ฟรีวีซ่า ไทย-จีน ราคาที่ต้องจ่าย | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ฟรีวีซ่า ไทย-จีน ราคาที่ต้องจ่าย | กันต์ เอี่ยมอินทรา

การพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ ทั้งการออกฟรีวีซ่า วีซ่าฟรี การแจกตั๋วเครื่องบิน หรือสุ่มแจกเงินดิจิทัลนั้น ล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย เนื่องจากการทะลักเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่ไร้คุณภาพ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนในท้องถิ่นได้

ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. เป็นต้นมา ไทย-จีน มีการเปิดฟรีวีซ่าระหว่างกัน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวได้อย่างมาก

เพราะรัฐบาลทั้งสองประเทศต่างหวังให้การท่องเที่ยวเป็นพระเอกในการนำรายได้เข้าประเทศ สำหรับไทยนั้น เรามีนโยบายสนับสนุนและใช้การท่องเที่ยวเป็นแม่เหล็กดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติมานานแล้ว และในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 การท่องเที่ยวก็ได้พิสูจน์ได้คนไทยเห็นชัดเจนแล้วว่าเป็นแม่เหล็กที่ดีที่สุดจริง ๆ

ดีขนาดที่ว่า ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นที่หนึ่งในจุดหมายท่องเที่ยวที่คนทั้งโลกอยากจะมาสักครั้งในชีวิต จากการประเมินของโพลหลายสำนัก และกรุงเทพฯ ก็เคยเป็นที่หนึ่งในเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาต่อปีมากที่สุดแตะระดับ 40 ล้านคน (ในช่วงก่อนโควิด-19) จนกระทั่งทุกอย่างมาหยุดชะงักลงในช่วงโควิด และฟื้นขึ้นมาในปีก่อนที่เราต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 28 ล้านคน

ทุกประเทศต่างมุ่งหวังและส่งเสริมให้การท่องเที่ยวทำหน้าที่เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดคนเพื่อเข้ามาท่องเที่ยว หลายประเทศและดินแดนมีแคมเปญทางตรงส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ ไต้หวันสุ่มแจกเงินดิจิทัลมูลค่าประมาณ 5,000 บาท ฮ่องกงแจกตั๋ว 500,000 ใบ หรือแม้กระทั่งการส่งเสริมทางอ้อมอย่าง สิงคโปร์ที่ใช้เงินงบประมาณเพื่อผูกขาดคอนเสิร์ต “เทย์เลอร์ สวิฟต์

เดิมนั้น จีนก็มีความลังเลในการรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และมีหลักเกณฑ์พิธีรีตองที่ไม่สะดวกนักสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโนยายขึ้นตั้งแต่ในชั้นของสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรแห่งรัฐชาติจีนที่มีอำนาจสูงสุด โดยนโยบายใหม่นี้ทำขึ้นเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการเข้าเมืองที่ยุ่งยาก ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและประเด็นเรื่องของความยุ่งยากหยุมหยิมในการจ่ายเงิน

หากโฟกัสลงไปในส่วนของการเข้าเมืองนั้น จีนได้เริ่มยกเว้นวีซ่าให้กับหลายประเทศดังที่เคยเป็นข่าว และล่าสุดฟรีวีซ่าให้กับไทยเป็นเวลา 30 วัน นอกจากนี้ จีนยังมีความพยายามในการออกดิจิทัลวีซ่าให้กับประเทศที่ไม่ได้รับฟรีวีซ่า และการยกเว้นวีซ่าแบบ transit ในกรณีการบินต่อเครื่องที่จำต้องมาพักเปลี่ยนเครื่องบินในพรมแดนจีน

ยังมีมาตรการอื่น ๆ อีกที่จีนเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมีความพยายามเพื่อแก้ไข อาทิ จำนวนเที่ยวบินเข้าประเทศที่ลดน้อยลงตั้งแต่ช่วงโควิด การจ่ายเงินต่างประเทศ ประเด็นเรื่องของการคืนภาษี/ยกเว้นภาษีสินค้าบางรายการ ประเด็นเรื่องขององคาพยพที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม เอเจนซีจองตั๋ว การส่งเสริมให้องค์กรในระดับท้องถิ่นเริ่มเดินสายประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวในบ้านเกิดเมืองนอนของตน

หรือแม้กระทั่งปัญหาเรื่องของเงินตราในการใช้จ่าย ที่โลกปัจจุบันโดยเฉพาะจีนนั้นกลายเป็นสังคมไร้เงินสด ซึ่งขณะนี้ WeChat (วีแชท) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมของจีนสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างธนาคารจีนกับธนาคารต่างประเทศเพื่อทำการโอน-จ่ายเงิน ทำให้การจ่ายเงินนั้นง่ายกว่าเดิมมาก ๆ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือมาตรการที่จีนพยายามจะช่วยและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น แต่ก็จำต้องดูที่ผลลัพธ์อย่างจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้าประเทศว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องวัดที่เม็ดเงินที่นักท่องเที่ยวนำมากินใช้ในประเทศ ขณะเดียวกันก็จำต้องวัดผลถึงปัญหาด้านต่าง ๆ อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม เช่นเดียวกับไทยที่สมควรพึงระวังปัญหาเหล่านี้

เพราะการเปิดฟรีวีซ่านั้นมีราคาที่จะต้องจ่าย การทะลักเข้ามาของนักท่องเที่ยวไร้คุณภาพที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ทัวร์ 0 บาท” ขบวนการมิจฉาชีพที่อาจจะเข้ามาใช้ไทย ช่องว่างกฎหมาย และการบังคับใช้ที่หละหลวมเป็นฐานทำมาหากิน ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรณีศึกษาก็ไม่ได้ไกลบ้านไกลตัวเราเลย เช่น สีหนุวิลล์ของกัมพูชา (ที่ผมเคยเขียนถึง) นั่นเอง