เวียดนามตัดสิน 'ประหารชีวิต' เจ้าแม่อสังหาฯ คดีฉ้อโกงใหญ่สุดในประเทศ

เวียดนามตัดสิน 'ประหารชีวิต' เจ้าแม่อสังหาฯ คดีฉ้อโกงใหญ่สุดในประเทศ

ศาลเวียดนามตัดสิน 'ประหารชีวิต' เจ้าแม่อสังหาฯ 'เจือง มาย หลั่น' ในคดีฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศ มูลค่าโกงกว่า 4 แสนล้านบาท ปมคอร์รัปชันพัวพันข้าราชการไปจนถึงแบงก์ชาติกว่า 80 คน

ศาลในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม มีคำพิพากษาออกมาแล้วในวันที่ 11 เม.ย. โดยตัดสินลงโทษสูงสุดตามที่อัยการเสนอด้วยการประหารชีวิต "เจือง มาย หลั่น" (Truong My Lan) อดีตเจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์เจ้าของบริษัท  Van Thinh Phat Group ในคดีเกี่ยวกับการฉ้อโกงและทุจริตคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ที่มีความเสียหายมูลค่าถึงกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (มากกว่า 4 แสนล้านบาท)

หลั่นในวัย 67 ปี ถูกจับกุมตั้งแต่ปี 2565 และถูกตั้งข้อหาหลายข้อหาด้วยกัน ซึ่งรวมถึงการติดสินบนเจ้าพนักงาน การฝ่าฝืนระเบียบการกู้ยืมของธนาคาร แต่ความผิดที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดในคดีนี้ก็คือ การยักยอกทรัพย์จากธนาคาร ไซ่ง่อน คอมเมอร์เชียล แบงก์ (SCB) ระหว่างปี 2561 - 2565 ซึ่งหลั่นเป็นเจ้าของที่แท้จริงอยู่เบื้องหลังผ่านทางนอมินีหลายบริษัท 

เวียดนามตัดสิน \'ประหารชีวิต\' เจ้าแม่อสังหาฯ คดีฉ้อโกงใหญ่สุดในประเทศ

นอกจากโทษประหารชีวิตในคดียักยอกแล้ว ศาลยังตัดสินโทษจำคุก 20 ปี อีก 2 กระทง รวมเป็น 40 ปี ในความผิดเรื่องการติดสินบนเจ้าพนักงาน และฝ่าฝืนระเบียบการกู้ยืมของธนาคาร 

หลั่นยังถูกตัดสินให้ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน "674 ล้านล้านด่อง" (เกือบ 9.9 แสนล้านบาท) หรือมากกว่าสองเท่าของมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ในคดีฉ้อโกงธนาคาร SCB 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาของเวียดนาม หลั่นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่มีคำพิพากษา 

มหากาพย์โกงครั้งใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

ในช่วงปี 2554 ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก 3 แห่งของเวียดนามอันได้แก่ Sai Gon J.S. Commercial Bank, First J.S. Commercial Bank และ Vietnam Tin Nghia J.S. Commercial Bank เผชิญภาวะเสี่ยงล้มละลาย ซึ่งก่อนจะไปต่อไม่ไหว หลั่นได้แอบเก็บหุ้น 3 ธนาคารนี้เป็นจำนวนมากไว้ก่อนแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นธนาคารที่ไม่เคร่งครัดในระเบียบสินเชื่อ 

ต่อมา ธนาคารกลางเวียดนามตัดสินใจสั่งควบรวม 3 ธนาคารที่จะล้มนี้ จนกลายเป็นธนาคารขนาดใหญ่ขึ้นมาในชื่อว่า Saigon Commercial Bank หรือ SCB ซึ่งนอกจากหลั่นจะเก็บหุ้นในชื่อตนเองแล้ว ก็ยังถือหุ้นผ่านบริษัทนอมินี 27 รายด้วย จนครองสัดส่วนหุ้นธนาคาร SCB มากถึง 91% 

เวียดนามตัดสิน \'ประหารชีวิต\' เจ้าแม่อสังหาฯ คดีฉ้อโกงใหญ่สุดในประเทศ

การเป็นเจ้าของแบงก์ SCB ที่แท้จริงเกื้อหนุนให้บริษัทอสังหาฯ ของหลั่นสามารถออกตราสารหนี้มากถึง 25 ชุด ซึ่งขายผ่านธนาคาร SCB เพื่อระดมเงิน 30 ล้านล้านดองในการขยายกิจการอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ ยังช่วยให้บริษัทเปลือกหอย (shell company) หรือบริษัทที่ไม่ได้มีการทำธุรกิจจริงๆ ของหลั่น ยังกู้เงินออกจาก SCB เป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ได้มีการประเมินสินทรัพย์ที่เหมาะสมก่อน ซึ่งคล้ายกับการยักยอกเงินธนาคารก็ว่าได้

นอกจากเจ้าแม่อสังหาฯ วัย 67 ปีรายนี้ที่เป็นแกนกลางของคดีคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่สุดในเวียดนามแล้ว รัฐบาลยังได้ไต่สวนดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 85 คน

ในจำนวนนี้ 15 คนเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ "ธนาคารกลางของเวียดนาม" ซึ่งมีส่วนพัวพันกับการรู้เห็นเป็นใจ โดยถูกกล่าวหาว่ารับสินบนเพื่อช่วยปกปิดการยักยอกดังกล่าว นอกจากนี้ยังรวมถึงนาย โด่ แองห์ สุง (Do Anh Dung) ประธานบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Tan Hong Minh Group ที่มีส่วนร่วมฐานออกพันธบัตรมูลค่า 10 ล้านล้านด่องให้บริษัทในเครือโดยมิชอบ