัฐและอิสราเอลใช้น่านฟ้าเพื่อสกัดขีปนาวุธและโดรน

การเผชิญหน้ากันระหว่างอิสราเอลและอิหร่านครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องยากอย่างมากที่ประเทศต่างๆในอ่าวเปอร์เซียจะเดินหน้ารักษาสมดุลด้านความสัมพันธ์ระหว่างคู่ปฏิปักษ์สองฝ่ายนี้ไว้ได้ เพราะอิหร่านก็เป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่สำคัญ ส่วนสหรัฐและอิสราเอลก็มีกองกำลังทางทหารที่แข็งแกร่งที่ช่วงไม่กี่ปีมานี้ทั้งซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่างก็มีความร่วมมืิอด้วยอย่างดี  

หากปัญหาขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านรุนแรงขึ้น และดึงสหรัฐเข้ามาร่วมด้วย ประเทศในอ่าวเปอร์เซียก็เจอทางเลือกที่ยากแก่การตัดสินใจ กล่าวคือ ถ้าอนุญาตให้กองทัพอเมริกันปฏิบัติการโจมตีจากฐานทัพในประเทศของพวกเขา ก็เสี่ยงที่จะถูกแก้แค้นจากอิหร่าน  หรือไม่อย่างนั้นก็พยายามปลอบใจอิหร่านและพยายามรักษาบทบาทเป็นแค่คนดูขอบสนามเหมือนที่เคยทำมาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.ที่เปิดปฏิบัติการโจมตีหลายครั้งจนทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางลุกเป็นไฟจนถึงวันนี้

นับตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีเมื่อวันเสาร์(13เม.ย.)ยูเออี ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้นและแก้ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางการทูต

ส่วนซาอุดีฯ  การเผชิญหน้ากันระหว่างอิหร่านและอิสราเอลครั้งนี้เพิ่มความยุ่งยากแก่รัฐบาลริยาด ในช่วงที่ซาอุดีฯพยายามผลักดันให้มีข้อตกลงในเวทีโลกให้มีการรับรองอิสราเอลแลกกับการได้รับการสนับสนุนด้านความมั่นคงจากสหรัฐ รวมถึงการสนับสนุนโครงการนิวเคลียร์ของประเทศ 

ความพยายามผลักดันให้เกิดข้อตกลงดังกล่าวหยุดชะงักลงเพราะสงครามในกาซา แต่ซาอุดีฯก็ยังต้องการให้สหรัฐเป็นหลักประกันด้านการป้องกันประเทศแม้จะรู้สึกว่า รัฐบาลสหรัฐเพิกเฉยกับเรื่องนี้มาตลอด10ปีที่ผ่านมา 

“เมื่อสหรัฐไม่ได้ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนด้านการป้องกันประเทศแก่ซาอุดีฯ  ความร่วมมือในเรื่องนี้ก็จะมีอย่างจำกัด”ไบลัล ซาบบ์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม ที่ทำงานด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงในตะวันออกกลางและปัจจุบันเป็นสมาชิกในกลุ่มนักคิด Chatham House ที่มีฐานดำเนินงานอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้ความเห็น

ที่ผ่านมา ซาอุดีฯและยูเออี ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการตั้งพันธมิตรด้านความมั่นคงเฉพาะกิจ 10 ประเทศที่นำโดยสหรัฐ เพื่อเผชิญหน้า และรับมือกับการเคลื่อนไหวของกองกำลังฮูตีในเยเมน ที่ยกระดับการยิงขีปนาวุธโจมตีเรือบรรทุกสินค้าซึ่งแล่นผ่านทะเลแดง นับตั้งแต่สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสปะทุ ในฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ปี2566 โดยสมาชิกทั้ง 10 ประเทศประกอบด้วย สหราชอาณาจักร แคนาดา บาห์เรน ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน และเซเชลส์

ชาติอ่าวเปอร์เซียระมัดระวังอย่างมากและไม่อยากให้ประชากรในประเทศมองว่าให้การสนับสนุนอิสราเอลและสหรัฐหลังจากสงครามในกาซายืดเยื้อมานานกว่า 6 เดือน และสังหารชาวปาเลสไตน์ไปเกือบ 34,000 คน

“แต่ถ้าสหรัฐเข้ามามีส่วนร่วมกับการเผชิญหน้าระหว่างอิสราเอลและอิหร่านมากว่านี้ในขั้นลึกในอีกสองสามสัปดาห์ข้างหน้า ก็มีความเป็นไปได้ว่า บรรดาชาติอาหรับจะหาโอกาสหลบเลี่ยงจากความขัดแย้งนี้”คณะเจ้าหน้าที่อาหรับ กล่าว

“ถ้าอิหร่านโจมตีสินทรัพย์อเมริกาโดยตรง สิ่งที่ตามมาคือการประเมินสถานการณ์ เพราะรัฐบาลสหรัฐเคยกล่าวว่า”ถ้าคุณต้องการหุ้นส่วน คุณต้องช่วยเราเมื่อเราตกเป็นเป้าการโจมตี ในทำนองเดียวกัน เราจะช่วยคุณ เมื่อคุณตกเป็นเป้าการโจมตี" เกรกอรี กอส  ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางจาก Bush School of Government and Public Service ของ Texas A&M University กล่าว

จนถึงตอนนี้ อิหร่านบอกว่าไม่ได้ต้องการพุ่งเป้าโจมตีสหรัฐและสหรัฐเองก็บอกว่าจะไม่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการโจมตีอิหร่านของอิสราเอลเพื่อล้างแค้น

กอส ยังบอกอีกว่า ตอนนี้ชาติในอ่าวเปอร์เซียกังวลอยู่สองอย่างคือกลัวว่าจะได้รับความเสียหายโดยไม่ตั้งใจถ้ารัฐบาลสหรัฐใช้ไม้แข็งกับอิหร่าน กับกลัวว่าจะถูกทอดทิ้งเมื่อสหรัฐหันไปผูกมิตรกับรัฐบาลเตหะรานมากขึ้น

“สถานการณ์แบบนี้ก็เหมือนการอบเค้ก  ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร คุณก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว” กอส กล่าวทิ้งท้าย