ประธาน ไดฮัตสุ ลาออก เซ่นปมฉาวปลอมข้อมูลลาม 'โตโยต้า'

ประธาน ไดฮัตสุ ลาออก เซ่นปมฉาวปลอมข้อมูลลาม 'โตโยต้า'

ประธานบริษัทไดฮัทสุ ลาออกจากตำแหน่งแล้ว หลังเกิดกรณีอื้อฉาวปลอมแปลงข้อมูลการทดสอบรถที่ลามไปถึงบริษัทแม่อย่าง 'โตโยต้า'

บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป (Toyota Motor Corp) ออกแถลงการณ์ในวันนี้ (13 ก.พ.) ว่า  ทั้งประธานบริษัท และประธานกรรมการของ ไดฮัทสุ มอเตอร์ (Daihatsu Motor) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโตโยต้า ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้ว ภายหลังเกิดเรื่องอื้อฉาวครั้งใหญ่กรณีการปลอมแปลงข้อมูลการทดสอบความปลอดภัยของรถ จนเป็นเหตุให้ไดฮัทสุรวมถึงบริษัทแม่อย่างโตโยต้า ต้องประกาศเรียกคืนรถยนต์หลายล้านคันทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้  

แถลงการณ์ระบุว่า "นายมาซาฮิโระ อิโนะอุเอะ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโตโยต้าประจำภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน จะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน "นายโซอิจิโระ โอกุไดระ" ในตำแหน่งประธานของไดฮัทสุ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. นี้

ประธาน ไดฮัตสุ ลาออก เซ่นปมฉาวปลอมข้อมูลลาม \'โตโยต้า\'

นายโอกุไดระนั้นทำงานที่โตโยต้ามาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522 ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นประธานของไดฮัทสุในปี 2560 หรือ 1 ปีหลังจากที่ไดฮัทสุกลายเป็นบริษัทในเครือของโตโยต้าในปี 2559

ส่วน "นายซูนาโอะ มัตสึบายาชิ" ประธานกรรมการบริหารของไดฮัทสุ จะลาออกโดยยังไม่มีใครมาดำรงตำแหน่งแทนที่

ประธาน ไดฮัตสุ ลาออก เซ่นปมฉาวปลอมข้อมูลลาม \'โตโยต้า\'

ทั้งนี้ เนื่องจากการปลอมแปลงผลการทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์ ทำให้ไดฮัทสุจะถูกถอดชื่อออกจากกลุ่มความร่วมมือด้านยานยนต์เชิงพาณิชย์ที่เรียกว่า คอมเมอร์เชียล เจแปน พาร์ตเนอร์ชิป เทคโนโลยี (CJPT)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงจากแถลงการณ์ว่า หุ้น 10% ของไดฮัทสุใน CJPT จะถูกโอนให้กับโตโยต้า

เรื่องอื้อฉาวเขย่าความเชื่อมั่นถึง 'โตโยต้า'

การลาออกครั้งนี้มีขึ้นตามมาเกือบ 1 ปี หลังจากที่เกิดเรื่องอื้อฉาวการปลอมแปลงข้อมูลในไดฮัทสุ ถึงขั้นที่กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นได้บุกเข้าค้นสำนักงานใหญ่ของบริษัทในจังหวัดโอซาก้า หลังจากไดฮัทสุยอมรับว่าได้ปลอมแปลงผลการทดสอบความปลอดภัย ย้อนหลังไปถึงปี 2532

ประธาน ไดฮัตสุ ลาออก เซ่นปมฉาวปลอมข้อมูลลาม \'โตโยต้า\'

เรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. หลังจากองค์กรอิสระได้ตรวจสอบไดฮัทสุและพบปัญหา 174 รายการ ในรถยนต์ทั้งหมด 64 รุ่น รวมถึงรถยนต์ 22 รุ่น ที่วางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ "โตโยต้า" 

ก่อนหน้านี้ไดฮัทสุได้แถลงยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงผลการทดสอบการชนในรถของบริษัท ซึ่งเกี่ยวข้องกับรถยนต์ 88,000 คันที่ผลิตในไทยและมาเลเซีย ระหว่างปี 2565-2566 โดยส่วนใหญ่ราว 76,000 คัน เป็นรถโตโยต้า Yaris Ativs ที่ผลิตในไทยเพื่อจำหน่ายในไทย เม็กซิโก และกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ และอีกประมาณ 11,800 คัน เป็นโตโยต้า Axias ที่ผลิตในมาเลเซีย 

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้บริษัทแม่อย่างโตโยต้าต้องดำเนินการทั้ง "เรียกคืน" รถยนต์ครั้งใหญ่ราว 1.12 ล้านคันทั่วโลก พร้อมทั้ง "ระงับการส่งมอบ" รถยนต์อีกเป็นจำนวนมากเมื่อเดือน ธ.ค. 2566 โดยได้ระงับการส่งมอบรถยนต์ 6 รุ่นในบางประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของการผลิตรถยนต์โตโยต้าในเอเชีย โดยมีรุ่น เวลอซ (Veloz) และ อแวนซ่า (Avanza) รวมอยู่ด้วย 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในช่วงต้นปีนี้ก็ยังไม่สามารถคลี่คลายได้มากนัก ทำให้เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา โตโยต้าต้องประกาศระงับการส่งมอบรถยนต์ 10 รุ่นเป็นการชั่วคราว รวมถึงรุ่นยอดนิยม เช่น แลนด์ ครูเซอร์ 300 (Land Cruiser 300) และไฮลักซ์ (Hilux)