‘ปีแม่ม่าย’ ทำคนจีน ‘ไม่กล้ามีลูก’ แม้ปี 2567 ตรงกับปีมังกรทองก็ตาม

‘ปีแม่ม่าย’ ทำคนจีน ‘ไม่กล้ามีลูก’ แม้ปี 2567 ตรงกับปีมังกรทองก็ตาม

ความเชื่อเรื่องโชคร้าย เพราะเป็น “ปีแม่ม่าย” เขย่า “ปีมังกรทอง” คนจีนกังวลแต่งงาน - มีลูก ด้านทางการจีนจับตากระแส - ออกโรงต่อต้าน หลังอัตราการแต่งงานลดฮวบ หวังหมายมั่นกระตุ้นการเกิดภายในปีมังกรทอง

เป็นที่รู้กันว่า ปี 2567 ตรงกับปีนักษัตรมหามงคลอย่าง “ปีมังกร” แต่ในประเทศจีนตอนนี้กลับมีกระแสมุมกลับที่ออกมาโต้ว่า อันที่จริงแล้ว ปี 2567 ยังเป็น “ปีแม่ม่าย” ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องโชคลาง ไม่มงคลสำหรับการแต่งงาน และการมีลูก โดยประเด็นนี้นอกจากเป็นที่ถกเถียงในกลุ่มชาวจีนแล้ว กระทรวงกิจการพลเรือนจีนยังจับตาดูอย่างใกล้ชิดด้วย มองว่า หากความเชื่อดังกล่าวแพร่กระจายออกไปไกลขึ้น ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจแต่งงาน รวมถึงอัตราการมีลูกที่ทางการพยายามกระตุ้นมาโดยตลอด

สำนักข่าว “เซาท์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์” (South China Morning Post) รายงานว่า กระทรวงกิจการพลเรือนกำลังจับตาดูปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในภายภาคหน้า หลังมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายหนึ่งระบุว่า ปี 2567 เป็น “Year of the Widow” หรือ “ปีแม่ม่าย” แม้ว่าจะมีผู้ใช้งานรายอื่นๆ เข้ามาโต้แย้งว่า คำกล่าวอ้างเรื่องปีแม่ม่ายไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อคิดเห็นดังกล่าวมีผลต่อการตัดสินใจสร้างครอบครัว และมีลูก หลังจาก “จีน” เผชิญกับการมาถึงของสังคมสูงวัยเร็วขึ้น ทั้งยังมีอัตราการเกิดลดลงอีกด้วย

ความเชื่อเรื่อง “ปีแม่ม่าย” คือปีที่ไม่มี “ลี่ชุน” หรือวันเทศกาลเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของจีน เนื่องจากฤดูใบไม้ผลิเป็นช่วงเวลาที่เชื่อกันว่า มีชีวิตชีวามากที่สุดของปี แต่ปี 2567 กลับไม่มีวันดังกล่าว เพราะเดิมที “ลี่ชุน” จะตรงกับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี แต่ปีนี้ วันปีใหม่จีน หรือ “ตรุษจีน” เริ่มต้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ จึงทำให้ “ลี่ชุน” ตกไปอยู่ปีที่แล้ว และเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในวันที่ 29 มกราคม 2568 ปีนี้จึงเป็นปีที่ไม่มีฤดูใบไม้ผลิ ทำให้ถูกมองว่า เป็นปีแห่งความโชคร้าย ไม่เหมาะจะจัดงานแต่งงานนั่นเอง ทั้งนี้ อัตราการแต่งงานของจีนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาลดลง โดยในปี 2556 มีคู่แต่งงานใหม่กว่า 13.47 ล้านคู่ ขณะที่ปี 2566 มีจำนวนคู่แต่งงานใหม่เพียง 6.83 ล้านคู่เท่านั้น 

ทางการจีนมีความพยายามในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนสำหรับกรณี “ปีแม่ม่าย” โดยจัดทำออกมาในรูปแบบรายงานข่าวเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ปีที่ไม่มีฤดูใบไม้ผลิไม่มีความเกี่ยวข้องกับ “ปีแม่ม่าย” หรือความโชคร้ายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ทางการจีนยังเรียกร้อง - ขอความร่วมมือในการส่งต่อหลักปฏิบัติที่อาจกระทบถึงการตัดสินใจแต่งงาน - สร้างครอบครัวส่วนอื่นๆ อาทิ ค่าสินสอดที่มีตัวเลขสูงเกินไป เป็นต้น

สำหรับความเชื่อเรื่อง “ปีมังกร” มีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากมังกรเป็นสัตว์ในตำนานเพียงชนิดเดียวในนักษัตรจีน เป็นตัวแทนของความยิ่งใหญ่ในวัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิม ทางการจีนเชื่อว่า เรื่องราวของปีมังกรทองอาจช่วยกระตุ้นให้คู่แต่งงานตัดสินใจมีลูกได้ง่ายขึ้น หลังอัตราการเกิดในปี 2566 ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหลือเพียง 9.22 ล้านคนเท่านั้น

 

อ้างอิง: South China Morning Post

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์