‘จีน’ ส่อแวว ‘หยุดหายใจ’ หลังเศรษฐกิจซึมยาว ทรุดหนัก รอปาฏิหาริย์

‘จีน’ ส่อแวว ‘หยุดหายใจ’ หลังเศรษฐกิจซึมยาว ทรุดหนัก รอปาฏิหาริย์

จับชีพจร “เศรษฐกิจจีน” หลังเปิดประเทศร่วมครึ่งปี นักวิเคราะห์ชี้ การฟื้นตัวอ่อนแอ นำเข้า-ส่งออกชะลอตัว หนี้สูง เจอวิกฤติฟองสบู่อสังหาฯ กำลังซื้อภายในประเทศลด ความหวังสู่การเป็น “กลไกโลก” อาจไม่เกิดขึ้น หนุ่มสาวตกงานเป็นประวัติการณ์-ปาฏิหาริย์ริบหรี่เต็มที

Key Points:

  • เศรษฐกิจจีนทรุดลงต่อเนื่อง จากที่เคยเป็น “ความหวัง” ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ผลปรากฏว่า ตอนนี้จีนซบเซา-ซึมยาว ทั้งการบริโภคภายในประเทศ นำเข้า-ส่งออก รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
  • ที่ผ่านมาจีนเน้นการพึ่งพาภาคอสังหาฯ เป็นหลัก โดยมีสัดส่วนมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP เมื่ออสังหาฯ เกิด “ฟองสบู่แตก” เศรษฐกิจจีนจึงขาดเครื่องยนต์ตัวหลักไป
  • นักวิเคราะห์มองว่า สิ่งเดียวที่จะทำให้จีน “โผล่พ้นน้ำ-ขึ้นมาหายใจ” คือ ต้องมุ่งหน้า พัฒนาการส่งออกให้ได้ สำหรับการบริโภคภายในประเทศคงพึ่งพาได้ยากขึ้น เนื่องจากตอนนี้จีนกำลังเผชิญกับปัญหาคนหนุ่มสาวว่างงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์

‘จีน’ ส่อแวว ‘หยุดหายใจ’ หลังเศรษฐกิจซึมยาว ทรุดหนัก รอปาฏิหาริย์

ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 “จีน” เคยถูกประเมินว่า ในอนาคตอันใกล้นี้จะสามารถโค่นสหรัฐลงจากตำแหน่ง “มหาอำนาจโลก” ปักธงสู่การเป็น “เบอร์ 1” ได้ไม่ยากนัก แต่หลังจากจีนและทั่วโลกต้องรับมือกับ “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ที่ไวรัสโควิด-19 ทิ้งร่องรอยไว้ก็ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัวไปตามๆ กัน 

บทความที่น่าสนใจ : 

แม้กระทั่งกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอย่าง “สหรัฐ” เองก็เจอกับมรสุมจนต้องมีการขยายเพดานหนี้อีกครั้ง ขณะที่ประเทศคู่รักคู่แค้นอย่าง “จีน” ก็ถูกยกขึ้นแท่นพระเอก-ความหวังใหม่ โดยเฉพาะกับประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิกที่มีความเชื่อมั่นว่า จีนจะสามารถฟื้นตัวจากการปิดประเทศได้ไม่ยากนัก

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจีนเปิดประเทศกลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยช่วงกลางสัปดาห์ของเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา จีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่สองภายในสัปดาห์เดียวกันหลังคนหนุ่มสาวต้องเผชิญกับวิกฤติว่างงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปัจจุบันสถิติคนว่างงานอยู่ที่ 20.8 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้เป็นคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18-24 ปี 20.4 เปอร์เซ็นต์ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งนิยามว่า สถานการณ์จีนตอนนี้กำลังอยู่ในช่วง “the last gasps” คือ อยู่ได้ด้วยลมหายใจอันรวยริน

 

  • อสังหาฯ ล้ม ส่งออกชะลอตัว “จีน” ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ปลายปี 2565 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มการเติบโตเป็นกราฟ “หักหัวลง” หรือ “Square Root Shape” ด้วยผลสะเทือนจากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น แต่ไม่นานหลังจากเปิดประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เศรษฐกิจจีนก็ค่อยๆ ส่งสัญญาณบวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขยายตัวราว 4.5 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ทำให้ทั่วโลก “ใจชื้น” และเริ่มมีความหวังว่า จีนจะเป็นความหวังในการขับเคลื่อนได้

แต่ความหวังที่ว่านั้นก็สิ้นสุดลง เมื่อไตรมาสที่ 2/2566 ตัวเลขทางเศรษฐกิจอ่อนกำลังลง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังอ่อนแอ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “โรงงานโลก” ก็ไม่ได้คึกคักมากนัก การนำเข้า-ส่งออก โดยเฉพาะ “ส่งออก” ที่เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวหลักของจีนกลับชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด หนี้ที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เริ่มก่อร่างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นหนึ่งในเซ็กเตอร์หลักของการบริโภคภายในประเทศก็เกิดปัญหา “ฟองสบู่แตก” ไปเรียบร้อย

ที่ผ่านมา การลงทุนในภาคอสังหาฯ ทั้งกว้านซื้อบ้านและคอนโดฯ เพื่อการอยู่อาศัย รวมถึงซื้อเพื่อเก็งกำไรได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีนมาโดยตลอด แม้ฉากหน้าจะเต็มไปด้วยความคึกคักทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ “เนื้อใน” ของความเฟื่องฟูครั้งนี้กลับเต็มไปด้วยหนี้ก้อนโต ฝั่งผู้พัฒนาโครงการก็ต้องมีเรื่องของสินเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้านผู้ซื้อก็มีการหยิบยืมเงินในอนาคต-สร้างหนี้เพื่อถือครองทรัพย์สิน ทำให้ตัวเลข GDP จีนมีแนวโน้มการเติบโตเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ “Nominal House Price” หรือดัชนีราคาที่อยู่อาศัย พูดง่ายๆ ก็คือ เติบโตได้ด้วยการก่อหนี้ของประชากรนั่นเอง โดยมีสัดส่วนต่อ GDP มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์

‘จีน’ ส่อแวว ‘หยุดหายใจ’ หลังเศรษฐกิจซึมยาว ทรุดหนัก รอปาฏิหาริย์

“Business Insider” วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจซบเซาของจีนในขณะนี้ไม่เพียงเป็น “ไฟที่มอดลง” ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนแบบเดิมได้หายไปแล้ว เมื่อกลไกที่คอยทำหน้าที่ผลักดัน-พยุงเศรษฐกิจอย่างภาคอสังหาริมทรัพย์ทลายลง โดมิโนตัวต่อมาที่ได้รับผลสะเทือนก็คือ ภาคครัวเรือน การธนาคาร รวมถึงเครือข่ายขนาดใหญ่ของรัฐบาลท้องถิ่น “Business Insider” เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “กระบวนการดูดซับความสูญเสียอันเจ็บปวด” เพราะการล้มลงของหนึ่งสิ่ง ส่งผลสะเทือนไปอีก “หลายสิ่ง” 

ขณะเดียวกัน การส่งออกที่เป็นกุญแจสำคัญก็ทำให้ขยับตัวได้ลำบากจากความขัดแย้งระหว่าง “จีน-สหรัฐ” ที่ลากยาวมาตั้งแต่สงครามการค้าและนโยบาย “Protectionism” ของสหรัฐอเมริกา จากเดิมที่โลกขับเคลื่อนด้วยโลกาภิวัฒน์ (Globalization) แต่ปัจจุบันหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจเลือกชู “Protectionism” กีดกันทางการค้าเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศตนเอง จีนจึงตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหาด้วยการฉีดกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่ายาเข็มนี้จะสายเกินแก้ไปเสียแล้ว

 

  • อนาคตของจีนที่ต้องรอคอย “ปาฏิหาริย์”

ภาวะฝุ่นตลบของเศรษฐกิจจีนในขณะนี้เป็นการ “หักปากกาเซียน” ครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้ เพราะช่วงต้นปี 2566 “มอร์แกน สแตนลีย์” (Morgan Stanley) “โกลด์แมน แซคส์” (Goldman Sachs) และ “ธนาคารแห่งอเมริกา” (Bank of America) ผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลกต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะครอบงำประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ “จีน” จะเป็นข้อยกเว้น และการเปิดประเทศในปี 2566 จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่ผ่านมา โดยมองว่า จีนจะเติบโตพุ่งทะยานสูงสุดในรอบ 17 ปี ซึ่งในเวลาต่อมาก็พบว่า เศรษฐกิจจีนหดตัวอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

แม้ประเทศจะกลับสู่การดำเนินกิจกรรมตามปกติแต่นั่นก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี ที่ผ่านมา “ปักกิ่ง” เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจจีนพยายามปรับเปลี่ยน “หัวรถจักร” ประเทศ ด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายในเหมือนกับสหรัฐแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลัง และยิ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นจากสถิติตัวเลขการนำเข้าที่ลดลง ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึง “สุขภาพเศรษฐกิจ” ที่ชะลอตัวลง

ความกังวลของชาวจีนกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาครั้งนี้สะท้อนออกมาผ่านรายงานข่าวของซีเอ็นเอ็น (CNN) ที่ได้มีการระบุว่า ขณะนี้คนหนุ่มสาวชาวจีนหลั่งไหลเข้าไปไหว้ขอพรกันที่วัดพุทธและลัทธิเต๋าอย่างล้นหลาม โดยส่วนใหญ่มักอธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้พวกเขาได้งานทำ สอบติดเข้าเรียนในที่ที่หวังไว้ รวมถึงขอให้ร่ำรวยภายในชั่วข้ามคืนด้วย

“No school-going, no hard-working, only incense-burning” หรือ “ไม่ไปโรงเรียน ไม่ทำงานหนัก จุดธุปเท่านั้น” คือแฮชแท็กยอดนิยมบนโซเชียลมีเดียของชาวจีน โดยความนิยมเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นมา เชื่อมโยงกับอัตราการว่างงานที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากสถิติการไหว้ขอพรแล้ว ยอดขายลอตเตอรีในเดือนเมษายน 2566 ยังเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ มูลค่ารวม 50.33 พันล้านหยวน หรือ 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงการคลังจีนระบุว่า นี่คือยอดขายที่สูงที่สุดในรอบทศวรรษด้วย

‘จีน’ ส่อแวว ‘หยุดหายใจ’ หลังเศรษฐกิจซึมยาว ทรุดหนัก รอปาฏิหาริย์
นักวิเคราะห์มองว่า ในช่วงเวลาแบบนี้ “การค้า” สำคัญต่อจีนอย่างยิ่ง การส่งออกจะเป็นตัวแปรในการดึงเม็ดเงินการลงทุนจากภายนอกเข้ามา แต่ในขณะเดียวกันจีนก็ต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ในประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างคู่ค้ารายใหญ่อย่าง “สหรัฐ” และยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นจากอัตราการนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐในปี 2565 ที่ลดลงจากปีที่ผ่านมากว่า 20 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี ทั่วโลกยังคงต้องพึ่งพาจีนอยู่ไม่น้อย การย้ายฐานการผลิตออกจากจีนสุ่มเสี่ยงและต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ความซับซ้อนเหล่านี้จะเป็นปัญหาให้กับนักลงทุนมากกว่า แต่หากปาฏิหาริ์ยที่รอคอยไม่เกิดขึ้น บาดแผลและความเจ็บปวดก็จะยิ่งฝังลึกให้กับนักลงทุนและตลาดไม่น้อยเหมือนกัน

เมื่อเสถียรภาพน้อยลง สิ่งเก่าเริ่มโรยรา โลกก็จำต้องค้นหาแหล่งอนุบาลการเติบโตแห่งใหม่ไว้ด้วย

 

อ้างอิง: BangkokbiznewsBusiness InsiderCNN 1CNN 2Market Business InsiderReuters