'เขียงหมูวันตรุษจีน' 2567 ไม่คึกคัก ตัวชี้วัดเศรษฐกิจและกำลังซื้อแดนมังกร

'เขียงหมูวันตรุษจีน' 2567 ไม่คึกคัก ตัวชี้วัดเศรษฐกิจและกำลังซื้อแดนมังกร

ส่องภาวะเศรษฐกิจจีนผ่าน 'เขียงหมูวันตรุษจีน' เมื่อเนื้อหมูคือของไหว้แห่งความสมูรณ์และมั่งคั่งที่ขาดไม่ได้ พบปีนี้ยอดขายลดฮวบ 20% กลุ่มแรงงานถึงขั้นไม่ซื้อ

Key Points

  • บลูมเบิร์กสำรวจเขียงหมูช่วงเทศกาลตรุษจีนพบว่า บางรายขายได้น้อยลง 20% เมื่อเทียบปีก่อน และส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าปีนี้ซบเซาขึ้น
  • กลุ่มแรงงานอพยพชาวจีนที่ทำงานใช้แรงงาน คือกลุ่มที่ต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอดมากที่สุด
  • ยอดผลิตเนื้อหมูปีที่แล้วสูงสุดในรอบ 9 ปี แต่กลายเป็นภาวะอุปทานล้นเมื่ออุปสงค์โตตามไม่ทัน 
  • นักวิเคราะห์ชี้ตอกย้ำภาวะเงินฝืดในจีนที่อาจขยายตัวต่อมาถึงปี 2567 นี้  


สำหรับชาวจีนทั่วประเทศแล้ว "วันตรุษจีน" นับเป็นช่วงเทศกาลที่มีความสำคัญมากที่สุดของปี และ "เนื้อหมู" ก็เป็นของสำคัญที่สุดที่จะขาดไม่ได้เลยในแต่ละครั้ง เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมั่งมีและอุดมสมบูรณ์ ซึ่งชาวจีนยังนิยมใช้เนื้อหมูในการไหว้เจ้าและประกอบอาหารทุกเทศกาลสำคัญๆ

แต่ในปีนี้ที่ตลาดซินซินในกรุงปักกิ่ง ผู้ประกอบการ "เขียงหมู" หลายรายกำลังประสบภาวะเงียบเหงาทั้งที่กำลังจะถึงวันตรุษจีนในอีกไม่กี่วัน

เขียงหมูสุดช้ำ ยอดขายปีนี้วูบ  

อู๋ ไอเจิ้น เจ้าของเขียงหมูรายหนึ่งเปิดเผย ยอดขายปีนี้ลดลงถึง 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน และหากเทียบกับช่วงเทศกาลวันหยุดตามปกติแล้ว ปีนี้ขายได้น้อยกว่า 1 ใน 3 ในช่วงเทศกาลวันหยุดปกติ และการขึ้นราคาเนื้อหมูในปีนี้ก็เป็นเรื่องยากทั้งที่ใกล้จะถึงวันตรุษจีนแล้ว 

บลูมเบิร์กรายงานว่า ความต้องการซื้อเนื้อหมูในจีนนั้นลดลงมานานหลายเดือนแล้ว แต่การที่ตลาดเนื้อหมูยังไม่ฟื้นแม้ว่าจะมีความพยายามเข้าพยุงราคาจากรัฐบาล อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงการบริโภคและภาวะโอเวอร์ซัพพลายในจีน ท่ามกลางอัตราค่าจ้างและดัชนีเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง 

ทางด้านกง เฉิง ผู้ค้าส่งเนื้อหมูอีกรายในเมืองทางตะวันออกของจีนกล่าวถึงสถานการณ์ที่คล้ายกันว่า โดยปกติแล้ว บรรดาแรงงานอพยพในจีนที่มาจากต่างจังหวัดไกลๆ ซึ่งมักทำงานก่อสร้างหรือในโรงงานสิ่งทอ จะซื้อเนื้อหมูประมาณ 1,000 หยวน (เกือบ 5,000 บาท) เพื่อเอาไปทำไส้กรอกในช่วงเทศกาล แต่ปีนี้กลับใช้จ่ายกันเพียงประมาณ 300 หยวน (เกือบ 1,500 บาท) หรือไม่ซื้อเลยด้วยซ้ำ

ดันแคน ริงลีย์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของบริษัทที่ปรึกษาแพนธีออน แมคโครอีโคโนมิกส์ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าการบริโภคในจีนยังไล่ไม่ทันกับซัพพลายที่มี แม้ว่าจะเปิดประเทศมาตั้งแต่ปีที่แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศที่มีการบริโภคและผลิตเนื้อหมูมากที่สุดเกือบครึ่งหนึ่งของทั่วโลก โดยมีสัดส่วนการบริโภคมากกว่าสหรัฐถึง 5 เท่าในแต่ละปี แต่เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา อัตราการบริโภคลดลงไปถึง 1 ล้านตันเหลือเพียง 54 ล้านตัน

แม้จะยังไม่ใช่ตัวเลขที่ลดลงมาก แต่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นสัญญาณที่น่ากังวล เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่คนจีนเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยทั้งสินค้าจำเป็นและฟุ่มเฟือยอีกครั้งหลังผ่านโควิด ซึ่งทำให้ปริมาณการผลิตพุ่งสูงขึ้น แต่ดีมานด์กลับตามไม่ทัน


ตอกย้ำความกังวลเงินฝืด

ภาวะเขียงหมูวันตรุษจีนยังสะท้อนความน่ากังวลเรื่องภาวะเงินฝืดในจีนอีกด้วย เนื่องจากอาหารมีสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของการคำนวณดัชนีเงินเฟ้อ โดยมีเนื้อหมูเป็นสัดส่วนมากที่สุดในกลุ่มสินค้าอาหารอีกที

ขณะที่ดัชนีเงินเฟ้อล่าสุดของจีนในเดือน ธ.ค. ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และคาดว่าอาจจะลดลงต่อเนื่องอีกในปี 2567 นี้ 

ดาริน ฟรีดริช ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาดซิโนเทีย คอนซัลติง กล่าวว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและใช้จ่ายลดลงมากที่สุดในขณะนี้ 

"ถ้าคุณกำลังพูดถึงคนที่ทำงานธนาคารในเซี่ยงไฮ้ พวกเขายังสบายดีและยังออกไปใช้จ่ายเงิน แต่ยังมีกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในจีนอยู่คือ แรงงานอพยพ ซึ่งคนใช้แรงงานเหล่านี้กำลังย่ำแย่และลดการใช้จ่ายลงอย่างมาก" ฟรีดิชกล่าว

หลี่ ฟู่หมิน เจ้าของร้านอาหารนับสิบแห่งที่เน้นกลุ่มลูกค้าชนชั้นแรงงาน ในมณฑลเจียงซู ทางตะวันออก เล่าว่าอาจถึงคราวต้องปิดร้านลงหลายแห่ง เพราะลูกค้าที่เคยสั่งเมนูเนื้อหมูกิน ตอนนี้ได้เปลี่ยนพฤติกรรมหันมากินเมนูผักถูกๆ เพื่อประหยัดเงินแทน ทำให้ร้านได้เงินน้อยลง และงดการสั่งซื้อเนื้อสัตว์ราคาแพง เช่น เนื้อวัวและเนื้อแกะ มาทำอาหารที่ร้าน  


อุปสงค์ฟื้นตามอุปทานไม่ทัน

ทางการจีนนั้นมีการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารด้วยการปรับปรุงซัพพลายเชนด้านเนื้อสัตว์มาหลายปีทั้งในแง่กำลังการผลิตและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยในปี 2566 จีนมีปริมาณการผลิตเนื้อหมูสูงที่สุดในรอบ 9 ปี และรัฐบาลยังใช้มาตรการเข้าแทรกแซงราคาถึง 3 ครั้งในปีที่แล้ว ด้วยการซื้อหมูเพิ่มในคลังสำรองยุทธศาสตร์เพื่อช่วยพยุงราคาเนื้อหมูในตลาด 

อีเวน เพย์ นักวิเคราะห์ด้านการเกษตรของสถาบันวิจัยเชิงนโยบายทริเวียม ไชน่า กล่าวว่า การบริโภคเนื้อหมูที่ลดลงมากยังนำไปสู่ "วัฏจักรที่เลวร้าย" ที่จะทำให้ซัพพลายยิ่งล้น เพราะเกษตรกรต่างก็คาดหวังว่าจะขายหมูได้ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์และวันหยุดยาวเดือน ต.ค. ปีที่แล้วในราคาที่สูงขึ้น แต่กลายเป็นว่าขายไม่ออก ต้องเลี้ยงหมูต่อนานขึ้น สุดท้ายก็ต้องขายหมูที่อ้วนขึ้นในราคาที่ถูกลง

วัฏจักรนี้คาดว่าจะกระทบต่อผู้เลี้ยงหมูรายย่อยซึ่งมีสัดส่วนราว 40% ของการเลี้ยงหมูทั้งหมดในจีน และอาจทำให้เกษตรกรหลายรายต้องเลิกกิจการลง 

ที่มา: Bloomberg