เปิดเหตุผลคนญี่ปุ่น ไม่ได้อยากอายุ 100 ปี

เปิดเหตุผลคนญี่ปุ่น ไม่ได้อยากอายุ 100 ปี

ชาวญี่ปุ่น “มองการมีอายุถึง 100 ปีแต่ในแง่ลบ” มีเพียง 21% เท่านั้นที่คาดหวังว่าจะมีความสุขเมื่อถึงตอนนั้น เนื่องจากผู้สูงอายุไม่อยากเป็นภาระให้ครอบครัวหรือเพื่อนฝูงเมื่อต้องแก่ตัวลง และกังวลเกี่ยวกับ “ความยากลำบาก” ที่เกิดขึ้นเมื่ออายุครบ 100 ปี

การมีอายุยืนเป็นหนึ่งในความปรารถนาของมนุษย์ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคำอวยพร “ขอให้อายุยืนหมื่นๆ ปี” และหากพูดถึงคนอายุยืนหลักร้อย “ญี่ปุ่น” ถือเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องนี้ แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนญี่ปุ่นอาจไม่ได้อยากอยู่นานขนาดนั้น

ผลสำรวจล่าสุดถึงทัศนคติต่อการมีอายุยืนยาวใน 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐ จีน เกาหลีใต้ เยอรมนี และฟินแลนด์ พบว่าชาวญี่ปุ่นส่วนมากไม่ปรารถนาจะมีอายุถึง 100 ปี แตกต่างจากอีกห้าประเทศ

เว็บไซต์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า ชาวญี่ปุ่น “มองการมีอายุถึง 100 ปีแต่ในแง่ลบ” มีเพียง 21% เท่านั้นที่คาดหวังว่าจะมีความสุขเมื่อถึงตอนนั้น

“เมื่อเราพิจารณาทัศนคติของผู้คนเกี่ยวกับการมีอายุถึง 100 ปี ชัดเจนว่า ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวที่ไม่ได้มองบวกกับการมีอายุ 100 ปีเหมือนในประเทศอื่น ที่แม้มีมุมมองเชิงลบบ้าง เช่น ความเครียด ความยุ่งยากในการใช้ชีวิต แต่ผู้คนก็ยังเน้นที่มิติเชิงบวก” ทาคาชิ ทานากะ นักเขียนรายงานกล่าว 

รายงานกล่าวถึงมุมมองเชิงลบที่ชาวญี่ปุ่นเน้นย้ำมากเช่น ไม่อยากเป็นภาระให้ครอบครัวหรือเพื่อนฝูงเมื่อต้องแก่ตัวลง และ “ความยากลำบาก” ที่เกิดขึ้นเมื่ออายุครบหนึ่งศตวรรษ ซึ่งในจุดนี้ผู้ให้ข้อมูลจากประเทศอื่นๆ ก็กังวลแบบเดียวกัน

ส่วนข้อคำถามอื่นๆ ผู้ให้ข้อมูลชาวญี่ปุ่นมองลบกว่าประเทศอื่นด้วย มีเพียงราว 28.7% เท่านั้นที่กล่าวว่า หมุดหมาย 100 ปี จะทำให้พวกเขามีโอกาสใหม่ในการสัมผัสสิ่งต่างๆ

ตรงข้ามกับชาวอเมริกัน 59% และชาวจีน 58% ที่คาดว่าพวกเขาจะมีความสุขเมื่อมีอายุ 100 ปี ขณะที่ชาวอเมริกัน 65% และชาวเยอรมัน 51% เชื่อว่า ยิ่งสูงวัยยิ่งมีโอกาสใหม่

ชาวญี่ปุ่นเพียง 27.4% กล่าวว่า พวกเขาต้องการมีชีวิตถึง 100 ปี เทียบกับชาวเยอรมัน 52.8% ชาวเกาหลีใต้ 53.1% ชาวฟินแลนด์ 58.4% ชาวจีน 65.6% และชาวอเมริกัน 66.7%

การศึกษาจัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อคนอายุ 100 ปี เพื่อเฉลิมฉลองวันแห่งความสุขนานาชาติ ใช้วิธีสอบถามชาวญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ที่มีอายุระหว่าง 20-79 ปี ประเทศละ 2,800 คน เกี่ยวกับทัศนคติว่าด้วยการสูงวัย

คานาโกะ โฮโซมูระ แม่บ้านวัย 41 ปี จากโยโกฮามา กล่าวว่า เธอจะมีความสุข “เมื่ออยู่ถึง 100 ปี ก็ต่อเมื่อกายใจแข็งแรงสามารถดูแลตัวเองได้เท่านั้น”

“ฉันไม่อยากขอให้คนอื่นมาทำนู่นทำนี่ให้ แม้แต่เรื่องง่ายๆ เพราะฉันจะกลายเป็นภาระของพวกเขา แต่ถ้าฉันยังไปไหนมาไหนได้และจิตใจยังดี แล้วทำไมจะไม่อยู่ไปถึง 100 ปีล่ะ”

โฮโซมูระกังวลว่า เธอจะยิ่งไม่มั่นใจในอนาคตเมื่อแก่ตัวลง แต่ครอบครัวและเพื่อนสนิทควรปลอบใจด้วยการชี้ชวนมองอนาคตในทางบวกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คนทุกพื้นที่ในญี่ปุ่นที่มีมุมมองแนวนี้ มาโกโตะ ซูซุกิ แพทย์หัวใจ วัย 90 ปี กล่าวว่า คนใน “โอกินาวา” มีมุมมองต่อการอายุยืนแตกต่างจากส่วนอื่นๆ ของญี่ปุ่น

การที่คนที่นี่มีอายุยืนกว่าที่อื่นมีหลายเหตุผล หลักๆ เลยคือ อิคิไก ปรัชญาว่าด้วยเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ สำหรับซูซุกิคือการทำงานในเมืองนาฮา และในฐานะการเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยโอกินาวาเพื่อวิทยาศาสตร์การมีอายุยืนยาว

นอกจากเหตุผลของการมีชีวิตแล้ว หลายคนในโอกินาวายังรับประทานอาหารดี เน้นผัก ผลไม้ และอาหารทะเล อีกทั้งยังมีความรู้สึกของการเป็นชุมชนสูงมาก

“แน่นอน ผมอยากอยู่ถึง 100 ปี ไม่มั่นใจว่าจะอยู่ถึงหรือเปล่า แต่ผมจะทำให้ดีที่สุด”

โทโมโกะ โอวัน รองศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ วัย 64 ปี จากมหาวิทยาลัยริวกิวในโอกินาวา ยอมรับว่าการมองชีวิตในทางบวกนั้นสำคัญ และว่าเธอยังคงสอนคาราเต้ในมหาวิทยาลัย

“ฉันเชื่อว่า หัวใจสำคัญคือการปล่อยวางและคิดบวก การรับประทานอาหารที่ดีและสมดุลก็มีส่วนช่วย” และที่สำคัญสำหรับเธอคือการฝึกคาราเต้ทุกวัน ซึ่งเป็นการฝึกทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ

“ตอนนี้ฉันสุขภาพดี แน่นอนฉันต้องการมีอายุถึง 120 ปีด้วยซ้ำไป ถ้ายังแข็งแรง”

รายงานยังชี้ด้วยว่า คนญี่ปุ่นมีความสุขกับชีวิตน้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนในประเทศอื่น ผู้ให้ข้อมูลชาวญี่ปุ่นให้คะแนนความสุขแค่ 5.9 เต็ม 10 เท่านั้น ต่ำสุดในบรรดาหกประเทศ สวนทางกับจีนที่ผงาดขึ้นมาเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดด้วยคะแนน 7.4 เต็ม 10 ตามด้วยฟินแลนด์ 6.8 และเยอรมนี 6.6

นอกจากความสุขในชีวิตจะน้อยแล้ว ชาวญี่ปุ่นยังดูเหมือนจะกังวลเกี่ยวกับ “อนาคตของประเทศ” ด้วย โดยอยู่ในอันดับสุดท้ายเมื่อถูกถามเกี่ยวกับ “ความสดใสโดยรวมของญี่ปุ่น” ซึ่งหมายถึงความเป็นไปได้ที่ความสุขจะเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจเติบโต

“เมื่อพิจารณาผลสำรวจนี้แล้ว เพื่อเพิ่มความสุขและเพิ่มจำนวนคนที่คิดอยากมีอายุยืน 100 ปี การรู้สึกถึงความสุขของคนรอบตัวเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการคิดถึงความสุขของตัวคุณเอง” ทานากะกล่าวทิ้งท้าย