เปิดปมฉาว ‘เวียดนาม’ คดีมหาโกง ‘ครั้งใหญ่สุด’ ในประเทศ

เปิดปมฉาว ‘เวียดนาม’ คดีมหาโกง ‘ครั้งใหญ่สุด’ ในประเทศ

เปิดกรณีสุดอื้อฉาว เมื่อเศรษฐินี “เจือง มาย หลั่น” (Truong My Lan) เจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์เวียดนาม Van Thinh Phat Group ได้ยักยอกเงินจากธนาคาร Saigon Commercial Bank จนสะเทือนความเชื่อมั่นนักลงทุน

KEY

POINTS

  • เศรษฐินีเวียดนาม “เจือง มาย หลั่น” (Truong My Lan) ได้ยักยอกเงินจาก “ธนาคาร Saigon Commercial Bank” (SCB) เป็นมูลค่ากว่า 12,530 ล้านดอลลาร์หรือราว 4.4 แสนล้านบาท  
  • หลั่นใช้เงินราว 5.2 ล้านดอลลาร์ หรือราว 185 ล้านบาท เพื่อติดสินบนเจ้าหน้าที่ในธนาคารกลางและภาครัฐกว่า 24 คน ตามรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเวียดนาม
  • แม้เวียดนามเนื้อหอมสำหรับต่างชาติ แต่ก็เผชิญการทุจริตหลายครั้ง เช่น กรณีปี 2566 ศาลตัดสินจำคุกอดีตรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวม 54 คน ในความผิด “ติดสินบน” และ “ทุจริต” งบประมาณโควิด-19

เปิดกรณีสุดอื้อฉาว เมื่อเศรษฐินี “เจือง มาย หลั่น” (Truong My Lan) เจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์เวียดนาม Van Thinh Phat Group ได้ยักยอกเงินจากธนาคาร Saigon Commercial Bank จนสะเทือนความเชื่อมั่นนักลงทุน

ไม่นึกว่าประเทศที่โตเร็วอย่าง “เวียดนาม” และอาจแซงไทย กลับมีเรื่องยักยอกสุดอื้อฉาวที่ “หนักยิ่งกว่า” 1MDB ถ้าเคยจำกันได้ มาเลเซียเคยเกิดกรณี อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ได้ยักยอกเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซีย (1MDB) กว่า 4,500 ล้านดอลลาร์

แต่ตัวเลขนี้อาจต้องชิดซ้าย เมื่อเศรษฐินี “เจือง มาย หลั่น” (Truong My Lan) ประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของเวียดนามที่ชื่อว่า Van Thinh Phat Group ได้ยักยอกเงินจาก “ธนาคาร Saigon Commercial Bank” (SCB) เป็นมูลค่ากว่า 12,530 ล้านดอลลาร์หรือราว 4.4 แสนล้านบาท อีกทั้งเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางเวียดนามหลายคน ยังรู้เห็นเป็นใจกับการทุจริตนี้ด้วย

เปิดปมฉาว ‘เวียดนาม’ คดีมหาโกง ‘ครั้งใหญ่สุด’ ในประเทศ - เจือง มาย หลั่น (เครดิต: VietQ) -

กรณียักยอกดังกล่าวกลายเป็นเรื่องแดงขึ้น เมื่อรัฐบาลบุกจับ เจือง มาย หลั่น แต่นั่นเท่ากับเปิดแผลคอร์รัปชันที่สะเทือนทั้งประเทศ สั่นคลอนความเชื่อมั่นนักลงทุน และที่สำคัญ เธอไม่ใช่เพิ่งยักยอก แต่ทำเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว

เจือง มาย หลั่น ยักยอกธนาคารอย่างไร

ในช่วงปี 2554 ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก 3 แห่งของเวียดนามอันได้แก่ Sai Gon J.S. Commercial Bank, First J.S. Commercial Bank และ Vietnam Tin Nghia J.S. Commercial Bank เผชิญภาวะเสี่ยงล้มละลาย ซึ่งก่อนจะไปต่อไม่ไหว เจือง มาย หลั่นได้แอบเก็บหุ้น 3 ธนาคารนี้เป็นจำนวนมากไว้ก่อนแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นธนาคารที่ไม่เคร่งครัดในระเบียบสินเชื่อ โดยสะท้อนผ่านตัวเลขหนี้เสียจำนวนมาก ซึ่งเธอจะสามารถแทรกแซงกิจการได้ง่ายขึ้น

ต่อมา ธนาคารกลางเวียดนามตัดสินใจสั่งควบรวม 3 ธนาคารที่จะล้มนี้ จนกลายเป็นธนาคารขนาดใหญ่ขึ้นมาในชื่อว่า “Saigon Commercial Bank” หรือ “SCBสำหรับตัวหลั่นแล้ว ไม่ได้เก็บหุ้นธนาคารด้วยชื่อเธอคนเดียว แต่ยังเก็บผ่านบริษัทนอมินี 27 รายด้วย จนครองสัดส่วนหุ้นธนาคาร SCB มากถึง 91%

ด้วยเหตุนี้ บริษัท Van Thinh Phat Group ของเธอจึงสามารถออกตราสารหนี้มากถึง 25 ชุด ซึ่งขายผ่านธนาคาร SCB เพื่อระดมเงิน 30 ล้านล้านดองในการขยายกิจการอสังหาริมทรัพย์

เท่านั้นยังไม่พอ บริษัทเปลือกหอย หรือบริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจจริงของหลั่นยังกู้เงินออกจาก SCB เป็นจำนวนมาก โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ได้มีการประเมินสินทรัพย์ที่เหมาะสมก่อน ซึ่งคล้ายกับการยักยอกเงินธนาคารก็ว่าได้

แน่นอนว่า ธุรกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางย่อมเห็น แต่หลั่นได้ใช้เงินราว 5.2 ล้านดอลลาร์ หรือราว 185 ล้านบาท เพื่อติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 24 คน ตามรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเวียดนาม

ล่าสุด หลั่นจะต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีฉ้อโกงดังกล่าวในวันที่ 5 มี.ค. 2567 ซึ่งถ้าเธอผิดจริง อาจต้องติดคุกยาวหรือถึงขั้นประหารชีวิต

แม้เนื้อหอมสำหรับนักลงทุน แต่ความโปร่งใส?

หลายปีมานี้ บริษัทต่างชาติจำนวนมากแห่ไปตั้งฐานผลิตที่เวียดนาม และเป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ตามข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อปี 2566

แต่ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ประเทศนี้เกิดเหตุการณ์ทุจริตหลายครั้ง ดังเห็นจาก ช่วงเดือน ม.ค. 2566 ประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุกของเวียดนาม ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เซ่นปมสมาชิกรัฐบาลหลายคนพัวพันคดีทุจริต และเมื่อเดือน ก.ค. 2566 ศาลเวียดนามตัดสินจำคุกเหล่าอดีตรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวม 54 คน ในข้อหา “ติดสินบน” และ “ทุจริต” งบประมาณในการต่อสู้กับโควิด-19

ไม่นานมานี้ ต้นเดือน ม.ค. 2567 ศาลเวียดนามตัดสินจำคุก เหวียน แถ่ง ลอง อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขเวียดนาม และเจ้าหน้าที่รัฐอีกราว 37 คนในฐานความผิด “รับสินบน” และ “โก่งราคา” ชุดตรวจโควิด-19

จะเห็นได้ว่า แม้บริษัทเวียดนามส่วนมากยังคงมีขนาดเล็ก และมีพื้นที่ให้เติบโตสูง แต่ก็มีความเสี่ยงด้าน “ความโปร่งใส” จากกรณีอื้อฉาวของ เจือง มาย หลั่น ที่ยักยอกเงินธนาคารในมูลค่ามากกว่า 1MDB รวมไปถึงการทุจริตระดับขั้นรัฐมนตรี

ในการลงทุน สิ่งที่สำคัญกว่ากำไรบริษัท คือ “ความน่าเชื่อถือของงบการเงิน” ว่าจะไม่มีการตกแต่งบัญชี ซึ่งนักลงทุนอาจจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยง ไม่ทุ่มลงทุนในหุ้นเวียดนามที่สัดส่วนสูงเกินไป โดยเฉพาะในบริษัทเล็ก แม้ว่าจะเติบโตสูงก็ตาม

เหวียน จิ เฮียว (Nguyen Tri Hieu) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเวียดนาม กล่าวว่า “สำหรับเวียดนาม ต้องใช้เวลาหลายปีในการชำระวัฒนธรรมคอร์รัปชันที่ฝังลึกในทุกอณูของสังคม ซึ่งคุณสามารถเห็นได้ตั้งแต่หมู่บ้าน จังหวัด ไปจนถึงตำรวจบนท้องถนน”

อ้างอิง: bloombergscmpbbcchan