‘สมรสเท่าเทียม’ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน | กันต์ เอี่ยมอินทรา

‘สมรสเท่าเทียม’ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภา ถือเป็นการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย และอีกไม่นานไทยก็จะเป็นเศรษฐกิจที่ยอมรับความเท่าเทียมทางเพศ แห่งที่ 3 ของเอเชีย รองจากไต้หวันและเนปาล เทียบชั้นนานาอารยประเทศทั่วโลกกว่า 34 ประเทศ

ในที่สุด ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภา ถือเป็นการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย

และถ้าร่างกฎหมายนี้จำเป็นจะต้องมีเพลงประกอบ ก็น่าจะต้องเป็นเพลงเก่าของคริสติน่า อากีล่าร์ เพลงนี้ “ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน เปลี่ยนไปเป็นฉันและเธอเท่าเทียมกัน ประวัติศาสตร์ในวันนี้จะแตกต่างจากวันนั้น รักของเราจะทันสมัย”

และถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดในชั้นการพิจารณาของ สว. อีกไม่นานไทยก็จะเป็นเศรษฐกิจที่ยอมรับความเท่าเทียมทางเพศ แห่งที่ 3 ของเอเชีย รองจากไต้หวันและเนปาล เทียบชั้นนานาอารยประเทศทั่วโลกกว่า 34 ประเทศ ที่ยืนยันยอมรับและมีกฎหมายคุ้มครองต่อสิทธิความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม

สมรสเท่าเทียมในมุมมองของคนรุ่นใหม่ กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQIA+ ผู้ที่มีแนวคิดเสรีนิยม ก็คือหมุดหมายที่สำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในเชิงสิทธิเสรีภาพ ในมุมมองของนักธุรกิจ ก็คือเชื้อไฟในการสร้างอัตลักษณ์ที่ดี เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่สามารถมาต่อยอดทางการตลาดเพื่อกอบโกยรายได้ แต่ในมุมมองของบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มทางศาสนา ก็อาจจะคือการขัดต่อบทบัญญัติ

ความขัดแย้งในเชิงความคิดแม้จะเป็นประเด็นสำคัญ แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักในการพัฒนาสังคม เพราะนี่คือความสวยงามของสังคมประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว แม้จะมีความเห็นต่างแต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่ก้าวล่วงละเมิดสิทธิของกันและกัน

ประเทศไทยคือตัวอย่างที่น่าจะพูดได้ว่า กฎหมายนี้ได้ท้าทายทิ่มตำความเชื่อของคนหมู่มากของประเทศไม่รุนแรงแล้ว เพราะเราเป็นเมืองพุทธ คนไทยใจดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีกฎหมายนี้ ภายใต้บริบทของความเคร่งครัดของศาสนา อาทิ โปรตุเกสที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก หรือกรีซที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือคริสต์นิกายกรีกออร์โธดอกซ์ ซึ่งมีความอนุรักษนิยมอยู่สูงมาก แต่ก็ยังฝ่าฟันและสามารถรองรับสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้

สมรสเท่าเทียมนี้ถือเป็นตัวอย่างของผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกันของรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มิใช่ผลงานของใครคนใดคนหนึ่ง ถือเป็นการรอมชอมประนีประนอมทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน สมรสเท่าเทียมนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากไร้ซึ่งความคิดของหัวก้าวหน้าที่ต้องการให้ประเทศไทยพัฒนาเท่าเทียมอารยประเทศ และก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ปรับตัวต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

สังคมลุ้นแล้วลุ้นอีก ปีแล้วปีเล่า ให้กฎหมายนี้คลอดออกมาสักที และในที่สุด ปีนี้ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่การเดินทางที่เริ่มต้นมาหลายปีแล้วก็ยังมีหนทางอีกยาวไกล เพราะกรุงโรมไม่ได้ถูกสร้างภายในหนึ่งวันฉันใด ความสมบูรณ์ของกฎหมายก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้น จึงสมควรประนีประนอมค่อยปรับแก้กันต่อไปในอนาคต หากพูดถึงโดยรวม ณ วันนี้แล้ว ก็ต้องพูดว่าเป็นความสำเร็จที่น่าประทับใจมากในระดับหนึ่งแล้ว

ผลประโยชน์ในเชิงของสังคมที่คนกลุ่มนี้จะได้รับคือการยกระดับขึ้นมาเป็นคู่สมรส ดังนั้นจึงจะมีศักดิ์และสิทธิทุกประการ อาทิ การเบิกค่ารักษาพยาบาล การกู้ร่วม การตัดสินใจแทนคู่ชีวิต หรือแม้กระทั่งการรับมรดก แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังไม่เท่าผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้รับ

จากนี้ไป ประเทศไทยจะถูกตอกย้ำว่าเป็นสวรรค์ของคนทุกกลุ่ม กฎหมายนี้จะเป็นเชื้อไฟแก่นักการตลาดทั้งภาครัฐและเอกชนในการต่อยอดเพื่อนำมาเป็นจุดขายดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ ทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีกระเป๋าหนัก เม็ดเงินการลงทุน เม็ดเงินจากผู้ย้ายถิ่นที่พักถาวร ทั้งภาพลักษณ์ของประเทศที่จะถูกยกให้ทัดเทียมกับอีก 34 ประเทศทั่วโลกที่มีความก้าวหน้า ยอมรับสิทธิของคนกลุ่มนี้ เรียกได้ว่ามีแต่ได้กับได้ “Win-Win”