เจน Z ฟันเฟืองขับเคลื่อนอุตฯชิป เวียดนามเดินหมากถูกทางหรือยัง?

เจน Z ฟันเฟืองขับเคลื่อนอุตฯชิป เวียดนามเดินหมากถูกทางหรือยัง?

เวียดนาม ประเทศที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้า รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์มานาน ตอนนี้ตั้งตารอเป็นประเทศที่จะเติบโตในห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างรวดเร็ว และได้กำหนดให้อุตสาหกรรมชิปคอมพิวเตอร์เป็นหัวใจสำคัญของแผนพัฒนาประเทศ

แผนพัฒนาประเทศดังกล่าวเป็นเป้าหมายที่ตรงกับความต้องการของประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐ แต่เวียดนามยังคงมีอุปสรรคใหญ่ที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้ ซึ่งปัญหาหลักคือ “การขาดแคลนวิศวกรที่มีทักษะสูง”

เหวียน เฟือง ลินห์ หญิงสาวชาวเวียดนาม หนึ่งในนักศึกษาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อความความทะเยอทะยานในการขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชิปของเวียดนามนั้น มีความมุ่งมั่น ฉลาด และเธอมีเป้าหมายที่จะเป็นศาสตราจารย์ในอนาคต เพราะอยากสอนคนรุ่นใหม่ในสาขานี้ ซึ่งอาจช่วยให้นักลงทุนต่างชาติกระตือรือร้นที่จะกระจายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ออกจากประเทศจีนและไต้หวันมากขึ้น

ลินห์ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีขณะที่นั่งอยู่ในห้องแล็บของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกรุงฮานอยว่า “ชิปกำลังดึงดูดความสนใจจากทั้งรัฐบาลและสาธารณชนอย่างมาก ฉันเคยฝันว่าจะได้ทำงานเป็นผู้ออกแบบชิป แต่ตอนนี้ฉันอยากเป็นอาจารย์ ฉันคิดว่าประเทศของเราต้องการอาจารย์มากกว่านี้ เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น”

 

เวียดนามเนื้อหอม

ในการเยือนเมืองหลวงเวียดนามของประธานาธิบดีโจ ไบเดนเมื่อปีก่อน ปธน.สหรัฐได้ประกาศข้อตกลงที่จะสนับสนุนอุตสากรรมชิปเวียดนาม และหลังจากนั้นไม่นาน อินวิเดีย บริษัทผลิตชิปยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันก็เผยว่า บริษัทต้องการตั้งฐานผลิตในเวียดนาม

ขณะที่อัมกอร์และฮานา ไมครอน บริษัทเซมิคอนดักเตอร์เกาหลีใต้ ได้เปิดโรงงานบรรจุภัณฑ์ชิปในเวียดนามเมื่อปีก่อน ขณะเดียวกันเวียดนามก็เป็นที่ตั้งโรงงานประกอบ บรรจุ และทดสอบชิปที่ใหญ่ที่สุดของอินเทลเช่นกัน

เทคนาวิโอ ธุรกิจวิจัยตลาด คาดว่า ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม ซึ่งเป็นชิปที่นำไปใช้ในอุปกรณ์หลายอย่าง ตั้งแต่สมาร์ตโฟนไปจนถึงดาวเทียม รวมถึงเป็นตัวขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จะเติบโต 6.5% ต่อปี และแตะระดับสูงสุด 7,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2571

ด้วยกระแสอุตสาหกรรมชิปเกิดใหม่ของเวียดนามมาแรง รัฐบาลคอมมิวนิสต์จึงประกาศว่า ประเทศที่มีวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ราว 5,000 คน แห่งนี้ ต้องเพิ่มวิศวกรถึง 20,000 คน ในอีก 5 ปีข้างหน้า และต้องเพิ่มเป็น 50,000 คน ในอีก 10 ปีข้างหน้า

โดย ตรัน ลิว กวง รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ขอให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทซัมซุงช่วยสนับสนุนในการบรรลุเป้าหมายการฝึกอบรมวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์

อย่างไรก็ตาม เหวียน หยูก มินห์ อาจารย์ประจำภาควิชาแผงวงจรรวม (integrated circuit) หรือไอซี เผยว่า ปัจจุบันเวียดนามสามารถผลิตวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ได้เพียง 500 คนต่อปี

“เราต้องทำอะไรมากกว่านี้เพื่อบรรลุเป้าหมาย ผมคิดว่าเป้าหมายจำนวนวิศกรเป็นตัวเลขที่ท้าทายมาก” เหวียนกล่าวกับเอเอฟพี

เป้าหมายรัฐบาลยังคลุมเครือ

เมื่อสัมภาษณ์นักศึกษาในสายวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หลายคนล้วนทราบดีว่าพวกเขาอยากมีบทบาทอะไรในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เช่นเดียวกับยาว ซวน สอน เพื่อของลินห์ที่อยากทำงานในบริษัทอินเทล

แต่เหวียน ขัก เกียง นักวิจัยจากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) ในสิงคโปร์ บอกว่า เขายังคงไม่เข้าใจว่าผู้นำเวียดนามอยากได้อะไรกันแน่

“พวกเขาอยากให้บริษัทเวียดนามเป็นผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์ระดับชาติเหมือนกับซัมซุง ที่ต้องใช้เงินทุนและการลงทุนจำนวนมาก หรือแค่อยากดึงดูดการลงทุนธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนามเพิ่มขึ้น?” เหวียน ขัก เกียง ตั้งคำถาม

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังไม่แน่ใจว่า รัฐบาลเวียดนามจะบรรลุเป้าหมายสร้างวิศวกร 50,000 คนได้อย่างไร และตัวเลขดังกล่าวจำเป็นต่อการออกแบบชิปหรือการทำงานในโรงงานหรือไม่

ฝ่าม เหวียน ถันห์ ลวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบไอซี บอกว่า “เราพูดถึงตัวเลขที่มีปริมาณมาก แต่ดูเหมือนเราไม่ได้มองว่าอุตสาหกรรมต้องการบัณฑิตจบใหม่จำนวนมากจริงๆหรือไม่”

ด้านอินเทลเผยกับเอเอฟพีว่า การดำเนินธุรกิจในเวียดนาม บริษัทยังคงโฟกัสที่การประกอบและการทดสอบชิป ซึ่งเป็นส่วนที่มีมูลค่าต่ำสุดในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์

คิม ฮวต โอย รองประธานฝ่ายผลิต, ห่วงโซ่อุปทาน และการปฏิบัติการ และผู้จัดการทั่วไปของอินเทลเวียดนาม กล่าวว่า“เราเผชิญกับความท้าทายในการเพิ่มบุคลากรที่มีความสามารถนอกเหนือจากด้านมีที่อยู่”

เสี่ยงเกิดภาวะสมองไหล

มหาวิทยาลัยหลายแห่งในเวียดนาม ได้เปิดการเรียนการสอนเพิ่มเติมในภาคการศึกษาปี 2567 โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และการออกแบบชิป

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น อาจารย์หลายคนบอกว่า เวียดนามต้องลงทุนด้านการเรียนการเรียนให้มีคุณภาพ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะด้านการปฏิบัติ ซึ่งตรงตามความต้องการของธุรกิจชั้นนำของโลก

ศาสตราจารย์มินห์กล่าวว่า “แม้หลักสูตรหลายประเภทมักเน้นด้านทฤษฎี แต่เราต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์มากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกฝน”

ด้านนักวิเคราะห์เกียง เตือนว่า เวียดนามอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านภาวะสมองไหล

“พูดตามตรง เงินเดือนในเวียดนามค่อนข้างต่ำ แม้แต่คนที่มีทักษะสูงมากก็มีเงินเดือนน้อย พวกเขาอาจจะรู้สึกว่าย้ายไปทำงานที่ไต้หวันน่าจะดีกว่า”

ด้านลินห์ บอกว่า เธออยากเรียนต่างประเทศมาก เพื่อมีคอนเน็กชันในอุตสาหกรรมชิปที่ดีกว่า แต่ก็ตั้งเป้าว่าจะกลับมายังเวียดนามด้วย ขณะที่นักศึกษาปีสุดท้ายอย่างสอน ที่ฝันว่าจะได้ทำงานออกแบบชิปในอินเทล เผยว่า มีความสุขดีกับการเรียน และคาดว่าจะไปต่างประเทศสักสองสามปี

“ผมเรียนรู้ได้มากกว่านี้ และมีโอกาสนอกประเทศเวียดนามมากกว่านี้” สอนกล่าว