รมต.ต่างประเทศสหราชอาณาจักรเยือนไทยกระชับสัมพันธ์สองประเทศ

รมต.ต่างประเทศสหราชอาณาจักรเยือนไทยกระชับสัมพันธ์สองประเทศ

รมต.ต่างประเทศสหราชอาณาจักร เปิดฉากเยือนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกหลังรับตำแหน่ง ถึงไทยวันนี้ เตรียมพบนายกฯ เศรษฐา ลงนามแผนการว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์สหราชอาณาจักร-ไทย กระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมและเศรษฐกิจ

นายเดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร เลือกไทยเป็นประเทศแรกในภารกิจเยือนภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยได้เดินทางมาถึงไทยตั้งแต่เช้าตรู่วันพุธ (20 มี.ค.)  เพื่อขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนกับไทย ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายคาเมรอนจะส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นที่เป็นความสนใจร่วม เช่น กลาโหม เสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเศรษฐกิจและการค้า

ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางด้านความมั่นคงของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมสันติภาพและความปรองดองในเมียนมา รวมทั้งการพิทักษ์กฎหมายระหว่างประเทศและความมั่นคงในภูมิภาค ทั้งนี้ ด้วยความที่การค้าโลกครึ่งหนึ่งต้องเดินทางผ่านภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การทำงานร่วมกันกับไทยในประเด็นความมั่นคงทางทะเลจึงมีความสำคัญยิ่งในการทำให้สหราชอาณาจักรสามารถเข้าถึงสินค้าที่จำเป็น

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน การร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคมีส่วนช่วยสร้างการเจริญเติบโตและสร้างอาชีพให้เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนและเป็นประเทศที่มีอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เราจะร่วมมือกันต่อไปเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลกที่เรามีร่วมกัน ทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาทางเทคโนโลยีในอัตราเร่งสูงและภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขทั่วโลก” นายคาเมรอนกล่าว 

ในโอกาสนี้รัฐมนตรีต่างประเทศจะได้เห็นความเป็นหุ้นส่วนด้านกลาโหมระหว่างสหราชอาณาจักรและไทยที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ผ่านการเดินทางเยือนกองบิน 1 จ.นครราชสีมา และสนับสนุนแคมเปญร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องบินกริปเพนที่เป็นความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักร สวีเดน และสหรัฐอเมริกา โดยที่มีบริษัทต่าง ๆ ทั่วสหราชอาณาจักรผลิตส่วนประกอบของอากาศยานถึงร้อยละ 40 การจัดซื้อจัดจ้างนี้จะช่วยเสริมสร้างสมรรถนะให้กองทัพอากาศไทย และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับสหราชอาณาจักร

เมื่อสามปีก่อน สหราชอาณาจักรได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ราว 500,000 โดส ให้แก่ประเทศไทย ตั้งแต่นั้นมานักวิจัยของสหราชอาณาจักรและไทยได้ร่วมกันทำงานเพื่อทำให้การกระจายวัคซีนคุณภาพสูงและราคาเข้าถึงได้เป็นไปอย่างเป็นธรรมและทันท่วงที โดยดำเนินการผ่านศูนย์กลางการวิจัยและผลิตวัคซีนของสหราชอาณาจักร-เอเชียตะวันออกเฉียงใต (UK-South East Asia Vaccine Manufacturing Research Hub) ซึ่งได้ประกาศตั้งไปเมื่อไม่นานนี้

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักรจะพบกับนักวิจัยหลายท่านจากโครงการดังกล่าวและนักประดิษฐ์ที่ทำงานเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านต่าง ๆ ทั้งปัญญาประดิษฐ์จนถึงด้านวิศวกรรมชีวภาพ ในระหว่างการเดินทางเยือน นายคาเมรอน ประกาศเน้นย้ำความสำคัญของทุน International Science Partnership Fund ซึ่งมีมูลค่าทั่วโลกเป็นจำนวน 337 ล้านปอนด์ (ราว 15,450 ล้านบาท) เพื่อช่วยให้เกิดความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างนักวิจัยและนวัตกรของสหราชอาณาจักรและไทย เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาท้าทายต่าง ๆ ของโลกและส่งเสริมความมั่งคั่ง โดยโครงการหลัก ๆ ในทุนนี้ประกอบด้วยการรับมือกับโรคที่มีอันตรายร้ายแรง การสร้างเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนาระบบพลังงานสะอาด

นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศยังได้ประกาศเงินทุนสนับสนุนผ่านโครงการ UK PACT (UK Partnering for Accelerated Climate Transitions) สำหรับไทยจำนวน 6 ล้านปอนด์ (ราว 275 ล้านบาท) เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการคมนาคมที่ยั่งยืน การเงินสีเขียว และการกำหนดราคาคาร์บอนในประเทศไทย

ในช่วงบ่ายวันพุธ นายคาเมรอน มีกำหนดพบ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และจะลงนามในแผนการว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สหราชอาณาจักร-ไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ด้านกลาโหม สภาพภูมิอากาศและพลังงาน การค้าและการลงทุน เกษตรกรรม ดิจิทัลและเเทคโนโลยี สาธารณสุขและ การศึกษา ก่อนที่ปี 2568 จะครบรอบ 170 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหราชอาณาจักรและไทย

ภายหลังจากการเยือนประเทศไทยรัฐมนตรีต่างประเทศจะเดินทางเยือนประเทศออสเตรเลีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับ รัฐมนตรี AUKMIN ที่ออสเตรเลียต่อไป