แพนดอร่าใช้'ทองคำ-เงิน'รีไซเคิล ผลิตเครื่องประดับ-ลดโลกร้อน

แพนดอร่าใช้'ทองคำ-เงิน'รีไซเคิล ผลิตเครื่องประดับ-ลดโลกร้อน

แพนดอร่า แบรนด์ผู้ผลิตเครื่องประดับรายใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อพิจารณาในแง่ของยอดขายผลิตภัณฑ์ ได้ยุติการใช้ทองคำและเงินที่ขุดจากเหมือง และเปลี่ยนไปใช้ทองคำและโลหะเงินรีไซเคิลซึ่งใช้พลังงานในการผลิตน้อยกว่า

แพนดอร่า โด่งดังจากการขายกำไลข้อมือแบบชาร์ม หรือกำไลข้อมือที่มีลักษณะเป็นโซ่เชื่อมติดกันและมีจี้ห้อย ในราคาตั้งแต่ 65 ดอลลาร์จนถึง 95 ดอลลาร์ และขายเครื่องประดับได้ 103 ล้านชิ้นในปี 2565 โดยแพนดอร่า ผลิตเครื่องประดับในโรงงาน 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และอยู่ในระหว่างสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ในเวียดนาม

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า แพนดอร่าเคยซื้อทองคำในปริมาณ 1 ตัน และโลหะเงิน 340 ตัน ในทุก ๆ ปี โดยรายงานประจำปีของบริษัทระบุว่า ณ ปี 2565 ห่วงโซ่อุปทานของแพนดอร่าก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณ 264,224 ตัน

‘แมดส์ ทูมีย์-แมดเซน’ รองประธานอาวุโสฝ่ายการสื่อสารและความยั่งยืนของแพนดอร่า กล่าวว่า การใช้โลหะรีไซเคิลแทนโลหะใหม่ที่ขุดจากเหมือง จะช่วยให้บริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางอ้อมได้ประมาณ 58,000 ตันต่อปี

ขณะที่อเล็กซานเดอร์ ลาซิก หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)แพนดอร่า กล่าวว่า“อัญมณีเป็นอุตสาหกรรมเก่าแก่ มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่อนุรักษ์นิยม รวมทั้งกระบวนการเลือกสรรวัตถุดิบและกระบวนการผลิต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแบบนั้นตลอดกาล เราอยู่ในอุตสาหกรรมของการผลิตและจำหน่ายของสวยๆงามๆ เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ ลูกค้าของบริษัทวัยหนุ่มสาวพอใจที่จะเป็นเจ้าของแบรนด์อัญมณีที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีจริยธรรม ถ้าเราไม่ได้เป็นแบรนด์แบบนั้น ก็มีสิทธิ์ถูกเมินเฉยหรือไม่เลือกซื้อ”

ในการจัดการกับความเสี่ยงนี้ แพนดอร่าได้ใช้มาตรการการสอบกลับสำหรับอยู่ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Chain of Custody- CoC) ที่พัฒนาขึ้นโดยสภา Responsible Jewellery Council หรือ RJC ซึ่งเป็นสภาอัญมณีผู้กำหนดมาตรฐานและคุณภาพการผลิตเครื่องประดับและอัญมณีตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมาตรฐานดังกล่าวนี้ไม่อนุญาตให้ใช้เหรียญทองคำและทองคำแท่งเป็นแหล่งทองคำรีไซเคิล

สำหรับระบบ CoC นั้น เป็นระบบการสอบกลับสำหรับผู้ที่อยู่ในซัพพลายเชน ได้แก่ การสอบกลับด้านความปลอดภัยของอาหาร เกษตรกรรมอินทรีย์ การใช้วัสดุรีไซเคิล หรือความสอดคล้องในการผลิตตามวัตถุประสงค์ของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องประดับ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาหารและเครื่องดื่ม
 

ทั้งนี้ นอกจากแพนดอร่าแล้ว แบรนด์คู่แข่งอย่างโมนิกา วิเนเดอร์ และมิสโซมาก็ส่งเสริมการใช้ทองคำและเงินรีไซเคิล 100% ด้วยเช่นกัน

ประมาณกลางปีที่แล้ว แพนดอร่า มีปริมาณจำหน่ายเครื่องประดับคิดเป็นจำนวนชิ้นสูงที่สุดในโลกถึงปีละ 103 ล้านชิ้น อานิสงส์จากนโยบายขยายตลาดส่วนที่เรียกว่า Personalized Jewelry คือการสลักชื่อหรือตัวอักษรบนจี้สำหรับสร้อยข้อมือหรือสร้อยคอ ไปจนถึงการเลือกผสมแบบต่างๆ ได้ตามความต้องการของลูกค้า 

หลังจากที่แพนดอร่า เริ่มทดลองให้บริการ Personalized Jewelry ในฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกและประสบความสำเร็จมาก ด้วยการตั้งราคาเริ่มต้นเพียงชิ้นละ 10 ยูโร โดยมีร้านที่ให้บริการในฝรั่งเศสเพียง 40 สาขา จากจำนวนร้านแพนดอร่าทั้งหมด 132 สาขาในประเทศ        

ผลประกอบการที่ได้จากการให้บริการในส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วน 15% ของมูลค่ายอดขายรวมจากร้านสาขาหลักของแบรนด์แพนดอร่า ที่ตั้งอยู่บนถนนฌอง-เอลิเซ่ส์ กรุงปารีส 

แต่นอกจากตลาดฝรั่งเศสแล้ว แพนดอร่าเริ่มขยายการให้บริการ personalized jewelry ไปตลาดสำคัญในประเทศอื่นๆได้แก่ สหรัฐ, สหราชอาณาจักร, อิตาลี, สเปนและโปรตุเกสด้วย

แบรนด์แพนดอร่า มีแผนกออกแบบเครื่องประดับในประเทศเดนมาร์กและมีโรงงานผลิตหลักอยู่ที่ประเทศไทย จุดเด่นของแบรนด์คือ ราคาเครื่องประดับอยู่ในระดับกลาง เป็นราคาที่เอื้อมถึง ส่วนระดับราคาสินค้าขายดีในตลาดฝรั่งเศสอยู่ระหว่าง 50 – 100 ยูโร