กลยุทธ์ ‘โดดเดี่ยวจีน’ เห็นผล FDI โตต่ำสุดรอบ 30 ปี

กลยุทธ์ ‘โดดเดี่ยวจีน’ เห็นผล FDI โตต่ำสุดรอบ 30 ปี

กระแสการลดความเสี่ยงจากจีน และการแยกตัวออกจากจีนของสหรัฐ และพันธมิตร เริ่มเห็นผล เมื่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของจีนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี บ่งชี้ บริษัทต่างชาติกำลังดึงเงินออกจากจีน ย้ายการลงทุนไปยังประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

หนึ่งในกระแสเศรษฐกิจโลกที่มาแรง และชัดเจนที่สุดในช่วง 1-2 ปีมานี้ก็คือ กระแสการลดความเสี่ยงจากจีน (De-risk) และการแยกตัวออกจากจีน (Decoupling) ที่เริ่มมาจากฝั่งสหรัฐ และขยายไปถึงประเทศพันธมิตรของสหรัฐด้วย

แนวคิดเรื่อง Decoupling เคยถูกตั้งคำถามในช่วงแรกๆ ว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ในเมื่อยังไม่มีประเทศใดที่มีความพร้อมเรื่องห่วงโซ่อุปทานอย่างเต็มรูปแบบเหมือนกับจีน แต่ในระยะหลังโลกก็เริ่มเห็นตัวเลือกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพมากขึ้น เช่น เวียดนาม ที่ค่อยๆ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่จากต่างชาติ สวนทางกับจีนที่ค่อยๆ เห็นตัวเลขการลงทุนที่เบาบางลง

ล่าสุดตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา บ่งชี้ชัดเจนแล้วว่า กลยุทธ์การร่วมกันโดดเดี่ยวจีนกำลังเห็นผล เมื่อเม็ดเงินลงทุนเอฟดีไอในจีนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1993 ซึ่งเป็นยุคที่จีนกำลังมุ่งสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจในยุคของเจียง เจ๋อหมิน

ที่สำคัญหากเทียบกับตัวเลขการลงทุนตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่า จีนมีปริมาณเอฟดีไอในหลัก 1 แสนล้านดอลลาร์ ขึ้นไปมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา จนขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 3.44 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่การลงทุนพุ่งทะยานหลังจากอั้นมาในยุคโควิด-19

แต่ในปีที่แล้ว เม็ดเงินการลงทุนจากข้อมูลของสำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐของจีน (SAFE) กลับซบเซาลงหนักเหลือเพียง 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าปีก่อนหน้าถึง 82% และยังเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี ที่เม็ดเงินลงทุนตรงของต่างชาติในจีนไม่ถึงหลักแสนล้าน

กลยุทธ์ ‘โดดเดี่ยวจีน’ เห็นผล FDI โตต่ำสุดรอบ 30 ปี

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว ข้อมูลดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ของกำไรบริษัทต่างชาติ และการเปลี่ยนแปลงขนาดการดำเนินงานในจีนได้อีกด้วย ซึ่งตัวเลขเอฟดีไอที่ตกต่ำในจีนยังสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนว่า กำไรของบริษัทต่างชาติในกลุ่มอุตสาหกรรมเมื่อปีที่แล้ว ปรับตัวลงถึง 6.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน

บลูมเบิร์ก ระบุว่าความพยายามของรัฐบาลปักกิ่งที่จะดึงดูดบริษัทต่างชาติให้กลับเข้ามาอีกครั้งหลังโควิดคลี่คลายนั้นยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีพอ ตัวเลขเอฟดีไอที่อ่อนแอตอกย้ำถึงการที่บริษัทต่างชาติกำลังดึงเงินออกจากจีน เนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และไปตามอัตราดอกเบี้ยในประเทศอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

  • ไม่ใช่แค่ตะวันตก เพื่อนบ้านแห่ลดลงทุนในจีน

สำหรับบรรษัทข้ามชาติแล้วการถือเงินสดในต่างประเทศน่าดึงดูดมากกว่าในจีน เพราะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเริ่มมีการขึ้นดอกเบี้ยกันไปบ้างแล้วสวนทางกับจีนที่ยังต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตั้งแต่หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อราว 2 ปีก่อน

ผลสำรวจความเห็นบริษัท “ญี่ปุ่น” ในจีนเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ต่างลดการลงทุนในจีนหรือคงระดับการลงทุนเท่าเดิม และบริษัทส่วนใหญ่ก็ไม่คิดว่าแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2567 นี้

 

 

 

บริษัทญี่ปุ่นยังเพิ่มเม็ดเงินลงทุนใหม่ในจีนเมื่อปีที่แล้วต่ำสุดในรอบ 10 ปีเป็นอย่างน้อย โดยอยู่ที่เพียง 2.2% เท่านั้น และที่สำคัญคือ ยังเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนใน “เวียดนาม” และ “อินเดีย”

ขณะที่ “ไต้หวัน” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชะลอการลงทุนใหม่ในจีนเมื่อปีที่แล้ว จนฉุดเอฟดีไอจากไต้หวันลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2001 ทั้งที่จีนเป็นแหล่งการลงทุนรายใหญ่ของไต้หวันมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีการกระทบกระทั่งทางการเมืองกันมาประปรายก็ตาม

ด้าน “เกาหลีใต้” เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนใหม่ในจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปีที่แล้ว โดยเฉพาะในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการลงทุนใหม่ของเกาหลีใต้นั้นปรับตัวลดลงมากถึง 91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 และกลายเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา

  • สัมพันธ์เศรษฐกิจ ‘เยอรมนี’ ยังแนบแน่น

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่จะโดดเดี่ยวจีน อย่างน้อยก็ในเชิง “เศรษฐกิจ และการค้า” เพราะข้อมูลจากธนาคารบุนเดสแบงก์พบว่า ตัวเลขการลงทุนตรงของ “เยอรมนี” กลับพุ่งสูงสุดทุบสถิติใหม่เกือบ 1.2 หมื่นล้านยูโร (ราว 4.68 หมื่นล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.3% ขณะที่สัดส่วนของจีนเมื่อเทียบกับเอฟดีไอรวมทั้งหมดของเยอรมนียังเพิ่มเป็น 10.3% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2014 อีกด้วย

ข้อมูลนี้สะท้อน และตอกย้ำความกังวลของบริษัทสัญชาติเยอรมัน ที่ไปคนละทิศคนละทางกับรัฐบาลของตนเอง ที่พยายามขอให้ภาคเอกชนเยอรมนีลดความเสี่ยงออกจากจีนทั้งในแง่ของการลงทุนเดิม และเม็ดเงินลงทุนใหม่

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์